17 มี.ค. 2023 เวลา 08:58 • ประวัติศาสตร์

บทที่ 1 : กู่ช้าง กู่ม้า โบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวลำพูน

กู่ช้าง กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของชาวลำพูนมาช้านาน ซึ่งสถานที่ทั้งสองแห่งนี้ จะตั้งอยู่เคียงคู่กัน ชาวลำพูนยังต่างให้ความเคารพนับถือ
สถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก ใครที่ต้องการสมหวังในเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความรัก เรื่องครอบครัว เรื่องเงิน ก็มักจะพากันมาขอพรยังที่แห่งนี้ เรียกได้ว่าสถานที่แห่งนี้ เป็นทั้งโบราณสถาน ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นที่น่าศึกษา ทั้งในทางโบราณคดีด้วย ตลอดจนเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้คน ผู้คนต่างเชื่อกันว่าที่เเห่งนี้ เป็นสุสานช้างศึก - ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี
ประวัติความเป็นมาของกู่ช้าง
ตามตำนานเล่าไว้ว่าที่แห่งนี้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุซากของพระยาช้างเชือกหนึ่ง ที่มีชื่อว่าปู่ก่ำงาเขียว หมายถึงช้างสีคล้ำ งาสีเขียว ซึ่งช้างเชือกนี้ เป็นช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ปัจจุบันคือจังหวัดลำพูน ปู่ก่ำงาเขียว เป็นช้างศึกที่มีฤทธิ์มาก เมื่อออกศึกสงครามยามใด เพียงแค่พระยาช้าง หันหน้าไปในทิศทางของศัตรู ก็จะทำให้ศัตรูอีกฝ่าย เกิดอ่อนแรงลงได้ หลังจากที่พระยาช้างปู่ก่ำงาเขียว ล้มเมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 พระนางจามเทวีจึงโปรดให้นำซากพระยาช้าง มาฝังไว้ที่แห่งนี้
พอเล่ามาถึงจุดนี้แล้ว ผู้เขียนต้องขอบอกผู้อ่านไว้เลยว่าปู่ก่ำงาเขียว ไม่ใช่ช้างธรรมดาทั่วไป เมื่อตอนที่พระยาช้างยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นช้างที่มีอิทธิฤทธิ์วิเศษ เพราะหากงาของพระยาช้าง ได้ชี้ไปในทิศทางใดแล้ว ก็จะทำที่แห่งนั้น มีภัยพิบัติเกิดขึ้น จนมีผู้คนมากมายบาดเจ็บล้มตาย
เมื่อเหตุการณ์เลวร้ายได้เกิดขึ้น พระนางจามเทวีจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงสูงครอบไว้ โดยให้ปลายงาชี้ขึ้นไปบนฟ้า กู่ช้างจึงเป็นเจดีย์ฐานเขียงกลม ซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปห้าชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ องค์ระฆังเป็นทรงกลม แต่จะยืดสูงขึ้นไปกว่าปกติ ลักษณะคล้ายทรงกรวยก่อด้วยอิฐสูง ประมาณ 30 เมตร
ยอดเจดีย์ไม่แหลมอย่างเจดีย์ทั่วไป แต่เป็นยอดตัดมีปล่องคล้ายบ่อน้ำด้านบน ลักษณะคล้าย เจดีย์บอบอคยีใน อาณาจักรพยู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า และ เจดีย์ง๊ะจเวนะตาว ในเมืองพุกาม และเจดีย์บริวารรอบๆ เจดีย์มหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สันนิษฐานได้ว่ากู่ช้างได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบพม่า
กู่ม้า ตั้งอยู่ด้านหลังกู่ช้าง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดหักพังทลายลงไปแล้ว ด้านหน้าโบราณสถานกู่ช้างกู่ม้านี้ เทศบาลเมืองลำพูน ได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน
ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือกู่ช้างมาก มีการสร้างศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง ไว้ทางด้านทิศตะวันออก ใกล้กับองค์เจดีย์ด้านหน้า ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง จะมีรูปปั้นจำลองของปู่ก่ำงาเขียว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาไหว้สักการะ ผู้คนต่างเชื่อกันว่าหากได้ลอดท้องพระยาช้างเชือกนี้ ชีวิตก็จะเป็นสิริมงคลและประสบความสำเร็จ ในสิ่งที่ปรารถนา ในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี จะมีงานรดน้ำดำหัว และบวงสรวงเจ้าพ่อ เพื่อขอขมาลาโทษ และขอพรให้ปกปักษ์รักษาประชาชนจากความทุกข์ทั้งปวง
การเดินทางไปกู่ช้าง กู่ม้า
กู่ทั้งสองนี้ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนวัดไก่แก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน ห่างจากตัวเมืองลำพูนไปทางเหนือ (ออกจากเมืองลำพูนไปทาง ถนนเชียงใหม่ ลำพูนสายเก่า) ประมาณ 2 กิโลเมตร หากไปจากเชียงใหม่ ใช้ถนนเชียงใหม่ - ลำพูนสายเก่า สังเกตโรงเรียน จักรคำคณาทร ขับเลยมานิดเดียว เลี้ยวเข้าถนนเล็กๆ ข้างโรงเรียน มีป้ายบอกตลอดทาง
*ห้ามนำบทความไปดัดแปลง แก้ไข หรือทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต
ช่องทางติดตามเรา.
ติดตามเราเพิ่มเติมได้ที่.
#CHANG เรื่องช้าง
#ประวัติศาสตร์และตำนานช้าง
#เรื่องเล่าและนิทานช้าง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา