14 มี.ค. 2023 เวลา 05:57 • บันเทิง

ผีบ้าตาวอด : ตอนที่ 3 กุศโลบาย(ตอนจบ)

ผีบ้าตาวอดเป็นเรื่องผีในวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวล้านนา ผีชนิดนี้สามารถปรากฏตัวเวลากลางวันได้ มันชอบแอบซุ่มอยู่ตามทุ่งนา เด็กๆที่ออกไปเล่นในท้องทุ่งไกลจากสายตาผู้ใหญ่ต้องระวังตัวไว้ให้ดี จะโดนผีบ้าตาวอดจับใส่กระสอบ เอาปูนป้ายปากไม่ให้ร้อง แล้วพากลับไปรังของมันจากนั้นมันก็จาฆ่าเด็กให้ตาย
ดินแดนล้านนาในสมัยก่อนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมเป็นช่วงปลายฤดูหนาว ท้องทุ่งในชนบทแปลสภาพเป็นทุ่งโล่งกว้างเพราะชาวนาได้เก็บเกี่ยวข้าวในนาไปได้ซักระยะหนึ่งแล้ว พื้นดินแห้งมีหน่อข้าวและพืชขนาดเล็กขึ้นอยู่ประปราย ต้นทองกวาวต้นงิ้วที่ขึ้นอยู่ตามชายทุ่งอยู่ในช่วงกำลังออกดอกสีแดงส้ม ท้องทุ่งในเวลานี้จึงดึงดูดให้เด็กๆออกมาวิ่งเล่น
ในสมัยก่อนไม่มีทีวี มือถือ หรือคอมพิวเตอร์แบบในปัจจุบัน การเล่นสนุกของเด็กในสมัยก่อนอาศัยสิ่งของจาธรรมชาติรอบตัวผสมเข้ากับจิตนาการแค่นั้นก็ทำให้เด็กๆเล่นสนุกได้ทั้งวันแล้ว
การเล่นของเด็กในชนบท
หากเราลองมองหาเหตุผลที่ว่าเหตุที่คนโบราณถึงห้ามเด็กๆออกไปวิ่งเล่นในทุ่งไกลๆจากสายตาของผู้ใหญ่ สิ่งที่คิดได้ก็คือเรื่องของความปลอดภัยทั้งจากสัตว์มีพิษขนาดเล็ก จากพฤติกรรมการเล่นที่โลดโผนหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กๆเอง และคนแปลกหน้าที่อาจเดินทางผ่านท้องทุ่งมาเพราะในสมัยก่อนท้องทุ่งนาบางแห่งอาจใช้เป็นเส้นทางสัญจรของพ่อค้า
การเดินทางของพ่อค้าในสมัยก่อน
ในวิถีชีวิตของชาวล้านนาสมัยก่อนผู้คนบางส่วนในชนบทจะออกเดินทางค้าขายหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในนาไปแล้วสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นของป่า หรือสินค้าที่ผลิตได้ในครัวเรือน ผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองสายหลักจะใช้เรือบรรทุกสินค้าในชุมชนล่องไปตามกระแสน้ำ บางบ้านใช้เกวียนในการบรรทุกสินค้าเดินทางผ่านทุ่งนา ชายป่าเพื่อไปยังชุมชนอื่น สำหรับการเดินทางในพื้นที่เขตภูเขาก็นิยมใช้วัวบรรทุกสินค้าเดินทางลัดเลาะไปตามสันเขา
พ่อค้าวัวต่างและเส้นทางการค้าในสมัยก่อน
เมื่อผู้คนบางส่วนในหมู่บ้านต้องออกไปค้าขาย อีกทั้งยังมีคนต่างถิ่นที่ผ่านทางมา ทำให้การวิ่งเล่นของกันของเด็กๆในท้องทุ่งตามลำพังดูจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าไว้วางใจ การมีผีบ้าตาวอดจะช่วยทำให้เด็กๆระวังตัวมากขึ้นไม่ออกไปวิ่งเล่นในที่ไกลหูไกลตาผู้ใหญ่และไม่เข้าไปใกล้คนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จัก
นี่อาจเป็นกุศโลบายที่คนโบราณคิดขึ้นมาเพื่อป้องปรามเด็กๆไม่ให้มัวเพลิดเพลินกับการเล่นในทุ่งกว้างจนเกินไปจึงผูกเงื่อนไขและเรื่องนี้ขึ้นมา การจินตนาการที่เกิดจากความกลัวของเด็กๆดูจะเป็นการห้ามที่ดีมากกว่าเสียงบ่นของผู้ใหญ่เพราะความกลัวนี้มันเกิดขึ้นจากภายในตัวของเด็กๆเองและจะติดตามตัวเขาไปจนกว่าเขาจะรู้จักวิธีสลัดความกลัวนี้ออกไปได้
เมื่อเรียนผู้ก็ต้องเรียนแก้ คนโบราณนั้นมีความหลักแหลมในการสร้างกุศโลบาย เมื่อผูกเด็กๆไว้ด้วยความกลัวที่เกิดขึ้นถายในจิตใจ ท่านก็แก้ด้วยการสร้างความกล้า สร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ เช่นการสอนเรื่องคาถาอาคม การแก้เคล็ดต่างๆ ซึ่งในสมัยก่อนมีการเรียนรู้กันอย่างแพร่หลายทั้งชายและหญิง การมีหรือสร้างเครื่องรางของขลังไว้สำหรับป้องกันตัว การสักยันต์ เป็นต้น
นอกจากสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมความกล้าแล้วยังฝึกให้พวกเขาเติบโตมาเป็นคนดี เพราะการฝึกศาสตร์เหล่านี้นั้นส่วนใหญ่แล้วผู้ฝึกหรือผู้ครอบครองจะต้องอยู่ในศีลในธรรมประพฤติดี ปฏิบัติดี หรือแม้จะไม่มีเครื่องรางใดๆไม่ได้เรียนรู้คาถาอาคมใดๆ การทำตัวเป็นคนดีมีความกตัญญูไม่ประพฤติชั่วท่านก็ว่าสามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้แล้ว
เมื่อเด็กหนุ่มสาวก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หากเขาคิดว่าเรื่องของขลังและคาถาอาคมต่างๆเป็นเรื่องที่ไม่น่าเอามายึดถือเขาก็จะปล่อยวางเรื่องนี้ไป ส่วนเด็กหนุ่มที่เคยได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาและมีความเข้าใจในหลักธรรมอย่างถูกต้องแล้วก็จะมองเห็นถึงเหตุปัจจัยและความจำเป็นของผู้ใหญ่ในการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในจิตใจเมื่อครั้งที่เขายังเด็กได้อย่างชัดเจนและสามารถถอดถอนความกลัวนี้ให้พ้นจากจิตใจได้เอง
นั่นคือกุศโลบายที่คนโบราณท่านใช้ในการควบคุมพฤติกรรมลูกหลานเมื่อครั้งอดีด สำหรับพ่อแม่ในยุคสมัยปัจจุบันหากท่านพยายามควาบคุมพฤติกรรมของเด็กด้วยการสร้างความกลัว ท่านก็ต้องนึกถึงผลที่จะตามมาและวิธีการแก้ไขความกลัวเหล่านั้นในจิตใจเด็กๆด้วย อย่าปล่อยให้เป็นสิ่งที่ตกค้าในจิตใจของเขาไปจนเติบโต วิธีการหลายอย่างของคนสมัยโบราณอาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในยุคสมัยนี้แล้ว
การควบคุมพฤติกรรมเด็กในสมัยปัจจุบันเป็นเรื่องของการสร้างข้อตกลงระหว่าพ่อแม่และเด็ก การสร้างข้อตกลงต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในนิสัยและพัฒนาการของเด็ก พ่อแม่ไม่ควรใส่ความต้องการ ความคาดหวังของตัวเองลงไปในข้อตกลงมากจนเกินไปเพราะสิ่งนั้นอาจจะมากเกินความสามารถของเด็กหรือขัดแย้งกับตัวตนของเขา และนำเสนอข้อตกลงในขณะที่เด็กมีสมาธิพร้อมที่จะรับฟัง ไม่ควรใช้คำขู่เพื่อยัดเยียดข้อตกลงใดๆ
เรื่องผีบ้าตาวอดเป็นเรื่องเล่าพื้นบ้านที่ช่วยให้เด็กๆในสมัยก่อนไม่ออกไปเล่นไกลหูไกลตาผู้ใหญ่และรู้จักระมัดระวังคนแปลกหน้า แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไปการใช้เรื่องผีสางมาควบคุมพฤติกรรมของเด็กๆก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย การถ่ายทอดเรื่องเล่าพื้นบ้านควรถ่ายทอดในบริบทของสภาพสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญหาของผู้คนในอดีด และแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่อาจเกี่ยวข้อง เพื่อสืบทอดเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ให้สูญหายไปตามกระแสของสังคมสมัยใหม่
โฆษณา