8 เม.ย. 2023 เวลา 15:20 • สุขภาพ

“ยาแก้แพ้” ไม่ใช่ยานอนหลับ! กินมากเกินไปอาจเสี่ยงโรควิตกกังวล

ปัญหา “นอนไม่หลับ” ถือเป็นเรื่องใหญ่ของใครหลายคนในปัจจุบัน แต่ยังมีหลายคนเลือกกิน “ยาแก้แพ้” เพื่อหวังผลให้ง่วงนอนและหลับง่าย แทนที่จะหาสาเหตุหรือปรับพฤติกรรมการนอน ซึ่งหากกินยาแก้แพ้มากเกินไป (Overdose) จะส่งผลเสียต่อร่างกายในหลายด้าน
สำหรับปัญหาการ “นอนไม่หลับ” เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนวัยทำงานมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นหลายคนจึงแก้ปัญหาด้วยการกิน “ยาแก้แพ้” ชนิดที่ทำให้ง่วงแทนการกินยานอนหลับ เพื่อให้ตัวเองสามารถนอนหลับได้ง่าย เพราะยาแก้แพ้เป็นยาสามัญประจำบ้านและหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เหมือนกับยานอนหลับ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิด! พราะเป็นการใช้ยาผิดประเภทที่อาจส่งผลเสียกับร่างกายมากกว่าที่คิด
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายาแก้แพ้นั้น เป็นยาสำหรับกินเพื่อลดอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง เช่น ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ จากอาการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง แพ้เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ รวมถึงอาการลมพิษ ผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้อาหาร หากกินแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการได้อย่างตรงจุด
“ยาแก้แพ้” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น คลอร์เฟรามีน (Chlorpheniramine) และ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) สามารถใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ ที่มีอาการคัน, จาม, น้ำมูกไหล และมักให้ร่วมกับยาชนิดอื่นตามอาการ ไปจนถึงบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้ เพราะยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงซึม จึงควรระวังการใช้ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร ขับรถ และห้ามใช้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงนอน ยากลุ่มนี้สามารถใช้รักษาอาการได้คล้ายกับยากลุ่มดั้งเดิมที่ทำให้ง่วง แต่จะให้ผลดีกว่าในการลดผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน และลดอาการคันได้เร็วกว่ายาอื่นในกลุ่มเดียวกัน เพราะออกฤทธิ์เร็ว แต่อาจบรรเทาอาการน้ำมูกไหล อาการเมารถเมาเรือ ได้ไม่ดีเท่ากลุ่มที่กินแล้วง่วง
แม้ว่ายาแก้แพ้เหล่านี้จะทำให้ง่วงนอนและมีหลายคนเข้าใจผิดว่าสามารถนำมาใช้เป็นยานอนหลับได้ แต่รู้หรือไม่? ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง!! เนื่องจากหากใช้ยาแก้แพ้แบบผิดๆ บ่อยเกินไป อาจทำให้ดื้อยาได้และเมื่อจำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้ดังกล่าวรักษาอาการป่วยจริงๆ ก็อาจทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
โฆษณา