Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
toonhirunkupt
•
ติดตาม
19 มี.ค. 2023 เวลา 13:40 • ดนตรี เพลง
เปิดค่ายนี้เสียเงินเท่าไหร่? เช็คค่าลิขสิทธิ์เพลง 2 ค่ายใหญ่ ก่อนเปิดในธุรกิจคุณ
#toonhirunkupt #toonhirunkupt_biz
*เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Track เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566
เมื่อพูดถึงเพลง เพลงคือสิ่งหนึ่งที่คู่กับโลกนี้มายาวนาน และสำหรับคนไทยก็เช่นกันที่เพลงได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของคนไทยมายาวนาน และเมื่อพูดถึงการเผยแพร่ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ก็จะเห็นว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์มากขึ้น แต่บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยในใจว่า เอ๊ะ? แล้วถ้าเราจะเปิดเพลงค่ายนี้ในร้านละ ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่? หรือเปิดเพลงนี้ในรายการของท่าน ต้องเสียเงินเท่าไหร่?
วันนี้ทางผู้เขียนจะขอหยิบยกตัวอย่างการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงจาก 2 ค่ายใหญ่ ๆ ในไทย ทั้ง “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค่ายเพลงไทยที่ยังคงปล่อยเพลงฮิตออกมาให้ฟังอย่างต่อเนื่อง และ “อาร์เอส” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Entertainmerce ที่หลาย ๆ คนนั้นรู้จักบริษัทแห่งนี้จากสถานะของ “ค่ายเพลง”
(ในที่นี้ผู้เขียนยังไม่ได้พูดถึงค่ายอื่น ๆ อีกนะครับ เช่นค่าย TERO MUSIC, MUZIK MOVE หรือ What The Duck ซึ่งคิดว่าถ้ามีโอกาสผู้เขียนจะนำเสนอแยกออกมาเป็นอีกบทความหนึ่ง)
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ภายใต้ บจก. จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล (GMM MPI) ซึ่ง GRAMMY ถือหุ้นใน GMM MPI ร้อยละ 100[1] ส่วนอาร์เอส (RS) จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ภายใต้ บจก. จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย (TCC) ซึ่ง RS ถือหุ้นใน TCC ร้อยละ 99.99[2]
จากเอกสารข้อมูลการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ปรับปรุง ณ วันที่ 28 พ.ค. 2564 GMM MPI มีลิขสิทธิ์เพลงที่อยู่ในการดูแลทั้งหมด 26,146 เพลง ส่วน TCC มีลิขสิทธิ์เพลงที่อยู่ในการดูแลทั้งหมด 17,560 เพลง[3]
เรามาลองดูกันดีกว่าครับว่าทั้ง 2 ค่ายนี้คิดค่าลิขสิทธิ์อย่างไร?
คร่าว ๆ คือทั้ง 2 ค่ายมีหมวดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากการแบ่งในบทความนี้อย่างต่ำ ๆ และหลัก ๆ 5 หมวด (*ในเอกสารจริงแบ่งกันคนละแบบ) ซึ่งครอบคลุม 5 หมวดหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดในร้านคาราโอเกะ, เปิดในร้านค้าต่าง ๆ, เปิดในสื่อ, จัดอีเวนต์/คอนเสิร์ต, และร้องในงาน ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านของรูปแบบ และราคา
●
ร้าน(ที่มี)คาราโอเกะ?
1
เชื่อว่าผู้อ่านส่วนหนึ่งอาจจะคิดถึงความรู้สึกในการไปร้องเพลงที่ร้านคาราโอเกะอยู่ไม่น้อย เพราะตั้งแต่มีเรื่องของโรคระบาดเข้ามา ร้านคาราโอเกะต่างก็ต้องทำตามมาตรการล็อกดาวน์ด้วยการปิดร้านไปเรื่อย ๆ เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น ร้านคาราโอเกะจึงเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง บ้างก็ใช้ที่เดิม บ้างก็ไปเริ่มต้นอีกครั้งในที่ใหม่
อธิบายให้ฟังก่อนว่าสำหรับร้านที่มีคาราโอเกะเนี่ย ทั้ง 2 ค่ายมีรูปแบบการคิดค่าลิขสิทธิ์อยู่ราว ๆ 6 ประเภท ซึ่งแต่ละค่ายจะมีประมาณ 4 – 5 แบบ และมีหมวดที่บางค่ายไมไ่ด้เขียนถึงในเอกสารด้วย โดยทั้ง 2 ค่าย มีรูปแบบการจัดเก็บลิขสิทธิ์เป็นการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ 1 ครั้ง ต่อ 6 เดือน และจัดเก็บ 1 ครั้ง ต่อ 12 เดือน ที่น่าสังเกตคือ TCC มีการจัดเก็บลิขสิทธิ์เป็นราย 1 ครั้ง ต่อ 3 เดือนอีกด้วย และหมวดนี้ยังเป็นหมวดที่เปรียบเทียบราคาได้ง่ายที่สุดอีกด้วย
ประเภทแรกคือถ้าคุณเปิดร้านคาราโอเกะแล้วมี “ตู้หยอดเหรียญคาราโอเกะ หรือตู้เพลงคาราโอเกะหยอดเหรียญ” ซึ่งปัจจุบันอาจจะหายากประมาณหนึ่ง
GMM MPI คิดในราคา 4,500 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 7,200 บาทสำหรับราย 12 เดือน ส่วน TCC คิดในราคา 3,000 บาทสำหรับราย 3 เดือน, 5,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 9,000 บาทสำหรับราย 12 เดือน
ในประเภทนี้ จะเห็นได้ว่า TCC คิดแพงกว่า ซึ่งอาจจะดูเล็กน้อยหากจ่ายราย 6 เดือน แต่อาจจะดูแพงกว่า GMM MPI ขึ้นมาหน่อย หากท่านเลือกจ่ายเป็นราย 12 เดือน
ประเภทที่ 2 คือถ้าคุณเปิดร้านคาราโอเกะแบบ “Jukebox Room หรือ ห้องโถง, ห้องคาราโอเกะ(ส่วนตัว)” ซึ่งในความเข้าใจของผู้เขียน ร้านประเภทนี้ค่อนข้างเห็นได้ง่ายตามห้างที่มีขนาดใหญ่(ซึ่งบางเจ้ามักเปิดใกล้ ๆ กับโรงภาพยนตร์) หรือไม่ก็ตามร้านอาหารที่มีชื่อห้อยท้ายด้วยคำว่า “คาราโอเกะ” หรือถ้าไม่ใช่ ก็เป็นร้านประกาศชัดเจนว่ามีคาราโอเกะให้ร้อง
GMM MPI คิดในราคา 9,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 14,400 บาทสำหรับราย 12 เดือน ส่วน TCC คิดในราคา 8,000 บาทสำหรับราย 3 เดือน, 12,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 18,000 บาทสำหรับราย 12 เดือน
ประเภทที่ 3 คือถ้าคุณเปิดร้านคาราโอเกะแบบ “Booth Karaoke” หรือในความเข้าใจของผู้เขียนคือตู้คาราโอเกะตามสวนสนุกในห้างสรรพสินค้า
GMM MPI คิดในราคา 12,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 19,200 บาทสำหรับราย 12 เดือน ส่วน TCC คิดในราคาเท่ากันกับประเภทก่อน คือ 6,000 บาทสำหรับราย 3 เดือน, 9,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 13,000 บาทสำหรับราย 12 เดือน
ประเภทนี้ จะเห็นได้ชัดว่า GMM MPI คิดแพงกว่า
ประเภทที่ 4 คือประเภทร้านคาราโอเกะ (Control Room) ซึ่งประเภทนี้ในความเข้าใจของผู้เขียน ค่อนข้างใกล้เคียงกับประเภทที่ 2
GMM MPI คิดในราคาเท่ากันกับประเภทที่แล้ว(3) คือ 12,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 19,200 บาทสำหรับราย 12 เดือน แต่เพิ่มเติมในส่วนของส่วนลดขึ้นมาด้วย โดยคิดจากจำนวนจอภายในร้าน โดยแบ่งเป็น
3-5 จอ —> ลด 5%
6-10 จอ —> ลด 10%
ตั้งแต่ 11 จอเป็นต้นไป —> ลด 15%
ในขณะที่ TCC ไม่ได้ระบุถึงประเภทนี้
ประเภทที่ 5 คือกลุ่มตู้เพลงในห้อง VIP Karaoke++ ซึ่งในความเข้าใจของผู้เขียน ค่อนข้างใกล้เคียงกับกลุ่ม 2 จนผู้เขียนเองก็ยังแอบ ๆ งง
TCC คิดในราคา 6,000 บาทสำหรับราย 3 เดือน, 9,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 13,000 บาทสำหรับราย 12 เดือน ในขณะที่ GMM MPI ไม่ได้ระบุถึงประเภทนี้
ประเภทที่ 6 คือคอมพิวเตอร์คาราโอเกะ (Midi File Karaoke) ถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิด ก็ประมาณโปรแกรมคาราโอเกะในคอมพิวเตอร์สมัยก่อนนั่นแหละครับ
GMM MPI คิดในราคาเท่ากันกับประเภทที่ 3 และ 4 คือ 12,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 19,200 บาทสำหรับราย 12 เดือน ในขณะที่ TCC ไม่ได้ระบุถึงประเภทนี้
●
เปิดใน “ร้าน” ?
