21 มี.ค. 2023 เวลา 10:54 • ประวัติศาสตร์

สหรัฐฯ บุกอิรัก เปิดฉาก สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 (ตอน 4/4)

ความเดิมตอนที่แล้ว ผลจากสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 ทำให้อิรักถอนกำลังออกจากคูเวตสำเร็จในช่วงต้นปี 1991
ตอนนั้นอิรักแพ้ย่อยยับ ส่วนคูเวตกลับมาเป็นเอกราชอีกครั้ง
ในเวลานั้นอิรักอยู่ภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซนต่อไป
ส่วนสหรัฐฯ หลังจากจอร์จ บุช (ผู้พ่อ) มาถึงสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ไม่ได้ไปแตะต้องดุลอำนาจในอ่าวเปอร์เซียอย่างเข้มข้นเหมือนรัฐบาลรีพับลิกันก่อนหน้าและหลังจากนั้น
พอมาทศวรรษ 2000 เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก 9/11 มีเครื่องบิน 2 ลำพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด และเพนตากอน ซึ่งถือว่าเป็นการก่อร้ายที่เหยียบจมูกมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ อย่างมาก
ในเวลานั้น กลุ่มที่ออกมากล่าวอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง​ คือ กลุ่มอัลไกดา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตาลีบัน ของอัฟกานิสถาน
วันเดียวกันที่เกิดเหตุการณ์ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู.บุช ผู้ลูก เรียกประชุมด่วนที่แคมป์เดวิด เพื่อเริ่มปฏิบัติการล้างแค้นอัลไกดาและรัฐบาลตาลีบัน
หนึ่งในผู้ร่วมประชุม คือ Paul Wolfowitz ซึ่งเป้นรัฐมนตีช่วยกลาโหม ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของจอร์จ บุช ผู้พ่อ ตอนที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำสงครามอ่าวเปอร์เซีย ครั้งที่ 1 ก็ร่วมประชุมด้วย
โดยเขา คือ ผู้ที่พยายามบอกว่า “อิรัก” เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อการร้ายในครั้งนี้ โดยมีซัดดัม ฮุสเซนเป็นหัวโจกของการก่อภัยคุกคามโลก
ตอนนั้นที่ประชุมปฏิเสธที่จะคุยเรื่องอิรักต่อ
เพราะฝั่ง CIA ยืนยันหลายครั้งในที่ประชุมว่า เหตุการณ์ 9/11 เป็นผลงานของกลุ่มอัลไกดา ที่มีแกนนำคือ Osama Bin Laden ซึ่งเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย บุตรของนักธุรกิจก่อสร้างที่รวยเป็นอันดับ 4 ในซาอุฯ ที่ใช้ฐานที่อัฟกานิสภานนั้น
โดยอิรักกับซัดดัม ฮุสเซน ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน..
แต่ Paul Wolfowitz ก็ไม่ละความพยายามในการโน้มน้าวให้ จอร์จ ดับเบิลยู.บุช ผู้ลูก โจมตีอิรัก
ด้วยการชูเหตุผลเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน และความโยงใยของเครือข่ายการก่อการร้าย
ทั้งที่เวลานั้น CIA ยังยืนกรานว่าทั้งสองกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกัน
ที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีฉันทามติในการรุกรานอิรัก ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐาน ที่แน่นหนาพอว่าอิรักเชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด 9/11
แม้ทำเนียบขาวจะไฟเขียว แต่ยังเริ่มต้นปฏิบัติการไม่ได้ ต้องให้สหประชาชาติ (UN) อนุมัติ ซึ่งก็ต้องมีหลักฐานแน่ชัด ว่าประเทศที่เป็นเป้าหมายเป็นภัยคุกคามอย่างไร
สหรัฐฯ ผลักดันให้ UN ส่ง Resolution 1441 หรือ ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอิรัก
ให้ องค์กรปรมาณูเพื่อสันติภาพ (IAEA) และ องค์กรตรวจสอบการครอบครองอาวุธของสหประชาชาติ (UNMOVIC) เข้าไปตรวจสอบ
ตอนนั้น ซัดดัม ฮุสเซน รู้ดีว่า ถ้าไม่ยอม มีปัญหาแน่ เลยต้องจำยอม
ระหว่างรอผลการตรวจสอบ Colin Powell รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในเวลานั้น ได้โชว์สารพิษ Anthrax ซึ่งเป็นสารเคมีที่ถูกใช้ในการคุกคามพลเมืองอเมริกันหลัง 9/11 ว่าซองนี้คือ หลักฐานส่วนหนึ่งที่บอกว่า อิรักครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงมหาศาล (WMD) ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)
แต่ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ผลการตรวจของสองหน่วยงาน ระบุว่า WMD ที่ถูกกล่าวอ้างนั้นมีจริง แต่เป็นอาวุธที่ถูกสร้างขึ้นตอนอิรักรบกับอิหร่าน ตอนศตวรรษที่ 80 และไม่ได้ถูกแตะต้องอีกเลยตั้งแต่ ปี 1991 และสารพิษที่อ้างว่าจะไปผลิตหัวรบก็น้อยเกินกว่าจะเป็นภัยคุกคาม
ส่วนขีปนาวุธ Al Samoud ที่อิรักมีในเวลานั้น ก็มีพิกัดการยิงที่สั้นกว่า 150 กิโลเมตร
พูดง่ายๆว่า UNMOVIC ไม่พบหลักฐานว่า อิรักครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงมหาศาล (WMD)
ด้าน IAEA ระบุชุดว่า ปริมาณสารกัมมันตรังสีตั้งต้นที่จะใช้ในการทำอาวุธนิวเคลียร์ของอิรักมีจริง แต่น้อยเกินกว่าจะผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้
จากการแถลงดังกล่าว ทำให้ประชาคมนานาชาติ ยังเชื่อว่า อิรักไม่ได้เป็นภัยคุกคามของโลก แม้แต่ชาวสหรัฐฯเองก็เช่นกัน
ด้าน UN และนานาชาติ ก็ไม่เห็นด้วยกับการไปรุกรานอิรัก เช่นเดียวกับบรรดาชาติอาหรับที่พยายามติดต่อเข้าไปทำเนียบขาว เพื่อไม่ให้ใช้กำลัง แต่ไม่สำเร็จ
เพราะฉะนั้น ในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 สหรัฐฯจึงมีพันธมิตรแค่ 3 ชาติ คือ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และโปแลนด์
ความดื้อดึงของสหรัฐฯ ในตอนนั้น ทำให้ผู้คนกว่า 80 ประเทศรวมตัวเคลื่อนไหวต่อต้านการรุกรานของอิรัก
ซึ่งถือเป็นสถิติการประท้วงที่กินวงกว้างที่สุดในโลก ในกินเนสส์บุ๊ค จนถึงวันนี้
แต่การประท้วงนั้นก็ไม่เป็นผล 19 มี.ค 2003 สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 2 เปิดฉากขึ้น
 
การรบครั้งนี้ สหรัฐฯและพันธมิตร ใช้คูเวตเป็นฐานทัพในการรุกราน
เริ่มจากรุกรานทางตอนใต้ บริเวณปากอ่าวเปอร์เซียทางตอนเหนือ เผด็จศึกเข้าถึงแบกแดด ภายใน 1 เดือน 1 สัปดาห์กับ 4 วัน
วันที่ 1 พ.ค. 2003 ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู.บุช ประกาศชัยชนะการรุกรานสมบูรณ์แบบ
การรบครั้งนั้น มีทหารฝั่งตะวันตกเสียชีวิตไม่ถึง 200 นาย บาดเจ็บ 500 คน
ส่วนทหารและพลเรือนอิรัก เสียชีวิต 45,000 คน
สหรัฐฯ สถาปนาการปกครองอิรักใหม่ โดยมี Nouri Al Maliki เป็นนายกฯ
ส่วนดินแดนทางเหนือ ได้รับการสถาปนาเป็นเคิร์ดิสถาน
ซัดดัม ฮุสเซ็น ถูกจับได้เดือนพ.ย.
ศาลตัดสินประหารชีวิต ข้อหา อาชญากรต่อมวลมนุษยชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารชาวมุสลิมชีอะห์ของอิรัก 148 คน
ที่สุด จบชีวิตด้วยการถูกแขวนคอ ในปี 2006 ปิดตำนานทรราชที่ครองอำนาจ 25 ปี
ส่วนบรรดาทหารภายใต้ระบอบซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นอิรัก-ซุนนี ที่ถูกปลดประจำการกลายเป็นคนว่างงาน ไม่มีที่ไป ไม่มีที่ยืนในสังคม
สิ่งเดียวที่มีคือความแค้น และประสบการณ์การรบ
พวกเขารู้ดีว่า อัลไกดา อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เลยไปร่วมมือกับอัลไกดา สร้างความปั่นป่วนให้สหรัฐ และพันธมิตร รวมถึงทั่วทุกมุมโลก ในนามองค์กรรัฐอิสลาม (ISIS) ที่สหรัฐฯต้องใช้งบและกำลังคนมหาศาลในการจัดการอีกเป็นทศวรรษ
ที่มา : 8 Minute History EP.181
โฆษณา