18 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

“ช้างน้าว” ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก พบในป่าที่ความสูง 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ช้างน้าว เป็นชื่อพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก พบได้ตามป่าเต็งรัง เต็งรังผสมสน ป่าเบญจพรรณ และป่าเขาหินปูน
“ช้างน้าว” เป็นช้างที่ไม่มีงวง ไม่มีงา เหมือนช้างทั่วไป
แต่เป็นชื่อพันธุ์ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก พบได้ตามป่าเต็งรัง เต็งรังผสมสน ป่าเบญจพรรณ และป่าเขาหินปูน ที่ความสูง 1,200 ม. เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เมื่อยามออกดอกจะทิ้งใบหมดทั้งต้น และออกดอกสีเหลืองอร่าม บานสะพรั่งสวยงามเต็มทั้งต้น
ช้างน้าว อาจจะเป็นชื่อที่แปลก เพราะไม่มีส่วนไหนเหมือนช้างเลย แต่บางท้องถิ่นเรียก ช้างโน้ม ช้างโหม หรือกำลังช้างสาร คาดเดาว่าคงเป็นสาเหตุที่เกือบทุกส่วนของต้นช้างน้าว เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำรุงกำลังผู้ใหญ่ และช่วยเด็กที่ผอมให้อ้วนได้ โดยใช้ได้ทั้งเดี่ยว ๆ หรือเข้ายากำลังตัวอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ช้างน้าว Ochna integerrima (Lour.) Mer. จัดอยู่ในวงศ์ OCHNACEAE
ชื่ออื่น กระแจะ กำลังช้างสาร ขมิ้นพระต้น ควุ ช้างโน้ม ช้างโหม ตาชีบ้าง
เป็นไม้ยืนต้น สูง 3 - 8 เมตร ลำต้นมักคดงอ มีกิ่งก้านต่ำ
ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือรูปหอก กว้าง 4 - 7 ซม. ยาว 8 - 20 ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนมน ขอบใบหยักคล้ายซี่เลื่อย
ดอก สีเหลืองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 - 4 ซม. ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง และซอกใบใกล้ยอด กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ และจะเปลี่ยนเป็นกลีบผลสีแดงคล้ำ กลีบดอก 5 - 10 กลีบ หลุดร่วงง่าย
ผล ค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 1 ซม. ผิวมัน สุกสีดำ
#ช้างน้าว #กลุ่มงานวิจัยระบบนิเวศป่าไม้และสิ่งแวดล้อม #ForestEcoSystems #ระบบนิเวศป่าไม้ #สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช #กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
โฆษณา