การเปิดเพลงในร้านเนี่ยอาจจะเคยเป็นข้อถกเถียงกันมาประมาณหนึ่ง เพราะเคยมีข้อถกเถียงจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ๆ มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็แน่นอนครับว่าถ้าเรา “เปิดเพื่อความบันเทิง” เนี่ย ก็ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์
ในหมวดนี้ เราขอแบ่งร้านออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือร้านประเภทร้านทั่วไป กับร้านประเภทที่เป็นอาหาร และร้านที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก
ประเภทแรกคือถ้าคุณเปิดร้านทั่วไป
รูปแบบ “วิทยุในร้าน” ของ GMM MPI คิดราคาต่อสาขา โดยแบ่งเป็น 5 ขนาดตามขนาดของธุรกิจ ได้แก่ 3,000 บาทสำหรับ Size SS, ไปจนถึง 60,000 บาทสำหรับ Size XL
ส่วนรูปแบบ “กลุ่มมินิมาร์ท , ร้านสะดวกซื้อ , ตลาดนัด, ลานเบียร์ , ห้างสรรพสินค้า ในกรณีใช้เสียงตามสาย (Audio)” ของ TCC นั้นคิดราคาที่ 10,000 – 200,000 บาท ต่อสาขา ต่อปี
ประเภทที่ 1.5 คือสถานที่จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า,เครื่องคอมพิวเตอร์,ฮาร์ดแวร์ เครื่องเขียน ฯลฯ ซึ่ง TCC คิดราคาที่ 10,000 บาท ต่อสาขา ต่อปี
ประเภทที่ 2 คือถ้าคุณทำร้านอาหาร
GMM MPI ตีความสถานประกอบการร้านอาหารไว้ 3 รูปแบบคือ Fast Food, Food Court, Pub & Restaurant
คิดราคาต่อปี ต่อสาขา แยกตามขนาดคือ 16,000 บาทสำหรับ Size S ไปจนถึง 37,000 บาทสำหรับ Size XL
ส่วน TCC ตีความกลุ่มนี้รวมไปจนถึงกลุ่มอื่น ๆ ด้วย โดยเรียกกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มร้านอาหาร, สวนอาหาร, ภัตตาคาร, ศูนย์อาหาร, คาเฟ่, ผับ Pub & Restaurant, นวด&สปา, เลาจน์, โรงเบียร์ , โบว์ลิ่ง, คอฟฟี่ ช็อป, ศูนย์ออกกำลังกาย, ห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม รถแห่ ฯลฯ ในกรณีใช้เสียงตามสาย” (ชื่อยาวมาก) คิดราคาที่ 10,000 – 80,000 บาท ต่อสถานที่ ต่อปี
สำหรับผู้ประกอบการรถแห่ TCC คิดค่าลิขสิทธิ์เป็นต่อคัน ต่อปี
ประเภทที่ 3 คือถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการรายย่อย
รูปแบบ “สถานประกอบการขนาดเล็ก(SME)” ของ GMM MPI คิดราคากับธุรกิจในขนาดนี้ที่ 7,200 บาท ต่อสถานที่ ต่อปี ส่วนรูปแบบ “ธุรกิจแฟรนไชส์ ขนาดเล็ก” ของ TCC คิดค่าลิขสิทธิ์ที่ 5,000 – 10,000 บาท ต่อสถานที่ ต่อปี
หมวดนี้เป็นหมวดที่ทั้ง 2 ค่ายต่างตีความไว้คนละทิศ คนละทาง และแตกต่างกันไปมากประมาณหนึ่งเลยหละครับ
●
เปิดใน “สื่อ” ?
สำหรับการเปิดเพลงในสื่อ โชคยังดีที่ทั้ง 2 ค่ายนี้ยังแบ่งออกเป็น 4 – 5 ประเภทใหญ่ ๆ
ประเภทสื่อในที่นี้คือการออกอากาศผ่านทางวิทยุ, โทรทัศน์(Broadcast) กิจการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิก และระบบดาวเทียม(Cable TV), สื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ และยังรวมถึงการนำเพลงไปประกอบภาพยนตร์, ละคร และโฆษณา โดยที่บางหมวดอาจเป็นหมวดที่ชื่อเหมือนกัน แต่รูปแบบการคิดค่าลิขสิทธิ์อาจเป็นคนละแบบกัน แต่ส่วนหนึ่งจะใกล้เคียงกัน
ประเภทแรกคือถ้าคุณเปิดในคลื่นวิทยุ
TCC คิดแบบเหมาจ่ายปีละ 5,000,000 บาท ส่วน GMM MPI นิยามวิทยุในหมวดนี้ว่าเป็นวิทยุบนหน้าปัด หรือออนไลน์ โดยแบ่งเป็น 5 ขนาดตามขนาดของธุรกิจ ได้แก่ 200,000 บาทสำหรับ Size SS ไปจนถึง 7,000,000 บาทสำหรับ Size XL พร้อมดอกจันตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ระบุเงื่อนไขประมาณว่า *ในกรณีวิทยุในหน้าปัด หรือออนไลน์ที่มีแอพพลิเคชั่น ราคาที่ปรากฎในนี้ให้บวกเพิ่มไปอีก 30% จากราคาปกติ
ประเภทที่ 2 คือถ้าคุณเปิดในรายการทีวี และ/หรือในสถานีโทรทัศน์
ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ GMM MPI คิดราคาที่ 20,000 บาท ต่อเพลง ต่อครั้ง และแบ่งเป็น 5 ขนาดตามขนาดของธุรกิจ ได้แก่ 900,000 บาทสำหรับ Size SS ไปจนถึง 28,000,000 บาทสำหรับ Size XL มาพร้อมดอกจันอีก 3 ตัวคือ * ในกรณี TV Re-run คิด 10,000 บาท ต่อเพลง ต่อครั้ง
**ในกรณีนำรายการไปเผยแพร่ต่างประเทศคิดเพิ่ม 50% ของราคาค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่รูปแบบ TV
***ในกรณีนำภาพศิลปินหรือดาราไปใช้เพื่อประกอบรายการ คิดเพิ่ม 10,000 บาท ต่อรูป
ส่วน TCC คิดกับสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลทีวีที่ปีละ 10,000,000 บาท ต่อ 1 สถานี
มีเงื่อนไขมาว่า *ไม่รวมถึงการนำเพลงไปเพื่อประกอบละคร, เพื่อประกอบโฆษณาสินค้าและบริการ, เพื่อประกอบการแสดง คอนเสิร์ต,เพื่อนำไปรีรันในช่องรายการอื่นและเพื่อบันทึกรายการลงในสิ่งบันทึกเสียง หรือโสตทัศนวัสดุ
และในระบบกิจการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิก และระบบดาวเทียม(Cable TV) ตาม 3 หมวดของช่องคือ
ช่องเพลง 24 ชั่วโมง – คิดค่าลิขสิทธิ์ปีละ 3,500,000 บาท ต่อ 1 สถานี
ช่องวาไรตี้ที่มีการจัดรายการเพลงเกิน 60% ต่อวัน (ซึ่งเท่ากับ 864 นาที หรือ 14 ชั่วโมง 24 นาทีต่อวัน) – คิดค่าลิขสิทธิ์ปีละ 2,000,000 บาท ต่อ 1 สถานี
รายการเพลงที่มีความยาว 1-2 ชั่วโมงต่อวัน – คิดค่าลิขสิทธิ์ปีละ 600,000 บาท ต่อ 1 สถานี
หรือถ้าหากนำไปประกอบในรายการ หรือรายการประกวดร้องเพลง คิดครั้งละ 100,000 บาทต่อ 1 เพลง
และสำหรับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ คิดปีละ 2,000,000 บาท ต่อรายการ
ประเภทที่ 2.5 คือถ้าคุณประกอบกิจการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิก และระบบดาวเทียม(Cable TV)
GMM MPI คิดกับบริษัทผู้ให้บริการเคเบิลทีวี ตามปริมาณการใช้เพลง ต่อช่อง ต่อวัน และคำนวณค่าลิขสิทธิ์ต่อเดือนจากจำนวนสมาชิก แบ่งเป็นรูปแบบ A และ รูปแบบ B
รูปแบบ A คือปริมาณการใช้เพลง ต่อช่อง ต่อวัน ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง คิดค่าลิขสิทธิ์ 40 บาท ต่อสมาชิก ต่อเดือน
รูปแบบ B คือปริมาณการใช้เพลง ต่อช่อง ต่อวัน น้อยกว่า 12 ชั่วโมง คิดค่าลิขสิทธิ์ 30 บาท ต่อสมาชิก ต่อเดือน
มีดอกจันมา 1 ตัว คือ *การเผยแพร่ภาพ และ/หรือ เสียงอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว เป็นการอนุญาตให้เผยแพร่เฉพาะสิ่งบันทึกเสียง , โสตทัศนวัสดุ , ภาพมิวสิควิดีโอ และ/หรือ บันทึกการแสดงสด บทเพลงภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เท่านั้น
ในขณะที่ TCC ไม่ได้ระบุถึงประเภทนี้
ประเภทที่ 3 คือถ้าคุณเปิดในสื่อออนไลน์(ตามความเข้าใจของผู้เขียน คือประมาณคลิปในแพลตฟอร์มต่าง ๆ นั่นแหละครับ)
GMM MPI คิดราคาที่ 20,000 บาท ต่อเพลง ต่อครั้ง และแบ่งเป็น 5 ขนาดตามขนาดของธุรกิจ ได้แก่ 1,000,000 บาท(50 เพลง) ไปจนถึง 40,000,000 บาท(2,000 เพลง) สำหรับ Size XL
ส่วน TCC แบ่งเป็นเรตราคาสำหรับบุคคลธรรมดา และสำหรับนิติบุคคลและสถานประกอบการ โดยคิดที่ 5,000 – 100,000 บาท ต่อเพลงสำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 – 300,000 บาท สำหรับนิติบุคคลและสถานประกอบการ
ประเภทที่ 4 คือถ้าคุณยังคงประกอบกิจการหนังสือเพลงหรือสื่อสิ่งพิมพ์
GMM MPI คิดราคาต่อปก(ชื่อหนังสือ)ต่อการจัดพิมพ์ 1 ครั้ง ในอัตราเพลงละ 150 บาท โดยไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ต่อปก ต่อการจัดพิมพ์ 1 ครั้ง, ส่วน TCC คิดราคาต่อหัว ต่อการจัดพิมพ์ 1 ครั้ง อยู่ที่ 10,000 – 30,000 บาท
ประเภทที่ 5 คือถ้าคุณนำเพลงไปประกอบภาพยนตร์, ซีรีส์, ละครของคุณ
GMM MPI คิดราคาตามรูปแบบของเพลงที่ใช้ หากใช้เป็นรูปแบบ Theme Soundtrack คิดค่าลิขสิทธิ์ 500,000 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าหากใช้เป็นรูปแบบของ Ambient Background ราคาค่าลิขสิทธิ์จะอยู่ที่ 50,000 บาทต่อครั้ง
มีดอกจันมาอีก 2 ข้อคือ *1.ในกรณีเข้าเงื่อนไขการแลกภาพแลกเสียง อนุญาตให้ใช้เพลงฟรีเพื่อการเผยแพร่ในช่องทางทีวีและแอปพลิเคชั่นของช่องเท่านั้น
2.ในกรณีนำไปเผยแพร่ต่างประเทศ คิดค่าลิขสิทธิ์เพิ่มอีก 50% ของราคาต่อเพลง
ส่วน TCC คิดค่าลิขสิทธิ์ที่ 100,000 – 500,000 บาทต่อเพลง แต่มีการตีความไปถึงการใช้ประกอบละครเวทีด้วย ซึ่ง GMM MPI ไม่ได้ระบุถึงส่วนนี้
ประเภทที่ 5.5 คือถ้าคุณนำเพลงไปประกอบโฆษณา
GMM MPI คิดค่าลิขสิทธิ์ 500,000 บาท ต่อเพลง ต่อปี ส่วน TCC คิดค่าลิขสิทธิ์ 300,000 – 800,000 บาทต่อเพลง
หมวดนี้เป็นหมวดที่ทั้ง 2 ค่ายต่างตีความไว้คนละทิศ คนละทาง และแตกต่างกันไปมากพอ ๆ กับหมวดที่แล้ว แต่หนักหน่อยนะครับ เพราะในบางประเภทของหมวดนี้ ชื่อประเภทเหมือนกัน แต่รูปแบบการจัดเก็บของทั้ง 2 ค่ายไม่เหมือนกันก็มี
●
จัดอีเวนต์ – จัดคอนเสิร์ต?
การจัดอีเวนต์ และคอนเสิร์ตคือ 1 ในธุรกิจที่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนในหลากหลายรูปแบบ โดยที่ทั้ง 2 ค่ายก็มีรูปแบบการคิดค่าลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันมาก และแอบเข้าใจยากพอสมควร
ฝั่ง GMM MPI จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในรูปแบบงานอีเวนต์และงานคอนเสิร์ตสำหรับศิลปิน ดารา และนักแสดง โดยคิดตามจำนวนเพลงที่ใช้ต่อการแสดงแต่ละครั้ง ต่อเพลง ต่อครั้ง และมีข้อเตือนใจสำหรับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ง่าย ๆ เลยว่า “ยิ่งมีจำนวนเพลงที่ใช้เยอะ ราคายิ่งถูก”
ในกรณีที่เป็น งาน Event & Organizer (ไม่ขายบัตร) คิดค่าลิขสิทธิ์โดยเริ่มจาก 50,000 บาท ต่อเพลง ต่อครั้งต่อรอบในกรณีที่ใช้เพลง 1 – 10 เพลงต่อครั้ง และจะลดลงตั้งแต่เพลงที่ 11 ขึ้นไป จนมาถึงเพลงที่ 21 – 30 เพลงต่อครั้ง ที่คิดค่าลิขสิทธิ์ 30,000 บาท ต่อเพลง ต่อครั้ง
ในกรณีที่เป็น งานคอนเสิร์ต(ขายบัตร) คิดค่าลิขสิทธิ์โดยเริ่มจากลิขสิทธิ์ 1.50% ต่อเพลง ต่อรอบในกรณีที่ใช้เพลง 1 – 10 เพลงต่อครั้ง และจะลดลงตั้งแต่เพลงที่ 11 ขึ้นไปจนมาถึงเพลงที่ 21 – 30 ที่คิดค่าลิขสิทธิ์ 0.75% ต่อเพลง ต่อรอบ โดยอัตรา % นั้น เกิดจากรายได้การขายบัตรทั้งหมดของผู้จัดงาน
ในรูปแบบของร้านอาหาร หากมีการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต จะมีการจัดเก็บค่าลิขศิทธิ์ตามขนาด 3 ขนาด ได้แก่ 50,000 บาทสำหรับ Size S ไปจนถึง 200,000 บาทสำหรับ Size L
ส่วนสถานประกอบการที่มีเวทีแสดงสด คิดราคาต่อปี ต่อสาขา แยกตามขนาด 4 ขนาดเช่นกัน แต่ต่างราคากัน คือ 22,000 บาทสำหรับ Size S ไปจนถึง 67,000 บาทสำหรับ Size XL
ส่วนการเผยแพร่เพลงในรูปแบบ Audio ตามการจัดนิทรรศการ / เทศกาล (Exhibitions & Events) คิดตามขนาดพื้นที่ ต่อวัน
หากมีพื้นที่จัดงานตั้งแต่ 1 – 2,000 ตารางเมตร คิดวันละ 10,000 บาท
หากมีพื้นที่จัดงานตั้งแต่ 2,001 ตารางเมตรขึ้นไป คิดวันละ 20,000 บาท
ส่วน TCC สำหรับรูปแบบอีเวนต์ที่ TCC จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์แบ่งเป็น 3 หมวดย่อยคือ
ที่มีการใช้เสียงตามสาย Audio คิดค่าลิขสิทธิ์ 50,000 – 300,000 บาท ต่องาน
ที่มีการแสดงดนตรี โดยนักร้องหรือนักดนตรีทั่วไป คิดค่าลิขสิทธิ์ 10,000 – 50,000 บาท ต่อเพลง ต่องาน
ที่มีการแสดงดนตรี โดยศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง คิดค่าลิขสิทธิ์ 30,000 – 100,000 บาท ต่อเพลง ต่องาน
การแสดงคอนเสิร์ต
สำหรับคอนเสิร์ตที่มีการจำหน่ายบัตรเข้าชม/ฟรีคอนเสิร์ต คิดค่าลิขสิทธิ์ 100,000 – 200,000 บาท ต่อเพลง ต่อรอบการแสดง
มีเงื่อนไขว่า *ไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพ และ/หรือเสียงเพื่อทำซ้ำ ดัดแปลง จำหน่าย จ่ายแจก หรือนำออกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือการ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อหากำไร
ส่วนกลุ่มร้านอาหาร, สวนอาหาร, ภัตตาคาร, ศูนย์อาหาร, คาเฟ่, ผับ Pub & Restaurant, นวด&สปา, เลาจน์, โรงเบียร์ , โบว์ลิ่ง, คอฟฟี่ ช็อป, ศูนย์ออกกำลังกาย, ห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม รถแห่ ฯลฯ ในกรณีแสดงดนตรี คิดราคาที่ 10,000 – 80,000 บาท ต่อจุด ต่อปี
สำหรับผู้ประกอบการรถแห่ทั้งหลายแหล่ที่ต้องการจะใช้เพลงที่ TCC ถืออยู่ TCC คิดค่าลิขสิทธิ์เป็นต่อคัน ต่อปี
●
ร้องในงาน?
งานรับจ้าง, งานแสดง, งานจัดเลี้ยงบางงานอาจจะมีการจ้างศิลปินไปร้องในงานเพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งก็คล้ายคลึงกับหมวดอีเวนต์และคอนเสิร์ตที่ทั้ง 2 ค่ายก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป หรือกรณีของการประกวดร้องเพลง หรือร้องเพลงตามเวทีต่าง ๆ ของคนทั่วไป นั่นก็ยังอยู่ในหมวดนี้เช่นเดียวกัน
โดยสำหรับ GMM MPI
สำหรับนักแสดงและวงดนตรี(ไม่มีการจำหน่ายบัตร) / งานรับจ้าง / งานแสดง / งานจัดเลี้ยงทั่วไป ยกเว้น งานกิจกรรม(EVENT)
คิดค่าลิขสิทธิ์เป็นอัตราเหมาจ่าย โดยคิดราคาตามอัตราค่าจ้าง ได้แก่ ค่าจ้างไม่เกิน 10,000 บาทต่อครั้ง เหมาจ่ายปีละ 6,000 บาท, ค่าจ้างไม่เกิน 30,000 บาทต่อครั้ง เหมาจ่ายปีละ 12,000 บาท, ค่าจ้างเกิน 30,000 บาทต่อครั้ง คิด 0.5% ของอัตราค่าจ้าง ต่อเพลง ต่อครั้ง ต่อปี
สำหรับศิลปิน นักร้อง นักแสดงแบ่งเป็น 4 หมวดย่อยคือ
หากเป็นศิลปินในสังกัด คิด 0.5% ของอัตราค่าจ้าง ต่อเพลง ต่อครั้ง
หากเป็นนักร้อง นักแสดง ศิลปินที่เป็นที่รู้จักในวงการ แบ่งออกเป็น 4 ขนาด โดยคิดจากค่าตัวต่องาน
Size XL มีค่าตัวต่องานมากกว่า 100,000 บาท คิดค่าลิขสิทธิ์ต่อปีอย่างน้อย 300,000 บาทขึ้นไป
Size L มีค่าตัวต่องานอย่างต่ำ 80,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท คิดค่าลิขสิทธิ์ต่อปีอย่างน้อย 200,000 บาทขึ้นไป
Size M มีค่าตัวต่องานอย่างต่ำ 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 80,000 บาท คิดค่าลิขสิทธิ์ต่อปีอย่างน้อย 100,000 บาทขึ้นไป
Size S มีค่าตัวต่องานต่ำกว่า 50,000 บาท คิดค่าลิขสิทธิ์ต่อปีอย่างน้อย 50,000 บาทขึ้นไป
นักร้องผ่านเวทีประกวด คิดค่าลิขสิทธิ์วันละ 20 บาท เหมาปีละ 7,000 บาทต่อเพลง
นักร้องทั่วไป คิดค่าลิขสิทธิ์วันละ 10 บาท เหมาปีละ 3,500 บาทต่อเพลง
ส่วน TCC แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ที่พอจะนำมาไว้ในหมวดนี้ได้ ได้แก่
การประกวดร้องเพลงตามสถานที่ต่าง ๆ คิดค่าลิขสิทธิ์ 10,000 บาท ต่อเพลง ต่อครั้ง
*เงื่อนไข : (ไม่ใช่รายการทางโทรทัศน์/สื่อออนไลน์) ที่ไม่มีการบันทึกภาพ และ/หรือเสียงเพื่อทำซ้ำ ดัดแปลง จำหน่าย จ่ายแจก หรือนำออกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือการ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อหากำไร
สำหรับศิลปิน นักร้อง ที่เป็นที่รู้จักในวงการ
การแสดงดนตรีโดยศิลปิน นักร้อง สำหรับงานจ้างงานเลี้ยงทั่วไป ไม่รวมถึง Event คิดค่าลิขสิทธิ์ 50,000 – 300,000 บาท ต่อปี
●
ประเภทแถม!?
ที่น่าสนใจคือในเอกสารของแต่ละค่าย ต่างก็มีการแบ่งหมวด และประเภทที่แตกต่างกัน โดยที่บางค่ายก็มีหมวดที่อีกค่ายหนึ่งไม่มี หรือบางหมวดต่างก็มีกันทั้ง 2 ค่าย แต่ไม่สามารถจัดอยุ่ใน 5 หมวดที่บทความนี้จัดไว้ได้ ได้แก่
สายการบิน
สายการบินบางแห่งมักจะมีหน้าจอที่อยู่บริเวณหลังเบาะของผู้โดยสารที่อยู่ข้างหน้าเรา ซึ่งมีให้เราได้เปิดดูรายการ หรือเพลงฟังในระหว่างที่เรากำลังเดินทางอยู่ แต่สำหรับคนที่ประกอบธุรกิจสายการบิน ประเภทนี้คือประเภทที่เห็นความต่างของราคาจากทั้ง 2 ค่ายได้ชัดเจน
GMM MPI แบ่งออกเป็น 2 ราคาตามประเภทของธุรกิจ ได้แก่ 500,000 บาทต่อปีสำหรับสายการบินประเภท Low Cost และ 1,500,000 บาทต่อปีสำหรับสายการบินประเภท Full Service
ส่วน TCC คิดค่าลิขสิทธิ์ที่ 5,000,000 บาท ต่อสายการบิน ต่อปี (*ทุกประเภท)
จะเห็นได้ว่าประเภทสายการบิน คือประเภทที่ทั้ง 2 ค่ายมีราคาต่างกันสุด ๆ โดยที่ TCC คิดแพงกว่า GMM MPI 3.3 เท่าสำหรับสายการบิน Full Service และ 10 เท่าสำหรับสายการบิน Low Cost
ประเภทที่มีเฉพาะในเอกสารของ GMM MPI
ตู้เพลงหยอดเหรียญ(Jukebox Audio) คิดในราคา 750 บาท ต่อตู้ ต่อเดือน
ริงโทน คิดตามประเภทร้าน ได้แก่
ตู้ให้บริการโหลดเพลงลงมือถือ(Kiosk) คิดค่าลิขสิทธิ์ 12,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 18,000 บาทสำหรับราย 12 เดือน
ร้านให้บริการโหลดเพลงลงมือถือ(Shop) คิดค่าลิขสิทธิ์ 15,000 บาทสำหรับราย 6 เดือน และ 24,000 บาทสำหรับราย 12 เดือน
ประเภทที่มีเฉพาะในเอกสารของ TCC
สวนสนุก หรือสวนสัตว์ (ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่) คิดค่าลิขสิทธิ์ที่ 150,000 บาท ต่อสถานที่ ต่อปี
จากการที่ผมรวบรวมข้อมูลมา ทำให้ได้พบว่ามีบางหมวดที่ต่างฝ่ายต่างได้เปรียบเรื่องราคา แต่หากนับกันเป็นกลุ่ม กลุ่มที่ค่อนข้างชวนผู้เขียนปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ไม่น้อย คือกลุ่มของ Event และ Concert ที่ทั้ง 2 ค่ายมีวิธีการคิดค่าลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน กลุ่มที่มีความแตกต่างกันประมาณหนึ่ง คือกลุ่ม Media และกลุ่มที่ไม่ต่างกันมาก คือกลุ่ม Karaoke
ก่อนจะเปิดเพลง อย่าลืมเช็คค่าลิขสิทธิ์กันด้วยนะครับ!
อ้างอิง
[1]
https://grammy-th.listedcompany.com/images/upload/20210527-structure-gmm-th.jpg
[2]
https://ir.rs.co.th/th/corporate-information/companys-structure
[3]
https://www.ipthailand.go.th/images/3534/2564/Copyright2021/Rate2020.pdf
thetrackth.com
ชวนเช็คค่าลิขสิทธิ์ก่อนเปิดเพลง 2 ค่ายใหญ่ในร้านค้า - THE TRACK
เมื่อพูดถึงการเผยแพร่ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ ก็จะเห็นว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับลิขสิทธิ์มากขึ้น
เพลงไทย
เพลง
เพลงดังพันล้านวิว
บันทึก
4
5
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย