13 มี.ค. 2023 เวลา 11:00

รู้จัก Career Cushioning เทรนด์หางานสำรองก่อนจะโดน Layoff หรือตกงานไม่รู้ตัว!

แน่นอนว่าการหางานสำรองไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงฝืดเคือง จากผล กระทบของวิกฤตโรคระบาด ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำอยู่ไม่มั่นคงเหมือนที่เคย อีกทั้งยังมีข่าวปลดพนักงานจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเพิ่มมากขึ้นทุกวัน สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้พนักงานรู้สึกว่าหน้าที่การงานของตัวเองนั้นไม่มั่นคงอีกต่อไป
ซึ่งจากการปลดพนักงานของบริษัท Meta, Google, Microsoft, Shopee และบริษัทชั้นนำอื่นๆ ได้สร้างผล กระทบและแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ส่งผลให้พนักงานจำเป็นต้องวางแผนและมองหางานสำรอง เพื่อรองรับการตกงานของตัวเองมากขึ้น
และวันนี้ ConNEXT จะพาไปรู้จักกับความหมายของ Career Cushioning หรือเทรนด์การหางานสำรอง ที่มาพร้อมกับวิธีการหางาน และที่สำคัญ Career Cushioning จะเป็นการทรยศองค์กรแบบที่คนอื่นพูดจริงหรือไม่ ไปดูกันเลย!
🟥 Career Cushioning คืออะไร?
Career Cushioning คือ การหางานสำรอง หรือสมัครงานใหม่ ทั้งๆ ที่ยังทำงานอยู่บริษัทเดิม ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มักเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนามาจากรูปแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “Cushioning หรือ การคุยเผื่อเลือก” ซึ่งหมายถึงว่าหากคุณโดนเทจากคนคุยของคุณ คุณก็สามารถไปหาคนคุยคนใหม่ของคุณได้ทันที และเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานก็จะหมายถึงการมีงานประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ คุณเลยจำเป็นต้องเตรียมแผนสำรอง และสมัครงานใหม่ไปพร้อมๆ กับการทำงานที่เดิมอยู่นั่นเอง
🟥 Career Cushioning เหมาะกับใคร
1. ไม่มีความมั่นคงในงานปัจจุบัน
เมื่อตำแหน่งงานของคุณเป็นที่ต้องการของตลาดน้อยลง จนคุณรู้สึกได้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่าตำแหน่งงานของคุณจะถูกเลิกจ้าง นั่นเป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าคุณอาจต้องหางานใหม่หรืองานสำรอง เพื่อมารองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
2. เริ่มไม่มีความสุขกับตำแหน่งงานที่ทำ
ความกดดันและปัญหาต่างๆ ที่เจอในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการโดนคาดหวังสูง ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน หรือเครียดจากภาระงานที่หนักเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณไม่มีความสุขกับงานทั้งนั้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนอีกเช่นกัน ว่าคุณควรต้องเริ่มหางานสำรองเผื่อไว้ก่อนที่คุณจะเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
🟥 แล้ว Career Cushioning ถือเป็นการทรยศองค์กรหรือไม่?
หลายคนคงคิดว่า Career Cushioning มันไม่ต่างอะไรกับการทรยศองค์กรเลย แต่ Abbie Martin หรือแอบบี มาร์ติน นักกลยุทธ์ด้านอาชีพ กล่าวว่า การหางานใหม่ในขณะที่ยังทำงานเดิมอยู่ไม่ได้เป็นการโกงหรือทรยศองค์กรแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่พนักงานสามารถทำได้ และไม่ควรรู้สึกผิดด้วย แต่ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้กรอบของจรรยาบรรณ เช่น ควรหางานในเวลาพักเที่ยงหรือนอกเวลางานไปเลย เพื่อไม่ให้กระทบกับงานที่ทำอยู่
🟥 แนวทางการหา Career Cushioning หรืองานสำรอง
Catherine Fisher หรือ แคทเธอรีน ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของ LinkedIn สรุปขั้นตอนการวางแผนสำรองไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. อัปเดต LinkedIn หรือ Resume ของคุณให้เป็นข้อมูลปัจจุบันที่สุด
2. เมื่อรู้ว่าตัวเองอยากทำงานอะไรต่อแล้ว ให้ฝึกฝนทักษะเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด
3. วางแผนเป้าหมายของเส้นทางอาชีพตัวเองให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ต้องการไปถึงจุดไหน และหาวิธีที่จะไปถึงจุดนั้นให้ได้
นอกจากนี้ Charlotte Davies หรือ ชาร์ลอตต์ เดวีส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพของ LinkedIn กล่าวว่า การวางแผนสำรองไม่ได้หมายความว่าพวกเขาต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อบทบาทการทำงานในปัจจุบัน เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุไม่คาดคิดหรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นบนเส้นทางอาชีพของพวกเขาในอนาคต
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/3FG2qib
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน
——————————————————

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา