11 มี.ค. 2023 เวลา 23:23 • การตลาด

Fake Advertisements กลยุทธ์เลวที่ส่งผลดีกับกิจการอย่างไม่น่าเชื่อ

ใครเคยมีประสบการณ์กับ Fake Advertisements บ้าง?
ผมเชื่อว่าพวกเราต้องมีประสบการณ์ร่วมกันบ้างแน่นอน
เพราะซื้อบางอย่างไปก็คงมีไม่ตรงปก หรือจกตากันบ้าง จริงไหม?
แต่ทว่าในแง่ของการตลาด Fake Advertisement
ถูกยกให้เป็นหนึ่งใน ‘กลยุทธ์’ บนโลกธุรกิจที่ใช้กันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
แม้ว่ามันจะเป็นวิธีการที่เลว แต่กลับทำให้ธุรกิจมียอดขาย
หรือในบางโปรดักซ์ก็อาจจะได้รับกระแสตอบกลับที่ดีเกินคาดกว่าที่ตั้งใจไว้ด้วยซ้ำ
เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้นไปได้?
1 เพราะจินตนาการสำคัญกว่าความรู้
บทความต่างประเทศจากเว็บไซต์ Startuptalky
ได้พูดถึงการใช้ Fake Advertisements
สำหรับการเติมเต็มจินตนาการให้กับผู้บริโภค
เพราะแน่นอนว่าต่อให้โปรดักซ์ดีแค่ไหน
แต่ถ้าหากไม่มีภาพ หรือไม่มีตัวอย่างที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจได้
ว่าสิ่งที่เราต้องการขายมันดีอย่างไร
ก็ไม่มีทางที่โปรดักซ์นั้นจะไปต่อได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นภาพที่ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
ยิ่งสื่อสารให้ได้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าอยากเห็นมากเท่าไหร่
แนวโน้มที่ผู้คนจะสนใจโปรดักซ์ชิ้นนั้นก็ยิ่งมีมากขึ้น
2 รวดเร็วและตรงจุด
การสร้าง Fake Advertisements
นอกจากมันจะเติมเต็มภาพในจินตนาการ
หรือทำหน้าที่สร้างเกมจิตวิทยากับลูกค้าได้อย่างทรงอิทธิพลแล้ว
มันก็ยังสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดได้อย่างรวดเร็ว
เพราะว่าการทำโฆษณาจำพวก Fake Advertisements
ไม่จำเป็นต้องใช้การครีเอทที่วุ่นวาย หรือต้องคิดความหมายซับซ้อน
เพียงแค่นำเสนอรูปแบบของโปรดักซ์ในแบบที่สวยงาม
และคาดเดาให้ได้ว่าลูกค้าอยากเห็นอะไร
ซึ่งมันไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มลูกค้าแค่คนกลุ่มเป้าหมาย
แต่เป็นโฆณษาที่ใช้ได้กับลูกค้าทั่วๆ ไปด้วยนั่นเอง
3 เราชอบลิ้มลองของแปลกใหม่เสมอ
ข้อดีอีกอย่างของ Fake Advertisements คือ
มันสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างมหาศาล
เพียงแค่เพราะภาพบนโฆษณาที่ลูกค้าได้เห็น
สามารถกระตุ้นการซื้อ หรือการอยากลองขึ้นมาได้ทันที
ความคาดหวังอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ
แต่สิ่งหนึ่งที่มากกว่าความคาดหวังคือ การอยากลิ้มลองอะไรใหม่ๆ
ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้โปรดักซ์ใหม่อะไรก็ตาม
ที่ทำการโฆษณาด้วย Fake Advertisements
มักจะมีกระแสขึ้นมาในระยะเวลาสั้นๆ
และทำให้บริษัทเข้าถึงยอดขายมหาศาลจากการลิ้มลองของใหม่
4 หน้าตาอุบาทว์แต่ใจมันได้
