23 มี.ค. 2023 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

CURRENT ACCOUNT ดุลบัญชีเดินสะพัดคืออะไร "ขาดดุล" แย่กว่า "เกินดุล" หรือไม่

หลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง ไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทย จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาคึกคักจึงคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดอาจกลับมาเกินดุลได้อีกครั้ง เหมือนกับช่วงก่อนโควิด 19 ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในข่าวกันมาบ้าง แล้วมันคืออะไร สำคัญอย่างไร และเกินดุลกับขาดดุลมีผลต่างกันอย่างไร
11
ดุลบัญชีเดินสะพัดคืออะไร
ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นผลรวมสุทธิระหว่างรายรับ-รายจ่ายจากธุรกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงระหว่างผู้ที่อาศัยในประเทศ (resident) กับอาศัยในต่างประเทศ (non-resident) โดยไม่ได้แบ่งที่สัญชาติ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน
1
ได้แก่ (1) ดุลการค้า ซึ่งแสดงรายได้และรายจ่ายจากการส่งออกและนำเข้าสินค้า (2) ดุลบริการ ที่เป็นผลรวมสุทธิของรายได้ เช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายจ่าย เช่น การใช้บริการเรือต่างชาติในการขนส่งสินค้า (3) รายได้ เช่น เงินเดือนที่ได้รับจากการทำงานในต่างประเทศ หรือผลตอบแทนจากการลงทุนหลักทรัพย์ และ (4) เงินโอน เช่น เงินที่ญาติในต่างประเทศโอนกลับมาให้ หรือการให้เงินช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติ
ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดจะสะท้อนการไหลเข้า-ออกของเงินตราต่างประเทศจากธุรกรรมในภาคเศรษฐกิจจริง โดยประเทศที่ "เกินดุล" จะมีรายรับสูงกว่ารายจ่าย แต่หาก "ขาดดุล" จะมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ หรืออีกนัยหนึ่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดสะท้อนการออมของประเทศนั่นเอง
1
ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ใช้ติดตามเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งแนวโน้มจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อย่างไทยที่ดุลบัญชีเดินสะพัดก่อนเกิดโควิด 19 ในปี 2562 มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยมีทิศทางเคลื่อนไหวตามดุลการค้าและดุลภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่ารวมกันถึง 2.3 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ประมาณ 14% ของจีดีพี อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัด
อาทิ (1) ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เพราะรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้มีความต้องการนำเข้ามากขึ้น (2) ภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า ที่ส่งผลต่อการส่งออกของประเทศ (3) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งกำหนดคุณภาพและความหลากหลายในการผลิตรองรับความต้องการในตลาดโลก
(4) เทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ ที่ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันและความจำเป็นในการนำเข้าสินค้าไฮเทค (5) ความต้องการของผู้บริโภค ในด้านปริมาณ ราคา ความหลากหลาย และคุณภาพ เช่น สินค้าแบรนด์เนม สินค้าต้นทุนต่ำ สินค้าที่ไม่มีในประเทศ และ (6) อัตราเงินเฟ้อและค่าเงิน ที่มีผลต่อราคาสินค้าในสายตาคู่ค้า
"ขาดดุล" แย่กว่า "เกินดุล" หรือไม่
แม้การเกินดุลจะสะท้อนว่าประเทศมีรายได้มากกว่ารายจ่าย และประเทศใหญ่ ๆ หลายประเทศเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ว่าจะเป็นจีนที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าสำคัญของโลก เยอรมนีและญี่ปุ่นที่แบรนด์สินค้าเป็นที่นิยม หรือซาอุดีอาระเบียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า "การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะเยี่ยมหรือการขาดดุลจะแย่" เสมอไป เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่สาเหตุที่ทำให้เกินดุลหรือขาดดุล
การเกินดุลที่ดีควรมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะเมื่อสินค้าและบริการเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จะส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้ของคนในประเทศ แต่การเกินดุลที่ไม่ดีก็มีเช่นกัน เช่น การเกินดุลในช่วงเศรษฐกิจถดถอยที่ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าและบริการลดลงจากกำลังซื้อที่ลดลง หรือการเกินดุลที่เกิดจากการออมที่สูงแต่ลงทุนในประเทศต่ำเกินไป เพราะจะทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้
เช่น ไทยหลังปี 2540 ที่เกินดุลจากการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมาก แต่การลงทุนในประเทศกลับลดลงมาก และมีการออมมากขึ้นแม้ดอกเบี้ยจะต่ำ ส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และกระทบต่อศักยภาพในการเติบโตของประเทศ การจ้างงาน และรายได้ของประเทศในอนาคตได้
1
ขณะเดียวกัน การขาดดุลบ้างก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป หากสามารถแปลงหนี้ให้เป็นสินทรัพย์ได้ในระยะยาว เช่น ประเทศกำลังพัฒนาที่นำเข้าเครื่องจักรและกู้เงินจากต่างประเทศมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับผลิตภาพ สร้างโอกาสทางธุรกิจ การจ้างงาน และมีรายได้ที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งทำให้ในอนาคต ประเทศจะสามารถเปลี่ยนมาเกินดุลและลดการพึ่งพาทุนต่างชาติได้ในที่สุด อีกทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เช่น สหรัฐฯ ก็ขาดดุลเช่นกัน เพราะนำเข้าสินค้าหลายอย่างทั้งเพื่อบริโภคและเป็นวัตถุดิบจากฐานการผลิตของตนในต่างประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
แต่แน่นอนว่าการขาดดุลสูงติดต่อเป็นเวลานานย่อมเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า ประเทศไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ และมีการสะสมหนี้ต่างประเทศในระดับที่สูงเพื่อมาบริโภคและลงทุน เช่น ไทยก่อนปี 2540 ที่ขาดดุลเกือบ 8% และหนี้ต่างประเทศสูงเกินกว่า 60% ของจีดีพี จากการเร่งขยายการลงทุนที่เกินตัว
สุดท้ายนี้ การติดตามความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจอาจไม่สามารถดูได้จากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองความสามารถในการรองรับความผันผวนในตลาดการเงินโลกด้วย อย่างไทยที่แม้ขาดดุลในช่วงปีที่ผ่านมา แต่หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับไม่สูง (37% ของจีดีพี) ที่สำคัญเงินสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงเพียงพอ ทั้งสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าและบริการได้นานถึง 7 เดือน หรือชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นคืนใน 1 ปีข้างหน้าได้หมด
ในกรณีที่ไม่มีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาชั่วคราวได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้นักลงทุนยังเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
ข้อมูลอ้างอิง :
สถิติเครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาคของไทย และดุลบัญชีเดินสะพัด I ธปท.
เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ "บัญชีเดินสะพัด" ของไทย I ฐานเศรษฐกิจ
Current Account Deficits: Is There a Problem? I IMF
When Is a Current Account Deficit Bad? I World Bank
Country Comparisons Current account balance I CIA
Current Account Surplus Definition & Countries That Have I Investopedia
Current Account: Definition and What Influences It I Investopedia
The effect of a current account surplus I economichelps
โฆษณา