23 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทางรอดของศรีลังกา เมื่อ IMF ยื่นมือเข้ามาช่วย

หลังจากเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมที่เลวร้ายที่สุดในรอบนับสิบปี ในที่สุดทางประเทศศรีลังกาก็เริ่มมองเห็นแสงสว่างอันเป็นทางออกของปัญหาแล้ว
1
ทางออกที่ว่าคือการที่พวกเขาบรรลุข้อตกลงกู้เงินจาก IMF เป็นมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะแบ่งเป็นเงินก้อนแรก ที่จะส่งมอบให้อย่างเร่งด่วนก่อนเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยเงินกู้ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูประเทศตามแผนการพัฒนาในระยะต่อไป
📌 คำพูดของท่านประธานาธิบดี และงานของศรีลังกา
หลังจากมีแถลงการณ์จากทาง IMF ในวันที่ 20 มีนาคมยืนยันการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้
ทางด้านประธานาธิบดีศรีลังกา คุณรานิล วิกรมสิงเห ก็ได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์แสดงความขอบคุณทาง IMF และบอกว่าโปรแกรมครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ ในวันต่อมา ประธานาธิบดีศรีลังกา ยังออกมาเรียกร้องให้เจ้าหนี้ของศรีลังกาเข้าสู่กระบวนการประนีประนอมหนี้ โดยเจ้าหนี้รายใหญ่มีประเทศอย่าง จีน อินเดีย และญี่ปุ่น รวมอยู่ในนั้น
ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน ศรีลังกากลายเป็นประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแรกในรอบสองทศวรรษที่มีการผิดชำระหนี้ของตนเอง จากปัญหาการขาดแคลนเงินทุนสำรองต่างประเทศ อันไม่เพียงทำให้ประเทศไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ทำให้ไม่สามารถซื้ออาหารและของจำเป็นต่างๆ ได้ด้วย
แต่มาตอนนี้ แม้พวกเขาจะได้รับเงินมาจาก IMF แล้ว พวกเขาก็ยังเหลืองานที่สำคัญข้างหน้าต้องทำต่อไป นั่นก็คือ แผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งหนึ่งในส่วนที่ยากที่สุด คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจำนวนมากให้กลายเป็นภาคเอกชน
ซึ่งแผนการนี้เรียกได้ว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในการกำหนดอนาคตของประเทศไปอีกหลายปี
📌 งานของ IMF ที่ต้องจัดการต่อ
และในส่วนของทาง IMF เอง พวกเขาก็ยังมีงานที่ต้องทำอีกในปีนี้ เพราะ ไม่ใช่แค่ศรีลังกาเพียงประเทศเดียวที่ต้องเจอความท้าทายทางด้านการเงินในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีประเทศกำลังพัฒนาอีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในสภาวะเปราะบางทางการเงินเช่นเดียวกัน
โดยอ้างอิงจากคุณคริสตาลินา กอร์เกียวา ผู้ดำรงตำแหน่ง Managing Director ของทาง IMF ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาเอง โดยเธอกล่าวว่า
“ราว 15% ของประเทศรายได้น้อยอยู่ในภาวะความตึงเครียดทางหนี้ (debt distress) แล้ว และยังมีอีก 45% ที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะความตึงเครียดทางหนี้ได้”
1
ภาวะความตึงเครียดทางหนี้นี้เป็นปัญหาที่สะสมกำลังมาจากช่วงปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทั่วโลกจำต้องใช้เงินมหาศาลสำหรับช่วยเหลือและอุดหนุนประชาชนในประเทศ เมื่อมาประกอบกับสภาวะการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และราคาข้าวของที่พุ่งขึ้น
สิ่งนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญของ IMF ในปีนี้ ที่ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งในการจัดการปัญหาด้านการเงินระหว่างประเทศ
เพราะหากปล่อยให้มีประเทศอื่นผิดนัดชำระ หรือล้มละลายขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีก นอกจากนี้ มันยังไม่ได้มีผลกระทบต่อแค่สภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้มีระบบสวัสดิการดีพอ ที่หากเกิดวิกฤติขึ้นมาก็จะได้รับผลกระทบด้านคุณภาพชีวิตมากกว่า
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : Reuters
โฆษณา