22 มี.ค. 2023 เวลา 00:16 • ประวัติศาสตร์

วัดดุสิต อยุธยา

ออกมานอกเกาะเมืองอยุธยา ก่อนถึงวัดใหญ่ชัยมงคล ทางด้านขวา มีศาลไม้หลังย่อมอยู่ริมถนน
ศาลนี้ คือ ศาลเจ้าแม่ดุสิต ที่ตั้งของวัดดุสิต
ศาลเจ้าแม่ดุสิต
วัดดุสิต ในยุคพระนารายณ์มหาราชเป็นที่พำนักของเจ้านายท่านหนึ่ง ที่ถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าชื่ออะไรแน่
นั่นคือ เจ้าแม่วัดดุสิต
ในเอกสารตำราเก่า บอกเล่าว่า ท่านเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่มี2พระองค์ นาม บัว กับ อำไพ จึงไม่มีใครฟันธงได้ว่าพระองค์ใด
แต่ที่แน่ๆท่านแต่งงานกับคนในเชื้อสายพระยาเกียรติพระราม ขุนนางมอญสวามิภักดิ์สมเด็จพระนเรศ
ป้ายประวัติ
มีบุตร 2 คน หนึ่งนั้น นาม เหล็ก ผู้น้องนั้นนาม ปาน
เมื่อเจริญวัยรับราชการเติบโตขึ้นรั้งโกษาธิบดีทั้งคู่
พระยาปานผู้น้อง เมื่อมียศใหญ่ ก็ได้บูรณะวัดขึ้นใกล้โรงเก็บเรือหลวง นาม วัดโกษาวาส ยุคถัดมาเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงผนวช ปัจจุบัน คือ วัดเชิงท่า
ภายในศาล
ขรัวเจ้าวัดดุสิตนี้ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงให้ความเคารพนับถืออย่างมาก และเชื่อว่า ทรงยำเกรงมาก
เพราะในเหตุ หลวงสรศักดิ์ เจ้าของฉายา คุมนักเลงทั้งแผ่นดิน ต่อย เจ้าพระยาวิชเยนทร์ จนกรามโยก ในคราวความขัดแย้งสึกพระไปสร้างป้อม
ซากโบราณสถาน
ว่ากันว่า พระนารายณ์กริ้วเรื่องนี้ ส่วนหลวงเดื่อท่านไปขอให้ขรัววัดดุสิตช่วยเหลือ ทำให้ผ่านพ้นโทษไปได้
ซากโบราณสถาน
สิ่งที่หลงเหลือในวันที่พบเห็น วัดดุสิตเหลือเพียงซาก ส่วนเศษชิ้นเจดีย์ และฐานที่เดาว่า เป็นวิหารหรือโบสถ์ พอให้จับเค้าโบราณสถาน
เสียดายที่อาณาบริเวณกลายเป็นบ้านเรือนผู้คนและถนนไปเสีย
ทิ้งไว้เพียงเรื่องราว....
โฆษณา