14 มี.ค. 2023 เวลา 08:27 • สิ่งแวดล้อม

PM 2.5 มลพิษร้ายที่ไม่อยากทน แต่จำใจต้องทน

ปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ในบ้านเรา ดูจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันๆ ที่สำคัญ คือ...ยังไม่สามารถจะแก้ไขปัญหานี้ได้ในเร็ววัน (เผลอๆ อาจจะยาวนานเป็น 10 ปีก็ได้ กว่าจะเริ่มเห็นผล) ตอนนี้แต่ละคนๆ คงได้แต่หาทางช่วยเหลือตัวเองกันไปก่อน...ตามกำลังทรัพย์
แต่เอาจริงๆ มันก็ยังยาก เพราะไม่มีใครที่สามารถจะกักบริเวณตัวเองไว้ในบ้านได้ตลอดทั้งวัน (กรณีนี้คุณต้องปิดประตูหน้าต่างหมดทุกบาน เปิดแอร์ และติดตั้งเครื่องกรองอากาศ ชนิดที่กรองฝุ่นมลพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 ได้ด้วย) โดยไม่ต้องออกไปไหนเลย ครั้นจะใส่หน้ากากกันฝุ่นตลอดเวลาก็อึดอัดอยู่นะ แต่....กลับกลายเป็นเรื่องจำเป็นไปแล้ว
จังหวัดที่มีปัญหาหนักหน่อยและไม่เคยแผ่วก็คือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ยังติดชาร์ท TOP 10 (ล่าสุด 14/3/2566 เวลา 13.30 น. อยู่อันดับที่ 8 แต่ก็ขยับขึ้นๆ ลงๆ บางวันเชียงใหม่ก็อยู่อับดับที่ 5) ของแอพ IQ Air ( https://www.iqair.com/th/air-quality-map )
สาเหตุสำคัญของฝุ่นมลพิษปริมาณ 1 ใน 3 ของภาคเหนือ เกิดจากการเผาไร่ของเกษตรกรเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว (ส่วนใหญ่จะปลูกพืชไร่เลี้ยงสัตว์) เพราะการเผา “ใช้ต้นทุนต่ำสุด” ในการปรับที่ดินเพื่อเตรียมเพาะปลูกใหม่ แต่ก็สร้างความเสียหายร้ายแรงเพราะก่อมลพิษอย่าง PM 2.5 ซ้ำร้ายพื้นที่เผาขนาดใหญ่มหึมาเหล่านั้น กลับตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง พม่า และ สปป.ลาว นี่เอง
เกษตรกรส่วนใหญ่จะเพาะปลูกในลักษณะที่เรียกว่า #เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) พูดง่ายๆ คือ บริษัทขนาดใหญ่จ้างเกษตรกรปลูก และรับประกันเรื่องราคาผลผลิตให้ด้วย (ถ้าเกษตรกรทำสัญญากับบริษัทใหญ่ จะได้ราคาคงที่ เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ ตามราคาตลาด) แต่เกษตรกรกลับต้องรับภาระอื่นๆ อีกหลายเรื่อง ที่บริษัทใหญ่ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือด้วย
หากรัฐจะใช้มาตรการทางกฎหมาย จับ-ปรับเกษตรกร ที่จำเป็นต้องเผา (เพื่อลดต้นทุน) อาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และอาจก่อปัญหาบานปลายตามมาได้ ใครสนใจประเด็นนี้ แนะนำให้ดูคลิปจากช่อง “พูด” อธิบายได้ชัดเจนดีครับ
ปัญหาเผาไร่ และฝุ่น PM 2.5: ความผิดเกษตรกรจริงรึเปล่า? (17 พฤศจิกายน 2565)
