20 มี.ค. 2023 เวลา 17:31 • ประวัติศาสตร์

Juana la Loca ตำนานเล่าขานของสตรีผู้วิปลาสแห่งสเปน

บัลลังก์ อำนาจ และความ(คลั่ง)รัก สู่ประวัติศาสตร์ที่เล่าขานต่อกันมาของ “Joanna of Castile” (Juana I de Castilla หรือฆัวนาที่ 1 แห่งกัสติยา) จากความคลั่งรักต่อสามี บวกกับโศกนาฏกรรมของครอบครัวที่ต้องเผชิญ ทำให้นางกลายเป็น “Joanna the Mad” (Juana la Loca หรือฆัวนาผู้วิปลาส)
ว่าแต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างนี้ท่านได้แต่ใดมา... แล้วตำนานความบ้าคลั่งของพระนางจะเป็นแบบไหน? มาติดตามเรื่องราวไปพร้อมกันเลย
  • จากเจ้าหญิงสู่ราชินีแห่งกัสติยา
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 1479 พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2 (Fernando II หรือเฟร์นันโดที่ 2) แห่งอารากอน และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 (Izabella I) แห่งกัสติยา ได้ให้กำเนิดบุตรีคนที่ 3 นามว่า “เจ้าหญิงฆัวนา” ซึ่งเธอมีพี่น้องทั้งหมด 4 คน หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับน้องสาวคนเล็ก (คนดัง) ของเธอมากกว่านั่นคือ แคทเธอรีน (Katherine) ราชินีองค์แรกของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (Henry VIII of England)
ส่วนพี่น้องคนอื่น ๆ ได้แก่ จอห์น เจ้าชายแห่งอัสตูเรียส (John, Prince of Asturias) เป็นพี่ชายคนโต, อิซาเบลลา ราชินีแห่งโปรตุเกส (Isabella, Queen of Portugal) เป็นพี่สาวคนรอง และมาเรีย ราชินีแห่งโปรตุเกส (Maria, Queen of Portugal) เป็นน้องสาวคนรองสุดท้อง
Juan de Flanders, Joanna of Castile, 1500, Kunsthistorisches Museum Wien, Vienna, Austria. Detail. จากเว็บไซต์ www.dailyartmagazine.com
จากนั้นในปี 1496 เมื่อเจ้าหญิงฆัวนามีชันษาครบ 16 ปี จึงได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปแห่งแฟลนเดอร์ส และออสเตรีย (Philip of Flanders and Austria) ผู้ได้รับสมญานามว่า “ฟิลิปผู้หล่อเหลา” (Philip the Handsome) แม้จะเป็นการแต่งงานทางการเมือง แต่ทั้งคู่ต่างก็ถูกตาต้องใจกันตั้งแต่แรกพบ (โดยในเวลาต่อมาทั้งคู่มีลูกชาย 2 คน และลูกสาว 4 คนด้วยกัน ซึ่งลูกทั้ง 6 คนของพวกเขาได้กลายเป็นจักรพรรดิและราชินี)
1 ปีหลังจากทั้งคู่แต่งงานกัน ได้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นกับครอบครัวของฆัวนาอย่างไม่ทันตั้งตัว พี่ชายคนโตและรัชทายาทสิ้นพระชนม์ จากนั้นอีก 1 ปี พี่สาวคนรองก็มาพลันตายจาก ฆัวนาจึงต้องกลายเป็นรัชทายาทแห่งบัลลังก์กัสติยาลำดับแรกไปโดยปริยาย เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากนั้นไม่นานพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 ผู้เป็นพระมารดา เกิดป่วยกะทันหันและเสียชีวิตลงในปี 1504 ทำให้เจ้าหญิงฆัวนาต้องขึ้นมารับตำแหน่งราชินีทันที
Master of Afflighem, Wing of Last Judgement with portraits of Philip the Handsome and Joanna of Castile, Triptych of Zierikzee, 1500, Royal Museums of Fine Arts of Belgium, Brussels, Belgium. Wikimedia Commons (public domain). จากเว็บไซต์ www.dailyartmagazine.com
ด้วยวงจรแห่งความเศร้าโศกจากการสูญเสียคนในครอบครัว ทำให้ฆัวนาเริ่มมีอาการซึมเศร้าอย่างหนัก แถมเฟอร์ดินานด์ที่ 2 ผู้เป็นพ่อยังพยายามจะเข้ามายึดอำนาจ เพราะไม่อาจทำใจกับการสูญเสียสถานะของเขาในแคว้นกัสติยาได้ เขาและฟิลิปจึงได้ร่วมมือกันป่าวประกาศออกไปว่า ฆัวนาเป็นคนบ้าคลั่งและไม่มีความสามารถที่จะปกครองราชบัลลังก์ได้
สงครามการแย่งชิงอำนาจทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากฝ่ายควีนฆัวนา คิงฟิลิป และคิงเฟอร์ดินานด์ที่ 2 แต่แล้วในปี 1506 ฟิลิปได้เสียชีวิตกะทันหันจากไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever) แต่หลายคนเห็นพ้องต้องกันอย่างลับ ๆ ว่าเขาอาจถูกเฟอร์ดินานด์วางยา (แท้จริงเป็นอย่างไรไม่อาจรู้) แม่หม้ายป้ายแดงอย่างฆัวนาที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 6 ต้องอยู่ในสภาวะของการสูญเสียคนรักซ้ำแล้วซ้ำเล่า เฟอร์ดินานด์เห็นช่องโหว่ที่จะขโมยอำนาจของลูกสาว จึงยิ่งซ้ำเติมข้อครหาว่าเธอเสียสติและไม่เหมาะสมที่จะปกครองบ้านเมืองเข้าไปอีก
Francisco Pradilla Ortiz, Juana la Loca de Pradilla, 1877, Museo del Prado, Madrid, Spain. Wikimedia Commons (public domain). จากเว็บไซต์ www.dailyartmagazine.com
  • คำครหาของราชินีผู้บ้าคลั่ง
พายุแห่งความคลั่งรักและความโศกเศร้าเสียใจถาโถมเข้าใส่ฆัวนาอย่างไม่หยุดหย่อนในเวลาไล่เลี่ยกัน จากชีวประวัติข้างต้นของควีนฆัวนา ต่อไปเราจะขอมาลงลึกในรายละเอียดกันสักหน่อย ถึงที่มาของคำว่า “ฆัวนาผู้วิปลาส”
ความบ้าคลั่งประการแรกคือ "ความคลั่งรัก" ด้วยความที่ฆัวนาหลงรักฟิลิปอย่างหมดหัวใจ แต่ฟิลิปนั้นเป็นคนเจ้าชู้และมักนอกใจเธออยู่ร่ำไป ทำให้มีข่าวลือหนาหูออกมาว่า หลังจากที่ฆัวนาคลอดลูกคนที่ 4 เธอได้ยินว่าสามีของเธอไปพัวพันกับผู้หญิงคนอื่น ด้วยความหึงหวง เธอจึงทำร้ายผู้หญิงคนนั้นด้วยกรรไกรโดยการเฉือนใบหน้าของเจ้าหล่อน จนทำให้มีข่าวกล่าวหาว่าพระองค์ขี้หึงจนบ้าคลั่งนั่นเอง
1
อีกหนึ่งข้อครหาคือ แม้ฟิลิปจะตายจากไปแล้ว แต่ฆัวนาก็ยังคงคลั่งรัก และหมกมุ่นอยู่กับศพของฟิลิปตลอดเวลา เธอต้องการกอดและจูบศพของฟิลิป โดยเล่าต่อกันมาว่า ระหว่างการเดินทางไปยังสุสานหลวง ควีนฆัวนาไม่ยอมอยู่ห่างร่างพระสวามี และยังสั่งให้เปิดหีบพระศพเพื่อจุมพิตร่างที่ไร้วิญญาณของพระสวามีอยู่หลายครั้ง ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเชื่อตามข้อกล่าวหาว่า พระองค์นั้นวิปลาสจริง
Master of the Legend of the Magdalene, Portrait of Joanna of Castile, 1496, Kunsthistorisches Museum, Vienna, Austria. จากเว็บไซต์ www.dailyartmagazine.com
นอกจากการตายของพระสวามีจะกระทบกระเทือนจิตใจของเธอแล้ว การสูญเสียครอบครัวอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นพี่ชายคนโต พี่สาวคนรอง และพระมารดาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ถือเป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเธอเช่นกัน (เรียกว่าสะสมความเศร้าโศกมาเรื่อย ๆ ก็ว่าได้)
แม้ว่าท้ายที่สุด เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่เล่าต่อกันมาตามประวัติศาสตร์นั้นจริงเท็จแค่ไหน ฆัวนามีอาการป่วยทางจิตจริงหรือไม่ แต่เหล่านักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ฆัวนาอาจจะเป็นโรคทางจิตเภท อย่างโรคซึมเศร้า โรคสองขั้ว หรือโรคจิต เนื่องจากต้องเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายตลอดช่วงชีวิต
บ้างก็วิเคราะห์ว่าพระองค์อาจเป็นโรคจิตเภทหลงผิด ซึ่งอาจสืบทอดทางพันธุกรรมภายในครอบครัว แต่เอาเข้าจริงก็อาจจะเป็นกุศโลบายของเหล่าชนชั้นปกครอง เพราะในช่วงต้นยุคใหม่ ปัญหาสุขภาพจิตในราชสำนักยุโรปนั้นไม่ใช่หัวข้อสนทนาหรือความตระหนักรู้ แต่กลับเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับราชวงศ์ในการประกาศว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่เหมาะที่จะปกครองราชบัลลังก์เสียมากกว่า
สำหรับตลอดชีวิตที่เหลือของควีนฆัวนา (อีกเกือบ 45 ปี) ได้ถูกกักขังอยู่ในห้อง (แม้ว่าสุดท้ายลูกชายของเธอ “คิงคาร์ล” ที่ไม่ได้พบหน้านานนับสิบปี จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ก็มิได้ปลดปล่อยพระมารดา และลบล้างข้อกล่าวหาความเป็นควีนผู้วิปลาสแต่อย่างใด) ทั้งร่างกายและจิตใจของควีนฆัวนาค่อย ๆ ทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดเธอเสียชีวิตในปี 1555 ตอนอายุ 75 ปี
หากใครสนใจเรื่องราวของการช่วงชิงอำนาจ และความรักของควีนฆัวนาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สามารถรับชมภาพยนตร์เรื่อง Juana la Loca หรือ Mad Love (2001) กำกับโดย Vicente Aranda กันได้ (แต่ไม่รู้ว่าจะยังหาดูกันได้อยู่ไหม t t) ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่องเด่นของวงการภาพยนตร์สเปนเรื่องหนึ่งเลย ที่ได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวที Goya Awards และเป็นตัวแทนภาพยนตร์สเปนที่ส่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศด้วย
อ้างอิง
• Joanna of Castile: Story of a Misunderstood Queen in Portraits. ANNA INGRAM. Daily Art Magazine. www.dailyartmagazine.com/joanna-of-castile/
• Juana of Castile: The Real Story Of Spain’s Mad Queen. Ann Foster. https://annfosterwriter.com/2019/06/10/juana-of-castile/
• Juana the Mad ควีนผู้ถูกแย่งอำนาจด้วยข้อหาสัญญาวิปลาส. The People. www.thepeople.co/read/7632
• Queen Juana: the mad or the betrayed?. Juliana Menegakis. Hektoen International. https://hekint.org/2021/08/24/queen-juana-the-mad-or-the-betrayed/
โฆษณา