Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Attorney Bunyarit (ทนายบอล)
•
ติดตาม
18 มี.ค. 2023 เวลา 07:38 • การศึกษา
สำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ
ขาดส่งงวดวงแชร์ ผิดกฎหมายอาญาทางฉ้อโกงหรือไม่?!
📌ผมได้รับมอบหมายจากพี่ทนายเพชร ให้ทำคดีฉ้อโกงคดีหนึ่ง โดยเราเป็นฝ่ายจำเลย ถูกฟ้องมาเป็นคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกง
💬 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า 💬
โจทก์เป็นนายวงแชร์ โดยมีจำเลยเข้าร่วมเป็นสมาชิกวงแชร์กับโจทก์ โดยจำเลยมีการส่งงวดแชร์ให้แก่โจทก์อยู่ตลอด ซึ่งมีบางงวดที่จำเลยไม่สามารถส่งค่างวดแชร์ได้ เนื่องจากสถานะทางการเงินติดขัด แต่จำเลยก็มีการขอผ่อนผันกับโจทก์ และแจ้งให้โจทก์ทราบมาโดยตลอด โดยไม่ได้คิดจะหนีหนี้แต่อย่างใด แต่ต่อมาโจทก์กลับมาฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเอาเงินกองกลางไป แล้วไม่จ่ายค่างวดแชร์ต่อ อีกทั้งยังปรากฎข้อเท็จจริงอีกว่าโจทก์เป็นนายวงแชร์ประมาณเกือบสิบวง และแต่ละวงก็มีสมาชิกวงแชร์มากกว่าสิบคน
ผมขอแจ้งนิดนึงนะครับ ว่าในส่วนของการเล่นแชร์ก่อนที่ผมจะมาทำงานกฎหมาย ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่าการเล่นแชร์มีกฎหมายบัญญัติรองรับด้วย โดยในช่วงที่ผมมาทำงานใหม่ๆ ผมเคยมีโอกาสได้ทำคำให้การและคำฟ้องคดีแชร์อยู่สองสามเรื่อง ทำให้ผมทราบว่า การเล่นแชร์ มี พรบ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 บัญญัติเกี่ยวกับการเล่นแชร์เอาไว้อยู่ด้วย
ซึ่งผมทราบว่ามีเพื่อนๆหลายคนที่ถ้าหากไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง ก็จะไม่ทราบเช่นเดียวกันกับผม เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นเล่นแชร์ ไม่ว่าจะเป็นท้าวแชร์ หรือลูกแชร์ ก็ควรที่จะศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อที่จะได้รู้ถึงลักษณะของแต่ละอย่าง ทำให้เราจะได้สบายใจไม่ต้องกังวลเรื่องความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องด้วยครับ
📕โดยใน พรบ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ดังกล่าว ได้บัญญัติเกี่ยวกับลักษณะของการเป็น "นายวงแชร์" หรือที่เราเรียกกันว่า "ท้าวแชร์" เอาไว้ด้วย ซึ่งจะอยู่ใน
มาตรา 6 วรรคหนึ่ง วางหลักว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง
(2) มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน
(3) มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
(4) นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย"
โดยจากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ผมสามารถนำมาปรับใช้เข้ากับข้อเท็จจริงของคดีนี้ได้ดังนี้
จากข้อเท็จจริงที่ได้รับมาคือโจทก์เป็นนายวงแชร์มากกว่าสิบวง อีกทั้งยังปรากฎว่ามีสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน ทำให้การเป็นนายวงแชร์ของโจทก์ไม่ชอบด้วย พรบ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6(1)(2) ซึ่งเมื่อโจทก์เป็นนายวงแชร์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
(ในส่วนของประเด็นข้อต่อสู้นี้ ผมขอชี้แจงนิดนึงนะครับ เท่าที่ผมอ่านฎีกามา ผมเห็นส่วนใหญ่ก็จะสู้ประเด็นกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการเล่นแชร์ ว่ามูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายบ้างอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นสมาชิกวงแชร์ฟ้องนายวงแชร์ และถ้าเป็นเช่นนั้น ตาม พรบ.แชร์ ไม่ได้บัญญัติให้สมาชิกวงแชร์ ห้ามเล่นแชร์แต่อย่างใด ทำให้สมาชิกวงแชร์สามารถฟ้องได้ไม่มีปัญหา แต่ผมยังไม่เคยเห็นฎีกาที่นายวงแชร์ที่ผิดกฎหมายฟ้องลูกแชร์ ผมจึงนำฎีกาที่เคยเห็นมาประยุกต์ เป็นประเด็นต่อสู้คดีนี้ดูครับ
*ถ้าหากมีพี่ๆหรือเพื่อนๆท่านไหนทราบหรือชี้แจงประเด็นนี้ผมก็รบกวนด้วยนะครับ*)
อีกทั้งเมื่อได้ฟังข้อเท็จจริงจากลูกความมาครบถ้วนแล้ว ปรากฎว่าทางจำเลยมีการชำระเงินค่างวดแชร์ให้แก่โจทก์อยู่บ้างบางส่วนแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่เคยชำระเลย และในงวดที่ค้างชำระ จำเลยก็มีการติดต่อกับโจทก์ว่าขอผ่อนจ่าย ซึ่งโจทก์ก็ตกลงยินยอม แต่ต่อมาภายหลังจำเลยเกิดสภาพทางการเงินที่ไม่ค่อยดี ทำให้ต้องขอผัดผ่อนไปบ้าง
ทำให้เมื่อทราบเช่นนั้นแล้ว เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยก็คงเป็นแต่เพียงการผิดสัญญาการเล่นแชร์กับโจทก์เท่านั้น จำเลยไม่มีเจตนาจะฉ้อโกงเงินวงแชร์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา คดีนี้จึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น
โดยในเรื่องของการฉ้อโกง กับ ผิดสัญญาทางแพ่ง จะมีข้อแตกต่างกันอยู่ คือ
การจะเป็นการฉ้อโกงตามกฎหมายอาญา มาตรา 341 ที่วางหลักว่า "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง..."
จะต้องปรากฎว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตจะเอาเงินมาตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า ขณะที่จำเลยร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ จำเลยมีการถ่ายภาพหน้าบัตรประชาชนให้โจทก์ดู ทั้งบอกถึงถิ่นที่อยู่ปัจจุบันอีกด้วย หากมองถึงเจตนาอันแท้จริงแล้ว หากจำเลยมีเจตนาจะฉ้อโกงจริง คงไม่บอกถึงถิ่นที่อยู่ เพื่อให้โจทก์ติดตามได้โดยง่าย
โดยเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว คดีนี้มีโอกาสสูงที่ถ้าหากศาลได้ฟังหรือได้อ่านข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายของจำเลยแล้ว มีโอกาสสูงที่ศาลจะยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องสูงได้เลย
ผมจึงได้จัดการทำ "คำแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล" ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/2 ยื่นต่อศาลก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องประมาณสองสัปดาห์ เพื่อให้ศาลได้มีเวลาอ่านข้อเท็จจริง และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องของฝ่ายจำเลยประกอบการวินิจฉัย
🏛โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ผมได้เตรียมคำถามค้าน เกี่ยวกับคดีนี้ไว้ 2 ประเด็น คือ
1.เรื่องเป็นนายวงแชร์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.คดีนี้เป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีเจตนาฉ้อโกง
โดยผมประเมินแล้วว่าจากคำตอบของพยาน ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันกับประเด็นที่ผมชี้แจงให้ศาลเห็นในคำแถลง
🧑⚖️ปรากฎว่าในวันนัดฟังคำพิพากษา หรือคำสั่ง ศาลก็ได้ให้เหตุผลว่าจำเลยไม่มีเจตนาฉ้อโกง และพิพากษาว่าคดีไม่มีมูลความผิด ยกฟ้องโจทก์
#ต้องขอบคุณพี่ทนายเพชรมากนะครับที่ให้โอกาสได้ฝึกฝนและหาประสบการณ์ครับ
พัฒนาตัวเอง
missiontothemoon
ความคิดเห็น
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย