Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
beartai BRIEF
•
ติดตาม
16 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • ข่าว
นักสืบฝุ่นเผยต้นตอ PM 2.5 ใน กทม. มาจากการเผา
วันที่ 15 มีนาคม 2566 กรุงเทพมหานครจัดแถลงข้อค้นพบจากการวิเคราะห์ต้นตอที่ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงผลลัพธ์ของการล้างถนนและการฉีดพ่นน้ำว่าสามารถลดฝุ่นได้จริงหรือไม่ โดย ‘นักสืบฝุ่น’ ซึ่งประกอบด้วยนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ต้นตอของฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงนี้ มีที่มาจากการเผาไหม้ชีวมวลบริเวณภายนอก และลอยเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากช่วงเวลาสภาพอากาศไม่นิ่งและมีลมพัด จึงมีฝุ่นลอยเข้ามาในช่วงเวลากลางวันและจมตัวลงในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ เมื่อประกอบกับฝุ่นที่มีในกรุงเทพฯ อยู่แล้วจากการจราจร ทำให้เห็นตัวเลขของฝุ่นขึ้นไปแตะสูงมาก
ทั้งนี้ ผศ.ดร.สุรัตน์ แนะนำว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นนั้น การเผาไหม้ที่อยู่ข้างนอกพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องลดลงให้ได้ แม้ว่าจะมีมาตรการห้ามเผาแล้ว แต่ก็มีการเลี่ยงไปเผาในช่วงเวลาอื่นแทน ทำให้ต้องมีการทบทวนมาตรการดังกล่าว ว่าจะใช้วิธีการห้ามเผาไปเลย หรือกำหนดช่วงเวลาในการจัดการแทน เช่น การกำหนดช่วงเวลาที่เผาได้และช่วงเวลาที่ห้ามเผา ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการจัดการที่ดีที่สุด เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชาวบ้านได้
สำหรับมาตรการการเก็บภาษีนั้น ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วมีขั้นตอนในการทำมาตรฐานที่จะนำเรื่องของการเผาเข้าไปคิด ยกตัวอย่าง การเผาอ้อยที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วน เช่น การไม่รับซื้ออ้อยที่มาจากการเผา ซึ่งสามารถทำได้ และช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ที่ผ่านมาความพยายามของประเทศไทยโดยหน่วยงานรัฐ จะเห็นได้ว่าดูดีขึ้นมากจากฮอตสปอตที่เกิดขึ้น แต่ฮอตสปอตที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทยนั้น อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราที่จะสามารถเข้าไปจัดการได้ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ อาเซียน และหลายองค์กรร่วมมือกัน บางครั้งอาจไปบังคับเขาไม่ได้ แต่ต้องมีมาตรการจูงใจ ซึ่งต้องลองไปพิจารณาดูว่าจะต้องทำอย่างไร” ผศ.ดร.สุรัตน์ กล่าว
สำหรับมาตรการล้างถนนและการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นนั้น รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา (AIT) เปิดเผยว่า จากการที่ได้ทดลองที่โรงเรียนวิชูทิศ สำนักงานเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จะเห็นว่ามีผลการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ถ้าเทียบกับปริมาณน้ำและค่าไฟฟ้าที่เสียไป
โดยพบว่าค่าเฉลี่ยในชั่วโมงระหว่างที่เปิดสเปรย์น้ำกับไม่เปิดน้ำ ค่าฝุ่นแตกต่างกันแค่ประมาณ 1-2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วงปกติค่าผันผวนของปริมาณฝุ่นจะอยู่ที่ 3-4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่แล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ามีผลแตกต่างหรือไม่ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วถือว่าไม่คุ้มค่า
รศ.ดร.เอกบดินทร์ ระบุว่า หลักการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมีความชัดเจนว่าจะต้องมีการแก้ไขที่แหล่งกำเนิดฝุ่น โดยต้องดูว่าแหล่งกำเนิดเป็นอะไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสาเหตุหลักแล้วมาจากการจราจร ส่วนข้างนอกมาจากการเผา และอาจจะมีมาจากแหล่งกำเนิดอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องบอกให้ได้ว่ามาจากอะไร ดังนั้น การฉีดน้ำจึงเป็นจัดการที่ปลายทางแล้ว
“ปัจจุบัน มีข้อมูลเยอะมากเกี่ยวกับการวิจัยที่บอกที่มาของแหล่งกำเนิดของฝุ่น โดยมีการใช้เครื่องมือหลายตัว มีการทำบัญชีการระบายมลพิษ เพื่อบอกว่าฝุ่นในพื้นที่มีแหล่งกำเนิดอะไรบ้าง มาจากแหล่งใดบ้าง รวมไปถึงการทำ Chemical Composition เพื่อดูว่าในฝุ่นมีองค์ประกอบทางเคมีอะไรบ้าง และใส่เข้าไปในโมเดลเพื่อทราบว่าฝุ่นที่ลอยเข้ามาและฝุ่นที่มีอยู่ในพื้นที่ มีต้นตอมาจากอะไร
ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงว่าจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริง ๆ ได้อย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้รวบรวมเครื่องมือและข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็นแนวทางในการปฏิบัติซึ่งจะเป็นการวิจัยในตัวถัดไป” รศ.ดร.เอกบดินทร์ กล่าว
ทางด้าน นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้พยายามทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การตรวจต้นตอฝุ่นและคุมเข้ม, ป้องกันสุขภาพ และแจ้งเตือนประชาชน
ซึ่งในครั้งนี้มีช่องทางเพิ่มขึ้นอีกหลายช่องทาง เช่น LINE ALERT เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลแจ้งเตือนได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น, การแจ้งเตือนผ่านทาง Facebook ซึ่งการพยากรณ์เกี่ยวกับฝุ่นทุกวัน และมีการเปิดคลินิกฝุ่น เพื่อให้บริการกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยมีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังเปิดเผยอีกว่า องค์ประกอบฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น เมื่อพิจารณาจากฝุ่นปริมาณ 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่ามีต้นตอจาก 3 กลุ่ม กลุ่มละเท่า ๆ กันที่ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คือการจราจร, สภาพอากาศ และการเผาชีวมวล
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาดูแหล่งกำเนิดสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ คือการจราจรและยานพาหนะ ถือเป็นต้นกำเนิดที่กรุงเทพมหานครไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพัง จะต้องมีภาคีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแผนวาระแห่งชาติการจัดการมลพิษทางอากาศได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง โดยกรุงเทพมหานครพร้อมที่จะประสานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา
สำหรับนโยบาย ‘นักสืบฝุ่น’ ที่กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มไว้ นายพรพรหม ระบุว่า หากจังหวัดอื่น ๆ ประสงค์จะรับไปทำ ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี เพราะทุกอย่างที่ทำต้องอ้างอิงจากข้อมูล ปัจจุบัน มีข้อมูลที่สามารถจะนำไปวิเคราะห์หรือนำไปใช้ต่อ ซึ่งมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการฉีดน้ำและแหล่งกำเนิดของฝุ่น การจัดการเรื่องยานพาหนะ ควันดำ ส่วนการจัดการการเผาชีวมวลนั้นต้องทำทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะช่วงหน้าฝุ่น
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอฝากถึงรัฐบาลถัดไปในการให้ความสำคัญกับแผนจัดการฝุ่นแห่งชาติ ซึ่งควรต้องเน้นในประเด็นต่าง ๆ อาทิ เน้นเรื่องภาคการเกษตร (การเผาชีวมวล), การจราจร, การพิจารณาพื้นที่ Low Emission Zone และการย้ายท่าเรือคลองเตย เป็นต้น
กรุงเทพฯ
สิ่งแวดล้อม
pm25
1 บันทึก
6
3
1
6
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย