21 มี.ค. 2023 เวลา 11:47 • การศึกษา

คณะสอนศาสนาชาวอเมริกันกับการศึกษาของไทย

เมื่ออังกฤษทำสงครามชนะพม่าครั้งแรกใน  พ.ศ. 2367  ยึดเอาหัวเมืองชายทะเลทางตอนใต้ไว้ได้แล้ว ลอร์ด  แอมเฮิร์สต์  ผู้สำเร็จราชการจากอินเดีย  ส่งกัปตัน  เฮนรี่  เบอร์นี่  เป็นทูตเข้ามาเจรจาทางการค้ากับไทย   ไทยกับอังกฤษลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าครั้งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  20  มิถุนายน  พ.ศ. 2369  หนังสือสัญญาฉบับนั้นต้องทำกันถึง  4  ภาษาคือ  ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  ภาษาโปรตุเกส  และภาษามลายู
ต่อจากนั้นเรือสินค้าของอังกฤษก็เข้ามาติดต่อค้าขายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  มีพ่อค้าอังกฤษชื่อนายโรเบิร์ต  ฮันเตอร์  เข้ามาตั้งห้างขายอยู่ที่ตำบลกุฎิจีน  โปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงวิเศษพานิช
เมื่อทูตอังกฤษกลับไปแล้ว  พวกสอนศาสนาชาวอเมริกันก็เข้ามาติดต่อกับไทยบ้าง  เมื่อ พ.ศ. 2371พวกแรกเป็นพวกโปรเตสแตนท์ ชื่อนายกัตสลาฟและนายทองลิน  ทั้ง  2  คนเคยสอนศาสนาอยู่ในประเทศจีน  ต่อมาเมื่อทราบว่ามีจีนมาอยู่ในเมืองไทยมาก  จึงได้ติดตามเข้ามาสอนศาสนาแก่พวกจีนในเมืองไทยด้วย
พวกสอนศาสนาชาวอเมริกันไม่ได้เป็นแบบพระนักสอนศาสนานิกายอื่น แต่พยายามเข้าถึงประชาชนและข้าราชการไทย  เที่ยวแจกหนังสือสอนศาสนา  (ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาจีน)  แจกยารักษาโรค  ช่วยเหลือทางด้านการรักษาพยาบาล  และสอนวิชาแปลก ๆ ให้  จึงเป็นที่ชอบพอของคนทั่วไป
เราเลยเรียกพวกสอนศาสนาเหล่านี้ว่าหมอสอนศาสนา  บางคนก็เป็นหมอจริง ๆ  บางคนก็ได้ดุษฎีบัณฑิตทางศาสนาหรือแม้จะไม่ได้ปริญญาอะไรเลยก็พลอยถูกเรียกว่าหมอไปด้วย
คนไทยชั้นสูงในสมัยนั้นเริ่มไหวตัวในความเจริญของพวกตะวันตก และเห็นว่าการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและวิชาการสมัยใหม่ต่าง ๆ  เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติ  จึงพยายามคบกับพวกฝรั่งโดยใกล้ชิดยิ่งกว่าแต่ก่อน  และปรากฏว่าพวกสอนศาสนาชาวอเมริกันชุดแรกรู้จักคุ้นเคยกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)   และหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  เป็นอย่างดี
เมื่อพวกสอนศาสนาชาวอเมริกันชุดแรกกลับไปแล้วคณะอเมริกันแบบติสท์ชุดที่  2  และชุดที่  3  ซึ่งเป็นคณะอเมริกัน  บอร์ด  ออฟ  คอมมิชชั่นเนอร์  ฟอร์  ฟอเรน  มิชชัน  (American Board of Commissioner for Foreign Mission)  ก็ตามเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2376  และ  2378   ตามลำดับ  มาพักรวมกันอยู่ที่บ้านวัดเกาะ
คณะสอนศาสนาชุดที่  3  นี้  มีบุคคลสำคัญที่ทำให้การเรียนหนังสือไทยแพร่หลายกว้างขวางไปในหมู่ราษฎรชาวไทยได้รวดเร็วกว่าแต่ก่อนเป็นอันมากรวมอยู่ด้วย  ท่านผู้นี้คือนายแพทย์  ดี.บี.บรัดเลย์และภรรยา  คณะสอนศาสนาชุดที่มาใหม่ลงมือศึกษาภาษาไทยเพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ศาสนาของตนจนใช้การได้
หมอบรัดเลย์เป็นแพทย์แผนปัจจุบันคนเดียวในประเทศไทยสมัยนั้น  ที่พยายามนำเอาวิชาแพทย์สมัยใหม่และการผ่าตัดเข้ามาใช้รักษาคนไข้ที่เป็นคนไทย  ช่วยฉีดยาป้องกันอหิวาตกโรคและปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้  จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ข้าราชการและเชื้อพระวงศ์  ในที่สุดได้เป็นนายแพทย์แห่งราชสำนักในรัชกาลที่  4  และช่วยสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันให้แก่หมอไทยด้วย
ท่านผู้นี้ได้ช่วยสอนภาษาอังกฤษให้แก่บรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านด้วยกัน  ผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษรุ่นแรกที่สุดของเมืองไทยจนใช้การได้ดี มีพระบาทสมเด็จพระจอมเก้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่ทรงผนวชอยู่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  หลวงสิทธินายเวรมหาดเล็ก กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  พระยากษาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)  หม่อมราโชทัย  หลวงสุรวิเศษ (นายดิศ)  และกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ เป็นต้น
ส่วนภรรยาหมอบรัดเลย์ได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จขึ้นของราชย์แล้ว  ให้เข้าไปถวายพระอักษรและขนบธรรมเนียมแบบฝรั่งแก่บรรดาเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในนอกจากการเรียนภาษาอังกฤษแล้ว  ยังมีการเรียนวิชาต่อเรือกำปั่น  วิชาแพทย์  วิชาเครื่องจักรกล  วิชาถ่ายรูป  และวิชาเดินเรือ  เป็นต้น
--------------------
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
โฆษณา