17 มี.ค. 2023 เวลา 18:09 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

October Sonata (2009) - รักที่รอคอย… รวี แสงจันทร์ และมรสุมการเมือง

หนังรักโรแมนติคที่สะท้อนนัยยะทางการเมืองอย่างเฉียบคม น่าประทับใจ
กำกับและเขียนบทโดย สมเกียรติ์ วิทุรานิช
สวัสดีครับ ! ช่วงนี้ดูแต่หนังไทยบน Netflix หนังที่อยากจะรีวิวในงวดนี้ ก็คือ เรื่อง October Sonata (2009) หรือ "รักที่รอคอย" หนังไทยที่กระแสไม่ดังในวงกว้าง แต่กวาดรางวัลใหญ่ ๆ ในไทยไปเพียบ ทั้งจากเวทีสุพรรณหงส์ และชมรมวิจารณ์บันเทิง นอกจากนี้ยังถูกบรรจุชื่อในหอภาพยนตร์เป็น "มรดกภาพยนตร์ของชาติ" ประจำปี 2565
เกริ่นมาขนาดนี้ ขอเข้ารีวิวเลยแล้วกัน !
[ เรื่องย่อ ]
วันที่ 8 ตุลาคม 2513 วันเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา "แสงจันทร์ (ก้อย รัชวิน)" สาวโรงงาน ได้เดินทางไปงานศพของพระเอกในดวงใจ ขณะที่กำลังจะกลับก็ได้พบกับ "รวี (โป๊ป ธนวรรธน์)" หนุ่มหัวความคิดก้าวหน้าที่กำลังจะไปเรียนต่อเมืองนอก ทั้งคู่ประทับใจในกันและกัน จึงนัดหมายว่า ทุกวันที่ 8 ตุลาคม ของทุกปี ทั้งคู่จะกลับมาเจอกันที่บังกะโล แสนมุก โฮเต็ล
ทว่าเมื่อถึงเวลาผ่านไป ด้วยมรสุมชีวิตและเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้ทั้งคู่เปรียบเสมือนเส้นขนานที่มิอาจมาบรรจบกัน
[ ความรู้สึกหลังชม ]
- จุดแรกที่น่าชม ขอยกนิ้วให้ส่วน "บทภาพยนตร์" บทและโครงเรื่องเฉียบคม โดยจุดที่ชอบที่สุด รู้สึกชอบการซ้อนเรื่องหลักเข้ากับวรรณกรรมเรื่อง "สงครามชีวิต" ของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ซึ่งเล่าถึง ความรักของ "เพลิน" กับ "ระพินทร์” พร้อมกับสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม
ถ้าสังเกตให้ดี ชะตากรรมของหลายตัวละครใน October Sonata สอดรับกับเรื่องราวในวรรณกรรมนี้อย่างงดงาม
นับว่าไม่ง่ายที่ผู้สร้างสามารถซ้อนหนังเข้ากับวรรณกรรมได้เฉียบคมแบบนี้ !
- ประเด็นหลักที่หนังตั้งคำถาม เกี่ยวข้องกับ คำว่า "รอคอย" (สอดคล้องกับชื่อหนัง)
แสงจันทร์ ยังคงรอรวี... ลิ้มรอคอยแสงจันทร์
บททดสอบรักแท้ที่พิสูจน์ด้วยการรอคอยต้องใช้เวลานานเท่าใด ในเวลาที่เหตุการณ์ต่าง ๆ พัดเข้ามา พาให้ความอดทนของแต่ละคนค่อย ๆ หมดลง
แล้วถ้าเราเป็นแสงจันทร์หรือลิ้ม... เราจะรอได้แบบพวกเขาไหม ?
เป็นคำถามที่น่าสนใจจากผู้สร้างถึงผู้ชมทุกคน...
- ส่วนถัดมา คือ "การสร้างบรรยากาศในเรื่อง" บรรยากาศทุกอย่างในเรื่องถูกเล่าออกมาประณีต สวยงาม ไม่ว่าจะผ่านไดอะล็อก บทภาพยนตร์ งานภาพ ดนตรีประกอบ การตัดต่อ ทุกอย่างประกอบอย่างพิถีพิถัน ทำให้หนังเรื่องนี้สวยเป็นอย่างยิ่งในทุกช่วงเวลา
- ในหนังมีการใช้ Symbol หลาย ๆ อย่าง ส่วนหนึ่งที่เห็นชัดเจน คือ การตั้งชื่อของ รวี (แปลว่า พระอาทิตย์) และ แสงจันทร์ ทั้งสองความหมายเหมือนขั้วตรงข้ามที่ไม่เคยได้ฉายแสงเคียงข้างกัน
- ประเด็นที่น่าประทับใจ ยังรวมไปถึง "ความเฉียบคมในการสะท้อนนัยยะทางการเมือง"
หนังยืมบริบททางการเมืองในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2513-2523 มา ซึ่งผ่านตั้งแต่ เหตุการณ์ 14 ตุลา ฯ ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน, เหตุการณ์ 6 ตุลา ฯ วันสังหารหมู่นักศึกษา ทำให้นักศึกษาต้องเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านรัฐบาล ไปจนถึงการออกคำสั่ง 66/2523 ในยุคพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นิรโทษกรรมผู้ต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้นักศึกษาสามารถหวนกลับสู่สังคมได้อีกครั้ง
เหตุการณ์ทางการเมืองถูกเล่าเป็นแบ็คกราวน์ซัพพอร์ตเรื่องหลักในหนัง ช่วยให้การสะท้อนการเมืองเป็นไปด้วยความหนักแน่น แถมยังมีการพูดถึงเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ และคุณค่าของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน" ปรัชญาข้อสำคัญของประชาธิปไตย
โดยหนึ่งในฉากสำคัญที่พูดถึงข้อนี้ คือ ฉากแสงจันทร์ (ตัวแทนแรงงาน / กรรมชน) ตั้งคำถามกับ เจ้านาย (ตัวแทนฝ่ายผู้ดีฝั่งอนุรักษ์นิยม) หลังโดนเอาเปรียบ ซึ่งฉายให้เห็นภาพมุมมองของคนสองฝ่ายที่มองเรื่องคุณค่ามนุษย์ไม่เหมือนกันง
เหตุการณ์ 14 ตุลา ฯ และ 6 ตุลา ฯ
- จุดหนึ่งที่ผมสังเกตเห็น แต่ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจของผู้สร้างหรือเปล่า นั่นคือ "บทสรุปที่น่าเจ็บปวด" อย่างความตายของผู้มีอุดมการณ์ ที่ตลกร้ายกว่านั้น คือ เป็นการสิ้นลมหายใจภายใต้การดูแลของเศรษฐีจีนผู้ร่ำรวย ซึ่งหนังอาจกำลังเปรียบเปรยถึงการสูญหายไปของแนวคิดอุดมการณ์ (ฝ่ายซ้าย / เสรีนิยม) พร้อมกับกลุ่มทุนนิยมใหม่ (ไทยเชื้อสายจีน) ที่มีแนวคิดเชิง Practical ปรับตัวได้ดี จนเข้ามามีบทบาทในสังคมแทน
ดังนั้น โดยรวมต้องยกนิ้วให้กับการเล่น Symbol ในหนังจริง เฉียบคมทั้งในแง่บทภาพยนตร์และการแสดงนัยยะทางการเมือง
โป๊ป ก้อย บอย
- พาร์ทนักแสดง ท็อปฟอร์มมาก โป๊ป ก้อย บอย แสดงได้เยี่ยมจริง
- หนังเซ็ตอัพบรรยากาศกรุงเทพและชลบุรีในช่วงปี 2513 – 2523 ได้สวยงามสมจริง แถมเซ็ตติ้งที่มีย่านคนจีนเข้ามาผสม ก็ช่วยให้หนังมีมิติขึ้นมาก (หลาย ๆ ครอบครัวเชื้อสายจีน ก็เริ่มต้นตั้งรกรากในประเทศไทย ด้วยอารมณ์แบบนี้แหละ)
- ดนตรีประกอบไพเราะ เพลง Theme เพราะมาก ส่วนเพลง “ห่างไกลเหลือเกิน” (แต่งโดย บอย โกสิยพงษ์ / ขับร้องโดย ธนชัย อุชชิน) ก็ยอดเยี่ยมเช่นกัน อธิบายใจความเรื่องได้อย่างงดงาม
[ สรุป ]
October Sonata (2009) อาจเป็นหนังไทยที่ไม่ได้มีกระแสในวงกว้าง แต่เป็นหนังไทยคุณภาพเยี่ยมที่ไม่ควรพลาด ทั้งในแง่ความโรแมนติก การรอคอย จิตวิญญาณทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมของศรีบูรพา ทุกอย่างถูกถ่ายทอดอย่างประณีตด้วยไอเดียและแก่นที่ดีมาก ๆ
ดังนั้นใครสนใจก็ขอแนะนำนะครับ… ดูได้บน Netflix หรือถ้าอยากดูใน Youtube พระนครฟิลม์ นำหนังมาลงแบบถูกลิขสิทธิ์ สามารถดูได้ในลิงค์ด้านล่างเลยครับ
ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพูดคุยติดต่อนะครับ
IG: benjireview

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา