13 มี.ค. 2023 เวลา 09:30 • ข่าว

สัตวแพทย์เผย ความจริงอีกด้านของชีวิต "ช้างไทย" ที่ต้องบรรทุกนักท่องเที่ยว

รอง ผอ.ศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า เผยผลวิจัยเกี่ยวกับช้างที่ใช้บรรทุกนักท่องเที่ยว ชี้ไม่เคยรับแจ้งว่าทำโครงสร้างของกระดูกสันหลังเปลี่ยนไป แนะควรให้ความสำคัญกับชีวิต "ช้าง" ทุกเชือกที่อยู่ในปาง
วันที่ 13 มีนาคม 2566 อ.สพ.ญ.ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Vice Director) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ว่าด้วยเรื่องของการขี่ช้าง เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวในปางช้างที่มีมายาวนาน
ก่อนใช้งาน ควาญจะเอาวัสดุรองหลัง เช่น แผ่นเปลือกต้นปุย กระสอบ แผ่นฟองน้ำ วางบนหลังช้างให้หนาพอควร จากนั้นเอาเก้าอี้ที่เรียกว่า แหย่ง วางลงไป จากนั้นเอาสายรัดแหย่งให้ติดกับตัวช้าง โดยคล้องกับคอ อก และหาง พอแต่งตัวเรียบร้อย ควาญจะนั่งบนคอช้าง แล้วขี่ไปรับนักท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวขึ้นนั่งบนแหย่ง ขนาดพื้นที่สำหรับ 1-2 คน ควาญควบคุมช้างให้ ออกเดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ แต่ละรอบใช้เวลา 15-30 นาที ระยะทาง 500 เมตรถึง 1 กิโลเมตร เมื่อเดินถึงจุดหมาย ก็ให้นักท่องเที่ยวลงจากแหย่ง ช้างพักและรอบรรทุกนักท่องเที่ยวท่านต่อไป
ประเด็นที่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ
1. การให้ช้างบรรทุกน้ำหนักร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัวช้าง ไม่ทำให้พบรูปแบบการเดินที่ผิดปกติ
2. การสำรวจช้างในโปรแกรมขี่แบบใส่แหย่ง จำนวน 200 ตัวอย่าง เมื่อปี 2018 พบว่ามีช้าง 5 ตัวอย่าง มีแผลที่หลังที่อาจเกิดจากการใส่แหย่ง และมีช้าง 4 ตัวอย่าง มีแผลที่อกที่อาจเกิดจากสายรัดแหย่ง
ประเด็นที่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ
1.การขี่ช้างทำให้กระดูกสันหลังของช้างงอ
2.การขี่ช้างเป็นระยะทางเท่าใด ลักษณะเส้นทางแบบใด จึงส่งผลเสียต่อตัวช้าง
ช้างที่มีกระดูกสันหลังงอ อาจเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
1.อุบัติเหตุ การกระแทก
2.ความผิดปกติมาแต่กำเนิด
3.ภาวะขาดแคลเซียม
การซักประวัติจากเจ้าของช้าง และควาญที่เคยเลี้ยง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ
ความคิดเห็นตามประสบการณ์ส่วนตัว
ไม่พบข้อสังเกต และไม่เคยได้รับแจ้งจากเจ้าของช้างหรือควาญช้างว่า ช้างที่ใช้บรรทุกนักท่องเที่ยว ในโปรแกรมขี่แบบใส่แหย่งมาเป็นระยะเวลานานหลายปี ว่ามีโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยทั่วไปน้ำหนักของแหย่ง (15-25 กิโลกรัม) วัสดุรองหลัง (ประมาณ 50 กิโลกรัม) และนักท่องเที่ยวจำนวน 2 คน (ประมาณ 150 กิโลกรัม) ที่บรรทุกบนหลังช้าง รวมแล้วน้ำหนัก 225 กิโลกรัม หรือประมาณร้อยละ 7.5 ของน้ำหนักตัวช้าง ช้างจึงรับน้ำหนักไม่ถึงร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว
อย่างไรก็ตาม เคยเจอปัญหาหลังช้างบวมอักเสบ ช้างส่ายหลังเพราะปวดหลัง ในกรณีใช้ช้างบรรทุกนักท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง และในกรณีขาแหย่งไม่พอดีกับหลังช้าง เนื่องจากช้างแต่ละเชือก มีความโค้งของหลังไม่เท่ากัน เคยเจอปัญหาแผลที่เกิดจากสายรัดแหย่งบาดที่อก คอ หรือหาง เมื่อรัดแหย่งแน่นเกินไป สายรัดแหย่งเสื่อมสภาพ มีทรายเข้าไปอยู่ใต้สายรัดแหย่ง
ซึ่งปางช้างต่างรู้ดีว่า การจัดการที่ไม่ดีเหล่านี้ ส่งผลเสียต่อตัวช้าง แต่คนเลี้ยงช้าง ใช้งานช้าง ไม่ใช่ไม่รักช้าง เมื่อพบปัญหา ปางช้างพยายามป้องกัน พัฒนา ปรับปรุง ลองผิดลองถูกมานานหลายปี ทั้งเพราะไม่อยากให้ช้างที่เขารักเจ็บป่วย และเพราะอยากให้ช้างเขาพร้อมใช้งาน รับนักท่องเที่ยวได้ต่อเนื่อง ช้างเจ็บป่วยใช้งานไม่ได้ เขาก็ขาดรายได้ไป
สิ่งที่อยากแนะนำ
1. สำหรับปางช้าง ที่มีโปรแกรมขี่ช้างแบบใส่แหย่ง
- ควรจำกัดจำนวน และน้ำหนักของนักท่องเที่ยวตามขนาดของตัวช้าง
- ควรออกแบบแหย่งให้มีน้ำหนักเบา และเหมาะสมกับสรีระของหลังช้างแต่ละเชือก
- ควรรองแหย่งด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ไม่ระคายเคืองผิวหนังที่หลังช้าง
- ควรจำกัดระยะเวลาบรรทุกนักท่องเที่ยวต่อวัน
1
- ควรมีช่วงเวลาพักระหว่างรอบการบรรทุก
- ควรเลี่ยงการเดินในทางลาดชัน
- ควรเลือกใช้สายรัดอก คอ และหาง ที่ไม่บาดผิวหนังของช้าง และไม่รัดแน่นจนเกินไป
- ควรหยุดการใช้งานทันที หากพบอาการผิดปกติและแจ้งสัตวแพทย์
- ควรคัดเลือกช้างที่โตเต็มวัยแล้ว มีโครงสร้างร่างกายและการเดินเป็นปกติ
2. สำหรับทุกปางช้าง ไม่ว่าจะใช้งานช้างในรูปแบบกิจกรรมใด หรือสถานที่ที่มีช้างอยู่ในความดูแลอื่นใด
ควรให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของช้างในทุกด้าน อาหารการกิน ที่พักอาศัย สุขภาพ พฤติกรรม และจิตใจความรู้สึก ไม่ใช่ให้ความสำคัญเพียงเฉพาะขี่หรือไม่ขี่ ใช้หรือไม่ใช้ตะขอ ล่ามหรือไม่ล่ามโซ่ ปางช้างไหนที่ทำได้อยู่แล้ว บางแห่งทำได้มานานแล้ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไป ปางไหนกำลังพัฒนาอยู่ก็ขอสนับสนุน วันช้างไทย 13 มีนาคม 2566 จะช่วยช้างไทยตามความรู้และกำลังที่มี
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เผยว่า ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเรามีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า ราว 52,000 ตร.กม.
จากความพยายามดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ช้างป่าไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง ที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่า กลับเริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสม มีขนาดลดลงจากเดิม เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ก่อให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชุมชน ที่อาศัยตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กลายเป็นปัญหาสำคัญที่เพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชุมชนนั้น สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างถูกทำลาย ทั้งการป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายป่า และการตัดไม้ ป้องกันปราบปรามไม่ให้มีการล่าช้าง ปรับปรุงป่าเสื่อมโทรม เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ที่จะต้องสร้างแนวเชื่อมต่อพื้นที่ ให้เป็นป่าผืนใหญ่ เชื่อมต่อหากันได้ เมื่อป่าสมบูรณ์ ช้างก็ไม่จำเป็นต้องออกมาทำลายพืชไร่ของมนุษย์ ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น.
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Pakkanut Bansiddhi, TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา
โฆษณา