22 มี.ค. 2023 เวลา 07:24 • ข่าว

เมื่อมีใครสักคนเล่าว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความชื่นชมคุณตำรวจทั้ง 2 ท่านที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุนะคะ ก็คือ ส.ต.ท.วรชัย ศิริอัฐ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 1 และ ส.ต.ท.นฤชิต กอพงษ์ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 1 ซึ่งเป็นการกระทำที่น่ายกย่องนับถือมากๆ ค่ะ
...
กรณีแบบนี้แม้จะไม่ได้เห็นข่าวกันมาก แต่ถือว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยค่ะ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้ใหญ่มักจะสอนให้เด็กๆ ระมัดระวังคนแปลกหน้า ห้ามไม่ให้เด็กๆ ไปในที่เปลี่ยว และสอนให้แต่งกายมิดชิดไม่โป๊
แต่จากที่ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิศานติวัฒนธรรมมาเป็นระยะหนึ่ง และจากการติดตามข่าวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้พบข้อมูลว่า
- ผู้กระทำส่วนมากเป็นคนใกล้ตัวมากกว่าคนแปลกหน้า เช่น พ่อแท้ๆ พ่อเลี้ยง ครู รุ่นพี่ เพื่อน คนข้างบ้าน
- สถานที่เกิดเหตุส่วนมากเป็นที่พักส่วนตัวมากกว่าข้างนอก
- ชุดที่ผู้ประสบเหตุ(เหยื่อ) สวมใส่ขณะเกิดเหตุเป็นชุดธรรมดา ไม่ได้โป๊หรือวาบหวิวแต่อย่างใด
...
ความน่าเศร้ามากๆ เวลาที่มีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นก็คือ
- คนฟังไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง บ้างก็ว่าแต่งเรื่องกุเรื่องขึ้นมา เพราะผู้กระทำมักมีบุคลิกน่าเชื่อถือ ไม่ได้ทรงโจรทรงแบดอะไรเลย บางคนมีตำแหน่งข้าราชการหรือเป็นพระด้วยซ้ำไป หรืออย่างในกรณีข่าวนี้ ผู้กระทำคือพ่อที่ภายนอกดูเป็นคนรักลูกมาก
- Victim Blaming โดยเฉพาะถ้าผู้ถูกกระทำเป็นผู้หญิงก็มักจะถูกตั้งคำถามเช่น "ทำไมไม่สู้" "ทำไมไม่หนีไป" "ได้ขัดขืนรึเปล่า" ทำให้หลายคนไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หรืออาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือเลยจนเวลาผ่านไปหลายปีและผลกระทำที่เกิดขึ้นมันรุนแรงไปแล้ว
...
สิ่งที่อยากเชิญชวนให้ทำเมื่อมีคนมาเล่าว่าเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ในกรณีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินพิพากษา คือ
**ควรเชื่อไว้ก่อนและให้ความช่วยเหลือโดยทันทีไม่ต้องลังเลหรือตั้งคำถามกับคนที่มาเล่า**
เพราะเราไม่ได้ทำงานเป็นผู้พิพากษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดี
จึงไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องไปสอบปากคำหาความจริงจากผู้ประสบเหตุ
ในฐานะประชาชนคนธรรมดา การช่วยเหลือที่ดีที่สุดก็คือ
- รับฟังอย่างไม่กล่าวโทษ ไม่ตัดสิน ไม่ตั้งคำถามโดยเฉพาะคำถามคุกคาม เช่น "ได้ร้องมั้ย" "เขาสอดใส่หรือยัง" "ไปกับเขาทำไม" คำถามเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวนสอบสวนไม่ใช่หน้าที่ของเราค่ะ
- ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พม. 1300 ตำรวจไซเบอร์ TCAC ในกรณีที่มีภาพหรือคลิปอนาจารถูกบันทึกไว้ในอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้กระทำ
- ไม่ต้องฟังหูไว้หูและอยู่เคียงข้างผู้ประสบเหตุ ไม่ว่าผลของคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้เชื่อเสมอว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียหน้าเสียฟอร์มหรือคดีจะพลิก ขอให้เชื่อและช่วยผู้ประสบเหตุเอาไว้ก่อนเสมอค่ะ
...
สิ่งที่คุณตำรวจ 2 ท่านนี้ทำก็ถือเป็นพฤติกรรมที่น่าเลียนแบบนะคะ
เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครที่เอาเรื่องตัวเองถูกล่วงละเมิดมาล้อเล่น แม้เรื่องราวจะดูไม่น่าเชื่อถือเลยก็ตาม ผู้ประสบเหตุหลายคนรั้งรอเวลาที่จะออกมาพูดจนถูกมองว่าต้องการทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่าย แต่จากการทำงานเราพบว่า ที่ผู้ประสบเหตุออกมาเปิดเผยช้า ก็เพราะกว่าที่สภาพจิตใจจะพร้อมเล่า เค้าต้องต่อสู้กับสภาวะใจตัวเองอย่างมหาศาลเลยค่ะ
โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้กระทำเป็นผู้ที่มีบุญคุณ บาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นจะลึกมากจนยากจะเยียวยา แค่นึกถึงเหตุการณ์ขึ้นมาก็ทั้งหวาดผวา สับสน ผิดหวัง เจ็บปวด กว่าเค้าจะเรียบเรียงเล่ามาเป็นเรื่องราวได้ ต้องอาศัยเวลาค่ะ
ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/PeaceCultureFoundation ดูน้อยลง
โฆษณา