เมื่อมีของใหม่มาเมื่อไหร่
ก็เป็นธรรมดาที่ชาวโซเชียลมักจะต้องรีวิว และบอกต่อถึงสิ่งนั้นๆ แน่นอน
ในกรณีของการทำ Fake Advertisements ให้เป็นไวรัลได้
อาจแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
อย่างแรก หน้าตาแม้ดูไม่ได้ แต่ใจมันได้ หมายถึง
ของที่หน้าตาดูไม่ดี แต่โปรดักซ์ด้านในกลับดีเกินคาด
เช่น เบอร์เกอร์ที่โฆษณาไว้แบบเว่อวังมาก แต่ของที่ได้รับมาหน้าตาโคตรห่วย
ทว่ารสชาติที่กัดเข้าปากคำแรกกลับมาเต็ม อร่อยเกินคาด เป็นต้น
ในกรณีแบบนี้ ก็อาจทำให้เกิดเป็นไวรัลทางด้านรสชาติ
และทำให้คนอยากแห่ไปลิ้มลอง เพราะแม้หน้าตาโคตรไม่ตรงปก แต่รสชาติไม่จกตา
อย่างที่สอง คือ หน้าตาดีใช้ได้ แต่เฉยๆ
หมายถึง โปรดักซ์ที่หน้าตาทำมาใกล้เคียงกับโฆษณา แต่ของด้านในไม่ได้ว้าวอะไร
เช่น รองพื้น A ที่ทำโปรดักซ์และโฆษณามาดีจริง ขายสรรพคุณว่าทาแล้วหน้าตึงไปสามวัน
แต่เมื่อลูกค้าใช้จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ประทับใจในรูปแบบโปรดักซ์ เป็นต้น
ตัวอย่างนี้ก็ทำให้เกิดไวรัลในอีกรูปแบบหนึ่ง
ซึ่งก็นำมาสู่การที่อยากจะทำให้ลูกค้าอยากลองอีกเหมือนกัน
5 ลูกค้าใหม่แห่แหนมาชิมลอง
โดยปกติแล้ว การสร้าง Fake Advertisements ถือว่าเป็นสิ่งเลว
แต่ทว่าผู้คนที่เดินเข้ามาซื้อกลับจ่ายเงินด้วยความเต็มใจ
ดังนั้นมันจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการทำให้ผู้คนรู้จักตัวตนของแบรนด์
หรือทำให้คนเข้าถึงแบรนด์ได้มากกว่าที่เคย
เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า
โฆษณาในลักษณะนี้ไม่ได้เจาะจงแค่กลุ่มการตลาด
แต่ยังสามารถเข้าถึงคนทั่วๆ ไปได้ด้วยนั่นเอง
มันจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการทำ Fake Advertisements
ถึงยังมีอยู่ในโลกของธุรกิจ
และยังใช้ได้ผลเสมอไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
อย่างไรก็ดี การที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา
ไม่ได้หมายความว่าอยากจะส่งเสริมว่าการทำ Fake Advertisements นั้นดีเลิศเลอ
และไม่ได้สนับสนุนให้คุณหลอกลวงผู้บริโภคแต่อย่างใด
กลับกัน ผมคิดว่ายิ่งคุณทำ Fake Advertisements ได้ทรงพลังมากเท่าไหร่
โปรดักซ์ที่จะนำเสนอขายนั้นจะต้องมีจุดแข็งในตัวเองให้มากเท่าๆ กันด้วย
เพราะแม้ว่าการทำ Fake Advertisements จะช่วยทำให้คนเห็นภาพ
ทำให้คนรู้จักแบรนด์ เพิ่มยอดขาย และพวกเขาจ่ายด้วยความเต็มใจก็จริง
แต่ถ้าหากคุณมีจุดแข็งของโปรดักซ์ ที่สามารถทำให้การทำ Fake Advertisements ตัวนั้น
กลายเป็นโปรดักซ์ที่อยู่ในใจของพวกเขาได้ จนต้องกลับมาซื้ออีก
ผลดีไม่ได้เกิดแค่กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับธุรกิจของคุณด้วย
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านครับ
#MIBContent
#MIB
โฆษณา