19 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ศาลอาญาระหว่างประเทศ ออกหมายจับ "ปูติน" เพราะสาเหตุใด?

วันนี้ 17 มีนาคม พ.ศ. 2566 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court : ICC) ณ กรุงเฮก ได้ออกหมายจับบุคคลสองคนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในยูเครน ได้แก่ นายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) ประธานาธิบดีรัสเซียและนางมาเรีย อเล็กเซเยฟนา โลววา-เบโลวา (Maria Alekseyevna Lvova-Belova) กรรมาธิการสิทธิเด็กประจำสำนักงานประธานาธิบดีรัสเซีย ด้วยข้อหาเดียวกัน
สืบเนื่องจากคำร้องของอัยการ ICC เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับส่งตัวเด็กจำนวนมากจากยูเครนไปยังรัสเซีย แล้วส่งให้ครอบครัวชาวรัสเซียรับอุปการะไว้ โดยการบังคับเนรเทศประชากรถือเป็นอาชญากรรมภายใต้กฎเกณฑ์ของกรุงโรมที่จัดตั้งศาล
1
ประธานาธิบดี ปูติน ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้รับผิดชอบในอาชญากรรมสงครามของการเนรเทศประชากร (เด็ก) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการย้ายประชากร (เด็ก) โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากพื้นที่ยึดครองของยูเครนไปยังรัสเซีย ศาล ICC พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายปูติน มีส่วนรับผิดชอบทางอาญาเป็นรายบุคคลสำหรับอาชญากรรมดังกล่าว เนื่องจากเขาไม่ใช้ความสามารถในการควบคุมอย่างเหมาะสมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารที่กระทำการดังกล่าว
ส่วนนางโลววา-เบโลวา ในประเด็นกล่าวหาเดียวกัน ศาล ICC พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นางโลววา-เบโลวา มีส่วนรับผิดชอบทางอาญาเป็นรายบุคคลสำหรับอาชญากรรมดังกล่าว เนื่องจากได้กระทำการโดยตรง ร่วมกับผู้อื่น และ/หรือผ่านบุคคลอื่นๆ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามของการเนรเทศประชากรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการย้ายประชากรโดยมิชอบด้วยกฎหมายจากพื้นที่ยึดครองของยูเครน ด้วยอคติต่อเด็กยูเครน
อย่างไรก็ตาม รัสเซียเคยเป็นผู้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมดังกล่าว แต่ถอนตัวในปี 2559 โดยระบุว่าไม่ยอมรับอำนาจศาล และแม้ว่ายูเครนจะไม่ได้ลงนามในศาล ณ กรุงเฮก แต่ก็ให้อำนาจศาล ICC ในการสอบสวนอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในดินแดนของตน
โฆษกของเครมลิน นายดมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินนี้ โดยระบุว่า มอสโกไม่ยอมรับอำนาจศาลของ ICC และนางมาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่าคำตัดสินของ ICC ไม่มีความหมายสำหรับรัสเซีย หมายจับที่ออกมาถือเป็นโมฆะทางกฎหมาย ด้วยรัสเซียไม่ได้เป็นประเทศภาคีของกฎหมายนี้
เมื่อรัสเซียไม่ยอมรับอำนาจศาล ICC และไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน การออกหมายจับระหว่างประเทศอาจมีผลให้ประธานาธิบดี ปูติน และนางโลววา-เบโลวา ถูกจำกัดความสามารถในการเดินทางไปต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ
ข้อกล่าวหาของศาล ICC มีประเด็นมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของนางโลววา-เบโลวา ซึ่งประธานาธิบดี ปูติน ในฐานะผู้บังคับบัญชาไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมการกระทำดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายสากล และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
ทำไม? นางโลววา-เบโลวา ซึ่งทำหน้าที่กรรมาธิการสิทธิเด็ก ถึงโดนข้อกล่าวหา "ลักพาตัวเด็กยูเครน" จำนวนมาก
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรกในปี 2565 มีรายงานว่าเด็กในยูเครนถูกลักพาตัวไปรัสเซีย และมีครอบครัวในรัสเซียเป็นผู้รับอุปการะ แต่ฝั่งรัสเซียกลับถือว่าเรื่องนี้เป็นปฏิบัติการในภาระกิจด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยชีวิตเด็ก ๆ ชาวยูเครนจากสงคราม
ยังไม่ชัดเจนว่ามีเด็กกี่คนที่ถูกกองกำลังรัสเซียนำตัวออกจากยูเครน เด็กยูเครนส่วนใหญ่ที่รัสเซียพากลับประเทศมาจากพื้นที่ยึดครองทางตอนใต้และตะวันออกของยูเครน ภูมิภาคเคอร์สัน ภูมิภาคคาร์คิฟ ภูมิภาคซาโปริซเซีย ภูมิภาคโดเนตสค์ และลูฮานสค์ รวมถึงพื้นที่เล็กๆ ของภูมิภาคมิโคไลฟ
มหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานศึกษา Yale Humanitarian Research Lab เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อ้างว่ามีเด็กอย่างน้อย 6,000 คนจากยูเครนถูกส่งไปยังค่ายการศึกษาของรัสเซียในปี 2565 และอัยการ ICC แถลงว่า รัสเซียกำลังออกพระราชกฤษฎีกาเร่งรัดการมอบสัญชาติรัสเซียให้กับเด็กเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมสามารถทำได้ง่ายขึ้น
ประธานาธิบดีของยูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประเมินจำนวนเด็กที่ถูกเนรเทศว่ามีมากกว่า 16,000 คน และกล่าวว่าหมายจับดังกล่าวเป็น “การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งจะนำไปสู่ความรับผิดชอบครั้งประวัติศาสตร์"
รัสเซียยอมรับว่าเด็กชาวยูเครนอย่างน้อย 1,400 คนที่ระบุว่าเป็นเด็กกำพร้า เดินทางไปรัสเซียโดยลำพัง นอกจากนี้ ยังมีเด็กอีกหลายร้อยคนจากดินแดนที่ถูกยึดครองยังคงอยู่ในรัสเซียหลังจากที่พวกเขาเข้าร่วมค่าย "การศึกษาใหม่" โดยได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ไม่ได้ถูกส่งกลับ
เด็กยูเครนเหล่านี้หลายคนมีญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งมักจะตามหาพวกเขาอย่างสิ้นหวัง ประมาณ 90% ของเด็กยูเครนที่อยู่ในความดูแลของรัฐในช่วงที่เกิดการโจมตีเป็น “เด็กกำพร้าทางสังคม” ซึ่งหมายความว่าพวกเขามีญาติแต่สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถดูแลพวกเขาได้
เว็บไซต์เครมลินรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ระหว่างประธานาธิบดีรัสเซียและกรรมาธิการเพื่อสิทธิเด็ก ซึ่งพูดคุยถึงสถานการณ์แผนอพยพประชาชนและครอบครัวที่มีเด็ก รวมทั้งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ทวีตจากกระทรวงการต่างประเทศได้อ้างคำพูดของนางโลววา-เบโลวา ที่ระบุว่ามีเด็ก 190,000 คนจาก Donbass มาถึงรัสเซียแล้ว รวมถึง 1,200 คนจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าใน สาธารณรัฐประชาชน Donetsk และ Lugansk ซึ่งเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่แสดงถึงการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลรัสเซียได้เตรียมการไว้แล้ว
ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 เกี่ยวกับการบังคับย้ายพลเมืองยูเครนไปยังรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2565 ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้แจ้งเตือนไปยังรัสเซียหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด
รายงานระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 นางอีรีนา เวเรชุก (Iryna Vereshchuk) รองนายกรัฐมนตรีของยูเครนอ้างว่าชาวยูเครน 1.2 ล้านคนถูกกวาดต้อนไปยังรัสเซีย รวมถึงเด็ก 240,000 คน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2565 สำนักข่าวรัสเซีย (TASS) รายงานว่ามีชาวยูเครนกว่า 2.8 ล้านคนเดินทางเข้าสหพันธรัฐรัสเซียจากยูเครน รวมถึงเด็ก 448,000 คน และมีรายงานว่าชาวยูเครนประมาณครึ่งหนึ่งเหล่านี้ถือหนังสือเดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์ (Luhansk) ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธของรัสเซียและปัจจุบันถูกรัสเซียยึดครอง
การกระทำของรัสเซียแม้จะกล่าวอ้างถึงการคุ้มครองและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เด็กในสถานการณ์สงคราม แต่ก็เป็นการละเมิดกฎหมายอย่างร้ายแรง การบังคับเคลื่อนย้ายพลเรือนเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือกฎหมายสงคราม (อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพลเรือนในช่วงเวลาสงคราม ซึ่งห้ามการย้ายเด็กจากดินแดนที่เป็นศัตรูไปยังดินแดนของรัฐผู้รุกราน)
การออกหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศครั้งนี้ ประธานาธิบดี ปูติน ดูเหมือนปลอดภัยด้วยอำนาจของเขาในขณะนี้ และปลอดภัยจากการส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่หากในอนาคตที่การเมืองไม่อาจปกป้องเขาได้ การส่งเขาไปยังกรุงเฮกเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งหมายจับในคดีอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะตามมา
ภาพต้นเรื่อง : https://www.cnbc.com
โฆษณา