22 มี.ค. 2023 เวลา 11:01 • ธุรกิจ

สวอท์ช (Swatch) ค.ศ.1983

Swatch เกิดขึ้นมาท่ามกลางวิกฤตอุตสาหกรรมนาฬิกาที่เคยรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนาฬิกา หลังจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นคิดค้นและจัดจำหน่ายนาฬิกาควอตซ์ที่ใช้แบตเตอรีแทนการไขลานหรือเก็บสะสมพลังงานในช่วงทศวรรษ 1970
นวัตกรรมนี้ทำให้นาฬิการาคาถูกกว่าที่เคยเป็นมา แม่นยำกว่าเป็นร้อยเท่า แถมง่ายต่อการรักษา จนทำให้นาฬิกาดั้งเดิมแบบสวิตเซอร์แลนด์มีส่วนแบ่งการตลาดลดน้อยไปเรื่อยๆ และสองบริษัทนาฬิกายักษ์ใหญ่ของประเทศอย่าง ASUAG และ SSIH ตกที่นั่งลำบาก
ฮาเยก ( Nicolas G. Hayek ) ที่เดิมเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ เข้ามาช่วยปรับโครงสร้างองค์กรและต่อมาควบรวมทั้งสองกิจการเข้าด้วยกัน เขามองว่าปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของบริษัทคือ มีจำนวนบริษัทย่อยที่แยกกันบริหารมากเกินไป
เช่น ในกรณีของ ASUAG มีบริษัทย่อยมากมายกว่า 100 บริษัท และบริษัทส่วนใหญ่ จะแยกกันดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การทำวิจัย และการทำการตลาด เพื่อปรับทิศทางและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต กลยุทธ์ของเขาคือการผลิตนาฬิกาที่ถูกไม่แพ้ฝั่งญี่ปุ่น แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับ
Gent
จากโจทย์นี้ แทนที่จะผลิตนาฬิกาไขลานหรูที่อาศัยงานฝีมือและความคราฟต์ บริษัทเลือกผลิตเป็นนาฬิกาควอตซ์ด้วยเครื่องจักรที่ผลิตได้ปริมาณมหาศาลเหมือนกัน แต่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือน
และวิจัยจนใช้ชิ้นส่วนกลไกเหลือเพียง 51 ชิ้น ยึดกันด้วยสกรู 1 ตัว จากเดิมที่ต้องใช้ 91 หรือเป็นร้อยชิ้นส่วน เป็นโมเดลชื่อ Gent ที่มีขนาดหน้าปัดเล็ก 34 มิลลิเมตร วางจำหน่าย 12 แบบที่เรียบง่าย ต่างสีสันกัน ครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1983
ดีไซน์นั้นอาจดูเรียบง่ายแต่ทรงพลัง เมื่อราคาไม่แพงและถูกนำเสนอให้เป็นเครื่องประดับแฟชั่น ผู้ใหญ่ใส่ได้ เด็กใส่ก็สวยงามจนชวนให้ซื้อเป็นของฝากเรือนแรก ยอดขายจึงพุ่งทะยานสู่ล้านเรือนภายในปีเดียว
และผลิตไปมากกว่า 3,503,000 เรือน ภายในปี ค.ศ.1984 ทำให้เข็มนาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์จึงไม่หยุดเดินและกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง
โปรเจกต์ Swatch Art Special ร่วมมือกับศิลปิน
ในปี ค.ศ.1985 Swatch สร้างเสน่ห์แบบฉบับของตัวเองด้วยโปรเจกต์ Swatch Art Special ร่วมมือกับศิลปิน พางานศิลปะที่เคยต้องตระเวนชมตามพิพิธภัณฑ์ มาเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิกาที่ถูกสวมใส่บนข้อมือของผู้คนในชีวิตประจำวัน
กลายเป็นว่าผลงานของศิลปินเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง ส่วน Swatch กลายเป็นผู้ผลิตคอลเลกชั่นสุดพิเศษที่บรรดานักสะสมและสายอาร์ตไม่อยากพลาด
คอลเลกชั่นแรกภายใต้แนวคิดนี้คือ Swatch Kiki Picasso ที่นำภาพกราฟิกรูปภรรยาของศิลปินชาวฝรั่งเศส Christian Chapiron (นามแฝงของเขาคือ Kiki Picasso) มาอยู่บนหน้าปัดนาฬิกา
ผลิตเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่นเพียง 140 เรือนเท่านั้น ลูกเล่นคือรูปบนหน้าปัดแต่ละเรือนจะมีส่วนผสมของสีสันที่แตกต่าง รวมทั้งหมดมี 120 แบบ พร้อมด้วยลายเซ็นของ Picasso บนสายรัด เป็นหนึ่งในคอลเลกชั่นที่ต้องประมูลด้วยราคาอันสูงลิ่วเพื่อให้ได้ครอบครอง
Keith Haring
นับแต่นั้นมา Swatch ร่วมมือกับศิลปินหลากหลายแขนงนับไม่ถ้วน เช่น ศิลปินกราฟฟิตี้ Keith Haring และประติมากร Mimmo Paladino บางคอลเลกชั่นก็แสดงความสนุกที่แหวกแนว
เช่น One More Time ที่ออกแบบโดยจิตรกร Alfred Hofkunst เป็นนาฬิการูปทรงคล้ายเบคอนและไข่ แตงกวา และพริก วางจำหน่ายเพียง 9,999 เรือนที่ร้านอาหารเป็นหลัก เมื่อฉีกซองพลาสติกที่บรรจุนาฬิกาออกมา สภาพการใช้งานจะไม่คงทนนัก ไม่ต่างอะไรกับอาหารที่มีวันหมดอายุ
ความหลงรักในศิลปะของ Swatch ยังจริงจังมากจนถึงขั้นร่วมทุนซื้อโรงแรมในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อเปิดให้เป็นที่พำนักและจัดแสดงผลงานของศิลปินในชื่อ The Swatch Art Peace Hotel ซึ่งเปิดมานานกว่า 10 ปีแล้ว
Swatch x MoMA ซีรีส์ Museum Journey (Photo By Swatch)
นอกจากนี้ ช่วงปีที่ผ่านมา Swatch ยังจับมือกับพิพิธภัณฑ์มากขึ้นเพื่อนำผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์มาอยู่ใกล้ชิดผู้คน เช่น Museum of Modern Art (MoMA) ที่มีภาพวาด The Starry Night ของปิกัสโซ
และล่าสุด ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในปารีสอย่าง Center Pompidou ในปีนี้ จัดแสดง 6 ผลงานของศิลปิน 6 ท่าน ในรูปแบบนาฬิกาที่วางจำหน่าย ยิ่งเด่นชัดว่า
นอกจากศิลปะแล้ว Swatch ยังเป็นแบรนด์นาฬิกาที่จริงจังเรื่องกีฬา คนไทยอาจไม่คุ้นเคยกับมิตินี้ของ Swatch มากนัก เพราะพวกเขามักทำการตลาดผ่านการสนับสนุนนักกีฬาหรือการแข่งขันกีฬาที่ไม่อยู่ในกระแสหลักตามวิถีชีวิตเราเสียเท่าไหร่
เช่น เซิร์ฟบอร์ด วอลเลย์บอลชายหาด และสโนว์บอร์ด ที่ Swatch เพิ่งเป็นพาร์ตเนอร์สนับสนุนการแข่งขัน Laax Open ที่สวิตเซอร์แลนด์
นาฬิกา Swatch ในการแข่งขัน Laax Open ที่สวิตเซอร์แลนด์
ในเชิงแบรนด์ การนำผลิตภัณฑ์ไปเกี่ยวข้องกับนักกีฬาเป็นการสื่อสารเรื่องราวว่า Swatch เป็นนาฬิกาที่สวมใส่ไปโลดโผน ลุยได้ในทุกโอกาสและสภาพอากาศ ไม่จำเป็นต้องทางการหรือสวมใส่ให้เข้ากับยูนิฟอร์มเหมือนนาฬิกาสวิสหลายๆ แบรนด์ และทำให้กีฬาอยู่ในความสนใจของผู้คนมากขึ้น
อีกหนึ่งความเกี่ยวโยงกับโลกกีฬาคือการจับเวลาที่ต้องอาศัยความแม่นยำ ซึ่ง Swatch ได้รับหน้าที่เป็น Official Timekeeper ของการแข่งขันโอลิมปิกในปี ค.ศ. 1996, 2000 และ 2004 รวมทั้งมีการวางจำหน่ายรุ่นใหม่ๆ
ตามวาระการแข่งขันเหล่านี้ที่บริษัทเข้าไปพาร์ตเนอร์ด้วย เช่น Swatch x Roland Garros สำหรับการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมที่ประเทศฝรั่งเศส และ The Olympic Winter Games Beijing 2022 เพื่อเฉลิมฉลองการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ด้วยการนำเสนอทิวทัศน์และกีฬาแต่ละประเภทบนเรือนนาฬิกา
Swatch แข็งแกร่งด้าน R&D มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครือ Swatch Group มีบริษัทที่ดูแลการผลิตนาฬิกาตั้งแต่ต้นน้ำหรือชิ้นส่วนเล็กๆ ของนาฬิกาด้วย ทำให้มีองค์ความรู้เพียบพร้อมพัฒนานวัตกรรมแปลกใหม่
นาฬิการุ่น SISTEM51
ในปี 2013 Swatch เปิดตัวนาฬิการุ่น SISTEM51 เป็นการหวนกลับคืนสู่นาฬิกาออโตเมติกของ Swatch ที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 1991 แต่ความพิเศษของรุ่นนี้คือกลไกประกอบขึ้นจากเพียง 51 ชิ้นส่วนที่ยึดด้วยน็อตตัวเดียวเท่านั้น
ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นที่ต้องใช้เป็นร้อย โดยด้านหลังของกรอบนาฬิกาถูกออกแบบให้โปร่งใส ทำให้มองเห็นมูฟเมนต์ของกลไกได้อย่างชัดเจนตามดีเอ็นเอของ Swatch และมีคำเปรยเท่ๆ ว่านาฬิการุ่นนี้ ด้านหน้าบอกเวลา ด้านหลังบอกเรื่องราว
อีกหนึ่งนวัตกรรมที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างดีคือ Swatch Flymagic ที่พัฒนาต่อยอดจาก SISTEM51 โดยเสริมนวัตกรรมแฮร์สปริงนิวาครอง (Nivachron) ที่ผลิตจากไทเทเนียมอัลลอย
พัฒนาร่วมกับผู้ผลิตนาฬิกาหรู Audemars Piguet ทำให้สนามแม่เหล็กไม่มีผลต่อการทำงานของนาฬิกา แก้ปัญหาความเที่ยงตรงของเวลาที่กวนใจคนรักนาฬิกาออโตเมติก รวมทั้งแตกต่างด้วยหน้าตาที่ไม่มีหน้าปัดเหมือนนาฬิกาทั่วไป
Swatch Flymagic
แต่นำโรเตอร์ที่ปกติอยู่ด้านหลัง ขึ้นมาแสดงพร้อมกับเข็มนาฬิกาด้านหน้า ดูทั้งเวลาและการทำงานของกลไกได้พร้อมกัน แถมเข็มวินาทียังเดินทวนเข็มด้วย รุ่นนี้ผลิตเป็นลิมิเต็ดเอดิชั่น
มีวางขายเพียง 60 เรือนในไทย และ 500 เรือนทั่วโลกเท่านั้น จุดประสงค์อาจไม่ใช่การสร้างกำไรสูงสุด แต่เป็นการประกาศศักดาของ Swatch ว่าเรื่องเทคโนโลยีเราไม่เป็นสองรองใคร
ปัจจุบันบริษัท Swatch Group มีมูลค่าบริษัทประมาณ 22,000 ล้านสวิสฟรังก์ หรือราว 737,000 ล้านบาท
แบรนด์นาฬิกาภายใต้บริษัท Swatch Group ได้แก่ Breguet, Harry Winston, Blancpain, Glashütte Original, Léon Hatot, Jaquet Droz, Omega, Longines, Rado, Union Glashütte, Tissot, Calvin Klein (นาฬิกาและจิวเวลรี่), Certina, Mido, Hamilton, Balmain, Swatch และ Flik Flak
รายได้ของ Swatch Group
ปี 2014 รายได้ 291,752 ล้านบาท
ปี 2015 รายได้ 283,109 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 253,026 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ รายได้ของบริษัท 58.3% หรือเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด มาจากยอดขายในเอเชีย
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference สวอท์ช (Swatch) :
โฆษณา