21 มี.ค. 2023 เวลา 23:00

18เม.ย.เริ่มบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองลูกจ้างรับงานทำที่บ้าน-WFH

ประกาศราชกิจจาฯแล้ว แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 8 คุ้มครองสิทธิแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน และเวิร์คฟอร์มโฮม ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับนายจ้าง
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 20 ก ลงวันที่ 19 มีนาคม 2566 เพื่อขยายการคุ้มครองกลุ่มแรงงานรับงานไปทำที่บ้าน โดยเพิ่มเติมในมาตรา 23 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มีเนื้อหาระบุว่า
....มาตรา 23/1 เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต แลการทำงานของลูกจ้าง หรือในกรณีมีความจำเป็น นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้าง หรือที่ตกลงไว้กับนายจ้างซึ่งมีลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบกิจการหรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้โดยสะดวก ให้ลูกจ้างนำงานดังกล่าวไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้
การตกลงตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดทำเป็นหนังสือหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง โดยอาจตกลงให้มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(1) ช่วงระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง
(2) วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา
(3) หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด รวมทั้งการลาประเภทต่าง ๆ
(4) ขอบเขตหน้าที่การทำงานของลูกจ้างและการควบคุมหรือกำกับการทำงานของนายจ้าง
(5) ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็น อันเนื่องจากการทำงาน เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน
ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง...
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ตั้งแต่ 18 เม.ย.2566)
โดยที่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้าง สามารถตกลงกันให้ลูกจ้างสามารถนำงานไปทำนอกสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้าง และเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง ตลอดจนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิง
โฆษณา