16 มี.ค. 2023 เวลา 03:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Bailout คืออะไร? รัฐควรอุ้มสถาบันการเงินที่ล้มละลาย?

ทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Bailout หรือการที่รัฐเข้าไปอุ้มธุรกิจที่ล้มละลาย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำนี้น่าจะเป็นคำที่เราเห็นตามข่าวอยู่บ่อยๆ หลังการล้มละลายของ Silvergate Capital และ Silicon Valley Bank ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว และคาดว่า Signature Bank อาจจะเป็นรายต่อไปในไม่ช้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นธนาคารที่ให้บริการอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีและกลุ่มบริษัทเทคสตาร์ทอัพเป็นหลัก
ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยอมนำเงินภาษีประชาชนไป Bailout หรืออุ้มสถาบันการเงินที่ล้มละลายเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งทางคุณเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาแถลงไว้ว่า จะไม่มีการ Bailout เหมือนตอนวิกฤติการณ์เงินปี 2008 อีกแล้ว…
ในบทความนี้เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า Bailout กันให้มากขึ้น และลองคิดดูว่าในครั้งนี้ ทำไมสหรัฐฯ ถึงตัดสินใจเช่นนั้น
Bailout คืออะไร?
คำว่า Bailout อาจแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า การเข้าไปอุ้มธุรกิจหนึ่งๆ มักจะใช้พูดถึงสถานการณ์ที่รัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่บริษัท หรืออุตสาหกรรมที่ล้มละลาย โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบของเงินกู้ เงินสด พันธบัตร หรือการอัดฉีดทุนเข้าไป วิธีที่เรามักจะพบเห็นบ่อยที่สุด ก็คือการให้เงินกู้โดยตรง หรือเข้าไปรับประกันเงินกู้ให้
ทำไมรัฐต้องเข้าไปอุ้มธุรกิจที่ล้มละลาย?
แน่นอนว่าการเข้าไปอุ้มธุรกิจที่ล้มลายนั้นเต็มไปด้วยต้นทุนและความเสี่ยง แต่ส่วนใหญ่ที่รัฐต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันผลกระทบรุนแรงที่อาจตามมา หากบริษัทนั้นๆ ล้มละลาย ซึ่งโดยมากมักจะเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่รัฐจะยอมให้ล้มได้ เนื่องจากมองว่าการล้มละลายของบริษัท หรืออุตสาหกรรมนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
การที่รัฐยื่นมือเข้าไปอุ้มธุรกิจที่ล้มละลาย ก็เลยเหมือนเป็นการช่วยรับประกันว่าธุรกิจนั้นๆ จะอยู่รอดต่อไปได้ ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ป้องกันไม่ให้เกิดการล่มสลายของระบบการเงิน ช่วยเพิ่มเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงและความรุนแรงของภาวะภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งมักเป็นผลตามมามาจากการล้มละลายของระบบการเงินการธนาคาร
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปอุ้มธุรกิจที่ล้มละลายก็มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาลเช่นกัน…
เมื่อครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปอุ้มสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ล้มละลายจากวิกฤติการณ์การเงินในปี 2008 สถาบันการเงินของสหรัฐฯ ในขณะนั้นทั้ง Countrywide, Lehman Brothers, และ Bear Stearns ต่างก็พากันล้มละลายไป จนในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจออกมาตรการช่วยเหลือ โดยมีการตั้งงบไว้ 700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ดีมาจากสถาบันการเงินต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปอุ้มธุรกิจยานยนต์อย่าง Chrysler และ General Motors (GM) ซึ่งประสบปัญหาในช่วงปี 2008 เช่นกัน เนื่องจากธุรกิจยานยนต์ เผชิญกับแรงกดดันทั้งยอดขายตกต่ำ แก๊สขึ้นราคา และผู้บริโภคขอสินเชื่อรถยนต์ได้ยากจากกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้น ท้ายที่สุด รัฐบาลก็ต้องยอมช่วยเหลือทั้งสองบริษัทดังกล่าวด้วยเงินกว่า 63.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่นอกเหนือจากต้นทุนทางการเงินมหาศาลแล้วนั้น การที่รัฐเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน ตลอดจนธุรกิจต่างๆ จะกลายเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ไม่ดีในระยะยาวสำหรับธนาคาร ที่จะกล้าทำอะไรเสี่ยงๆ ปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่กำหนดไว้ เพราะคาดว่าหากตนเองไม่ทำตามกฎระเบียบแล้วล้มขึ้นมา วันข้างหน้ารัฐก็จะต้องเข้ามาอุ้มอยู่ดี
และอย่าลืมว่าเงินที่ใช้ในการอุ้มสถาบันการเงินเหล่านั้น มาจากภาษีของประชาชน…
ในครั้งนี้ สหรัฐฯ จึงไม่มีการอุ้มสถาบันการเงินที่ล้มละลายเหมือนในปี 2008 อีกแล้ว แต่เลือกที่จะสร้างความเชื่อมั่น ผ่านการเข้าไปรับประกันเงินให้แก่ผู้ฝากเงินทุกคนแทน เพื่อหวังว่าจะไม่เกิดความตื่นตระหนกแล้วทำให้ธนาคารอื่นๆ ต่างพากันล้มตามๆ กันไป
บทความโดย : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
โฆษณา