18 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

รู้จัก "มูลนิธิอมตะ" ที่ "วิกรม กรมดิษฐ์" ยกทรัพย์สินส่วนตัวให้สาธารณะ

รู้จัก "มูลนิธิอมตะ" ที่ "วิกรม กรมดิษฐ์" ยกทรัพย์สินส่วนตัว 20,000 ล้านบาท ทั้งที่ดิน อาคาร คอนโดมิเนียม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงทรัพย์สินส่วนตัว ให้แก่มูลนิธิเพื่อนำไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ยกระดับคุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย
2
ชื่อของ "วิกรม กรมดิษฐ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และประธาน "มูลนิธิอมตะ" ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง หลังจากเขา ใช้โอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนตัวให้กับมูลนิธิอมตะมูลค่ากว่า 95% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งที่ดิน อาคาร คอนโดมิเนียม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์สินส่วนตัวอื่น ๆ เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง "มูลนิธิอมตะ" นำไปสู่หนึ่งในกลไกการยกระดับคุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไทย
1
สำหรับ "มูลนิธิอมตะ" ที่นายวิกรมทำพินัยกรรมบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวให้เป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยนายวิกรม กรมดิษฐ์ ภายใต้จุดมุ่งหมายสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์การศึกษาให้กับเยาวชนของชาติ การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
2
จากนั้นในปี 2540 นางสาววาสนา ฝักฝ่าย ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิอมตะ" ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 มีทุนเริ่มแรก เป็นเงินสด จํานวน 200,000 บาท
วัตถุประสงค์เริ่มแรกในการจัดตั้ง "มูลนิธิอมตะ"
* เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนเห็นความสําคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า
* เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้และ สัตว์ป่านานาชนิด
* เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสัตว์ป่าที่เป็นประโยชน์ และมีพันธุ์น้อยลงไม่ให้สูญพันธุ์
* เพื่อส่งเสริมการปลูกบํารุงพันธุ์พฤกษชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ให้มีพันธุ์มากขึ้น
* เพื่อเป็นทุนและส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่มีระดับการเรียนอยู่ในขั้นดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
* เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลือในกิจกรรมของเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส
* เพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะในงานอาชีพต่างๆ และการให้การสนับสนุนการประกอบอาชีพ
* เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
* ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
คณะกรรมการ "มูลนิธิอมตะ"
* นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ
* นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานกรรมการ
* นายวิฑิต กรมดิษฐ์ กรรมการ
* นางกอบกุล เสถียรสุต กรรมการ
* นางสาวทรงโฉม ตั้งนวพันธ์ กรรมการ
* นางวราภรณ์ วัชรานุเคราะห์ กรรมการและเหรัญญิก
* นางสาววาสนา ฝักฝ่าย กรรมการและเลขานุการ
1
ต่อมาในปี 2542 นายวิกรม กรมดิษฐ์ ได้ยื่นคําร้องขอจดทะเบียนแก้ไขวัตถุประสงค์ของ"มูลนิธิอมตะ" ใหม่ ดังนี้
* เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า
* เพื่อส่งเสริมการปลูกป่าและรักษาธรรมชาติ
* เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา
* เพื่อส่งเสริมรักษาศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย
* เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬา
* ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
โลโก้ "มูลนิธิอมตะ"
เป็นรูปเส้นขีดแนวนอนห้าเส้นเรียงต่อกันตามขนาดความยาวน้อยไปมากและซ้ายไปขวา มีตัวภาษาอังกฤษอยู่บนรูปเขียนว่า AMATA FOUNDATION และมีภาษาไทยอยู่ใต้รูปเขียนว่า มูลนิธิอมตะ
สถานที่ตั้ง "มูลนิธิอมตะ"
* สํานักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ อาคารกรมดิษฐ์ ชั้น 1 เลขที่ 2126 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
* สํานักงานสาขาตั้งอยู่เลขที่ 700/7 หมู่ที่ 5 ตําบลหนองไม้แดง อําเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
โครงการ "มูลนิธิอมตะ"
* โครงการสร้างศูนย์จัดแสดงนิทรรศการ และศิลปะแห่งภาคพื้นสุวรรณภูมิ อมตะ คาสเซิล นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์จัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะ และวัฒนธรรมทุกแขนงของศิลปินในยุคสมัยนี้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ส่งเสริม สนับสนุน การจัดกิจกรรมทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การละคร และสถานที่จัดสัมมนา จัดเลี้ยง ห้องสมุด ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิอมตะ เพื่อส่งผ่านและเป็นสื่อกลางของการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ตามวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเอเชีย
* โครงการศิลปกรรม อมตะ อาร์ต อวอร์ด เพื่อเป็นการสนับสนุนศิลปินไทยและส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะแขนงต่างๆ ในประเทศไทย ผลงานที่ได้รับรางวัลและผลงานที่ได้รับคัดเลือก จะนำไปแสดงในนิทรรศการศิลปกรรมที่จัดพร้อมกับพิธีมอบรางวัล "อมตะ อาร์ต อวอร์ด"
* โครงการรางวัลเกียรติยศ นักเขียนอมตะ เพื่อเป็นการยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า อันควรแก่การนำผลงานเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สากล และถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศซึ่งเปี่ยมด้วยคุณค่าและมาตรฐาน คงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ และเชิดชูเกียรติประวัติแห่งผู้อุทิศตนที่ได้ทุ่มเทสร้างผลงาน
* โครงการหนังสือ เป็นการจัดทำหนังสือที่เขียนโดยนายวิกรม กรมดิษฐ์ เช่น หนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" , มองซีอีโอโลก (1-10), มองโลกแบบวิกรม, กิน&อยู่แบบวิกรม, คาถาชีวิต, ชีวิตใหม่, คิดถึงแม่ ฯลฯ ได้เผยแพร่สู่สาธารณชนกว่า 7 ล้านเล่มนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหนังสือ“คาถาชีวิต”ที่ทำลายสถิติ ทำยอดขายถึง 2 ล้านเล่มในระยะเวลา 3 เดือน
หนังสือหลายเล่มในโครงการหนังสือนี้จำหน่ายในราคาไม่ถึงเล่มละ 1 เหรียญสหรัฐ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีโอกาสได้อ่านหนังสืออย่างทั่วถึง นอกจากนี้มูลนิธิได้บริจาคหนังสือกว่า 500,000 เล่ม ให้กับนักเรียน นักศึกษา คนพิการ ผู้ต้องขัง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เป็นประจำอีกด้วย
* โครงการอุทยานพี่อุทยานน้องร่วมแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ (SPARK) เพื่อยกระดับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สู่อุทยานระดับโลก และใช้เป็นอุทยานฯ นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการแก่อุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน
* โครงการทุนอัจฉริยะ (The Genius Scholarship) โดยมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี ความประพฤติดี แต่มีฐานะยากจน โดยพิจารณาคัดเลือกจากผู้ที่มีอัจฉริยภาพ และความเลิศในทักษะด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน และอนาคต
โดยเป็นทุนที่ให้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่าตามความสามารถของนักเรียนทุน หากนักเรียนทุนสามารถรักษาระดับผลการศึกษาไว้ได้ โดยไม่มีข้อผูกมัดแต่อย่างใด เมื่อสำเร็จการศึกษา นักเรียนทุนยังมีโอกาสได้รับการพิจารณาเข้าทำงานใน บมจ.อมตะ คอร์ปฯ หรือในนิคมอุตสาหกรรมอมตะตามสายงานที่ถนัดต่อไป
ข้อมูล รูปภาพประกอบ มูลนิธิอมตะ ราชกิจจานุเบกษา
โฆษณา