ส่วนในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเรา แหล่งก่อฝุ่นมลพิษ PM 2.5 หลักๆ กลับมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยวดยานพาหนะบนท้องถนน เพราะการเดินทาง-ขนส่งเป็นกิจกรรมสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า...ไม่เคยใช้รถใช้ถนน ครั้นจะสั่งหยุดกิจกรรมนี้ลงแบบดื้อๆ ก็คงทำไม่ได้เช่นกัน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างเปลี่ยนรถยนต์ และรถโดยสารบนท้องถนนทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า นั่นก็...คงอีกยาวไกล และไม่ได้มาถึงในเร็ววันนี้แน่นอน
หันกลับมามองตัวเราในฐานะปัจเจก เป็นบุคคลตัวเล็กๆ ก็ได้แต่ทำตาปริบๆ เอาว่ะ! เกิดมาในยุคนี้แล้ว ทนสิ! ยอมรับกันไปเถิด อายุยืนอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป (ฮา) เพราะคงทำได้ยากแล้ว นอกจากคุณจะหนังเหนียวจริงๆ เป็นยอดมนุษย์ที่ไม่หวั่นกับมลพิษใดๆ
อีกอย่างผมเป็นคนไม่ชอบนอนแอร์ (ถ้าหากไม่ร้อนตับแตกจริงๆ) ชอบนอนกับลมธรรมชาติมากกว่า มีคืนหนึ่งจำได้ จู่ๆ ก็รู้สึกตัวกลางดึก รู้สึกเหมือนมีผงๆ อะไรคันๆ อยู่ในคอ คิดว่า....อาจสูดสะสมเข้าไปเยอะ จนรู้สึกระคายเคืองกระมัง
เขตบางเขน กทม. บ้านผม ทุกวันนี้ IQ Air วัดระดับ PM 2.5 ได้แต่ “สีส้ม” (มีผลกระทบต่อผู้ป่วยหรือร่างกายอ่อนแอ) และ “สีแดง” (มีผลกระทบต่อทุกคน) ติดต่อกันมาตลอด...หลายสัปดาห์แล้ว แต่ดีที่ว่า....ผมยังไม่มีอาการแพ้ แต่เห็นน้องๆ บางคนที่แพ้ฝุ่น PM 2.5 เกิดอาการตาแดง หรือเป็นผื่นคัน ก็น่าสงสารอยู่เหมือนกัน
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า น่าจะเป็นเด็กๆ ที่เพิ่งเกิดหรืออายุยังน้อยๆ ที่ต้องมารับมลพิษที่ผู้ใหญ่ร่วมกันก่อขึ้นมาตั้งแต่ในอดีต สาเหตุหลักที่คนจำนวนมาก ไม่อยากมีลูกกัน อาจเพราะอย่างงี้ด้วยก็ได้นะครับ ทั้งเรื่องค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นๆ ทุกปีๆ จนน่าตกใจ การมีเด็กในดูแลหนึ่งคนในยุคนี้ ไม่ง่ายเหมือนเมื่อ 30 หรือ 50 ปีที่แล้วอีกต่อไป และหากกังวลเรื่องสังคมที่เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ กับปัญหามลพิษ (ตายผ่อนส่ง) แบบนี้ คงทำให้คู่ชีวิตหลายๆ คู่ เลือกที่จะไม่มีลูกกันเลยก็ได้นะครับ
บ่นเป็นคนแก่เลยตู...... อ้าว! ก็แก่แล้วจริงๆ นี่ (ฮา)
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
ป.ล. หากดูจากแผนที่ของแอพ IQ Air เวลานี้ ภาคใต้ของประเทศไทยทั้งภูมิภาค (ตั้งแต่ชุมพร ไปจนถึงนราธิวาส) ดูจะมีปัญหาเรื่องฝุ่นมลพิษ PM 2.5 น้อยสุด เรียกได้ว่าน้อยกว่าทุกๆ ภาคของไทยเลยก็ว่าได้ครับ ในขณะที่ภาคเหนือยังคงครองแชมป์หนักสุดอยู่ดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา