23 มี.ค. 2023 เวลา 15:47

บันทึกการเดินทาง

“อ า ลั น รั ด จ ะ น า” … ลับแลลาว 🇱🇦
การเดินทางเริ่มต้นจาก กทม. โดยขับรถไปเองกับเพื่อนอีก๒ คน เราไปถึงนครพนมเกือบๆ แปดโมงเช้า เอารถไปจอดบ้านเพื่อน แล้วให้เพื่อนขับรถมาส่งที่ บขส. นครพนม ซึ่งเป็นจุดนัดพบกับคนอื่นๆ ราว ๓๐ คน 😱(๓๐ คนที่เราไม่เคยรู้จักกัน)
สมาชิกคนอื่นๆ รอที่ บขส นครพนม
จาก บขส. มีรถตู้ ๓ คันมารับพวกเราเพื่อข้ามไปลาว จุดที่ข้ามคือ “สะพานมิตรภาพ แห่งที่ ๓ (นครพนม-คำม่วน) สะพานที่ใช้งบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาลไทยทั้งสิ้น มอบเป็นของขวัญกับรัฐบาลลาว เพื่อเชื่อมโยงการค้า การท่องเที่ยว ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน
สะพานมิตรภาพแห่งที่ ๓
ครั้งนี้เราจ่ายค่าผ่านแดน ๔๐ บาท และ ค่าล่วงเวลา ๔๐ บาท ด้วยความสงสัยค่าล่วงเวลาคืออะไรก็ถามเจ้าหน้าที่ไป เจ้าหน้าที่บอกก็วันนี้วันเสาร์ มันเป็นวันหยุด แต่เจ้าหน้าที่ต้องมาทำงาน ก็เลยต้องมีเก็บค่าล่วงเวลา หรือ over time …. ใช้วิธีให้นักท่องเที่ยวจ่ายค่าโอทีเจ้าหน้าที่ แบบนี้ก็มีด้วย 😂😂
หลังจากผ่านแดนมาได้ ภาพก็ตัดโดยสิ้นเชิง ก็มันง่วงอ่ะนะขับรถมาทั้งคืน ก็เพิ่งจะได้พักนี่แหละ มารู้ตัวอีกทีก็คือแวะทานข้าวกลางวันที่ร้านหัวตะพาน (จริงๆ ร้านไม่มีชื่อหรอก แต่ร้านอยู่ตรงหัวสะพานพอดี ก็เลยได้ชื่อนี้มาแบบไม่ต้องสืบ) วันนี้ที่ร้านมีแค่เฝ่อ ราคาก็ไม่แพงมากเสรอราคาที่ ๒๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ กีบ หรือราวๆ ๔๐-๖๐ บาทไทย ขึ้นกับทอปปิ้งที่ใส่ว่าเป็น ไก่ หมู หรือเนื้อ
รายการอาหารร้านหัวตะพาน
หลังอาหารกลางวันก็เดินทางกันต่อมุ่งหน้าสู่บ้านนาครกไม่ต้องถามว่าระหว่างทางเป็นเช่นไร เพราะเราก็หลับอีกเช่ยเคย บ้านนาครกเป็นจุดสุดท้ายที่รถยนต์มาถึงได้ จากนี้ไปเราต้องลงเรือข้ามข้าม และเดินเท้าต่อ
ข้ามน้ำจากบ้านนาครก ไปหมู่บ้านกระตึบ
ชาวบ้านหลายคนมารอเพื่อมารับจ้างขนเสบียงกองกลางไปให้พวกเรา หรือแม้แต่คนที่ไม่ประสงค์จะแบกสัมภาระเองก็จ้างชาวบ้านได้เช่นกัน หลังจากข้ามน้ำมาได้ก็เดินเท้าต่อจากจุดนี้ไปหน้าถ้ำก็ราวๆ สัก ๑ กิโลเมตร บริเวณโดยรอบระหว่างทางเป็นที่โล่งกว้าง ล้อมรอบไปด้วยเขาหินปูน สวยแปลกตาดี
แบ่งเสบียงให้ช่วบ้านช่วยถือไป
จากปากถ้ำ เราจะต้องเดินไปทะลุอีกฝั่งหนึ่งของถ้ำระยะทางราวๆ ๙๐๐ เมตร ในถ้ำมีน้ำเยอะพอสมควร บางจุดจะมีการวางกระสอบทรายเพื่อยกระดับทางเดิน เพราะบางจุดมน้ำค่อนข้างสูง น้องที่เดินไปด้วยกันซึ่งอยู่อีกหมู่หนึ่งแต่มารับจ้างขนของบอกกับเราว่าถ้าฤดูฝน น้ำเยอะมากๆ จะใช้เรือในการสัญจร แทนการเดินเท้าแบบนี้
ปากถ้ำเฮิบ
ถ้ำนี้เรียกว่าถ้ำผาเฮิบ ภายในถ้ำมีหินรูปทรงแปลกๆ จากน้ำกัดเซาะ ทางเดินในถ้ำถือว่าค่อนข้างปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว มีเพียงบางช่วงที่อาจจะแคบสักหน่อย แต่ถ้าเป็นในฤดูฝนที่น้ำเยอะอาจจะจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ วันนี้ผู้คนในถ้ำค่อนข้างพลุกผล่านจากคนที่หมู่บ้านอื่น เนื่องจากจะมีงานบุญผะเหวดที่วัดกระตึบ ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ห่างจากถ้ำไปราวๆ ๓ กิโลเมตร ถัดจากวัดไปอีกราวๆ ๑ กิโลเมตร คือหมู่บ้านกระตึบ หรือหมู่บ้านลับแลที่พวกเราตั้งใจจะมากันที่แหละ
ปากถ้ำเฮิบ
ที่วัดมีการเตรียมงานบุญ เราแวะทักทายแม่ๆ ที่อยู่ในงาน ทุกคนต่างยิ้มแย้มทักทายคนแปลกหน้าจากต่างแดน จากนั้นพวกเราก็ไปต่อหมูบ้านกระตึบ
ภายในถ้ำเฮิบ
ทันทีที่ไปถึงภาพหมูบ้านที่อยู่ตรงหน้าทำให้นึกถึงเรื่องเล่าของแม่ว่าแม่ต้องเลี้ยงควาย ต้องตักน้ำอาบ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องจุดตะเกียง (ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า แต่ใช้โซล่าเซลล์) วิถีชีวิตของคนที่นี่เหมือนย้อนไปเมื่อสักห้า หก สิบปีที่แล้ว สมัยแม่เป็นเด็ก
หมู่บ้านกระตึบ
ที่หมู่บ้านมีบ้านเรือนอยู่ราวๆ สิบหลังคาเรือน เป็นบ้านยกใต้ถุนสูง ในหมูบ้านมีบ่อน้ำสองบ่อ (เป็นบ่อกลมที่ขุดลึกลงไปถึงตาน้ำ) มีน้ำใช้ตลอดปี แต่ต้องตักแล้วหาบไป ทุกเช้าเย็นเราจะเห็นแต่ละบ้านหิ้วถังมาตักน้ำที่บ่อแล้วหาบไปใช้ที่บ้าน
ในหมู่บ้านมีร้านค้าสองร้าน แต่ร้านที่ดูคึกคักเป็นพิเศษก็เป็นร้านที่อยู่ตรงทางเข้า-ออก ของหมู่บ้านนี่แหละ เพราะอยู่ในจุดที่มองเห็นง่ายและใกล้กับจุดที่เราตั้งแคมป์กัน
เมื่อมาถึงหมู่บ้านแต่ละคนก็เลือกทำเลในการนอน บ้างก็กางเต๊น บ้างก็ผูกเปล ในข้อมูลการเตรียมตัวที่ส่งให้บอกแค่ว่านอนในหมู่บ้าน เราก็เข้าใจว่านอนกับชาวบ้านอารมณ์ประมาณโฮมสเตย์ ดีนะที่หยิบเปลใส่เป้มาด้วย 😅
เต๊นท์หลากสี
อากาศที่นี่เย็นค่อนไปทางหนาวเลยแหละ โชคดีอีกเช่นกันที่เก็บเสื้อกันหนาวใส่เป้มาด้วย หลังมื้อค่ำต่างคนก็จับกลุ่มคุยกันสนุกสนานเฮฮา หลายๆ คนรู้จักกันมาก่อน และก็มีอีกหลายคนที่เพิ่งจะมารู้จักกันที่นี่ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเสวนา หรือทำให้เราเคอะเขินกันแม้แต่น้อย ไม่ดึกมากนักต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปนอน
อากาศเย็นสบายๆ ในตอนเช้า วงกาแฟอยู่ใกล้ๆ กองไฟ ข้างกองไฟยังมีลูกสุนัขตัวน้อยๆ อีกสองสามตัวนอนขดตัวรับไออุ่นเพื่อบรรเทาความหนาว ไม่นานนักอาหารเช้าก็พร้อมเสริฟสำหรับทุกคน พร้อมกับเสบียงข้าวกลางวันคนละหนึ่งชุด เพราะวันนี้ตามแผนการเที่ยวคือจะต้องเดินขึ้นไปชมถ้ำเที่ยง และถ้ำแท้
แต่สำหรับเรา เลือกที่จะไม่ไปกับกลุ่ม ไม่ใช่ว่าเดินไม่ไหว หรือกลัวเหนื่อย แต่เรามีเป้าหมายใหม่ซะแล้ว หลังจากที่เดินเข้าหมู่บ้านเมื่อวาน ก็มีโอกาสพูดคุยกับแม่ๆ ที่วัด ว่าวันนี้จะมีการแห่ผ้าป่า มีงานบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด ฟังเทศน์ฟังธรรม จะมีคนที่ศัทธาในพระพุทธศาสนาหลายหมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไปเดินเท้ามาที่นี่ (จะมาที่นี่ได้ ต้องเดินผ่านถ้ำมาเท่านั้น)
สมองก็สั่งการในทันทีว่าเดินขึ้นถ้ำเอาไว้ก่อน ถ้ำยังอยู่ที่นี่ไม่หายไปไหน แต่โอกาสที่เราจะมาที่นี่ในวันสำคัญๆ แบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ
โรงครัวที่วัด ชาวบ้านช่วยกันทำอาหาร
นอกจากเราก็มีพี่ทิพ และเมย์ ที่ตัดสินใจไปงานวัดแทน พอเราไปถึงวัดทุกคนก็ยิ้มแย้มทักทาย เชื้อเชิญให้ลองชิมต๋าว และข้ามต้มมัด (อร่อยมาก) จากนั้นก็เดินเล่น เราพบว่าตรงลำธารเหมือนมีปากถ้ำ ก็เลยลองเดินไปดูใกล้ๆ ในถ้ำนี้มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ แต่ความยาวของบ่อน้ำนี้ไม่แน่ใจว่ายาวขนาดไหน เพราะเราไม่ได้เตรียมไฟฉายมาด้วยจึงมองเห็นในระยะจำกัด น้ำในบ่อนี้จะถูกดูดขึ้นมากินมาใช้ ข้าวบ้านเรียกว่าถ้ำน้อย และเชื่อว่าพญานาคจะขึ้นมาเล่นน้ำที่บ่อนี้เป็นประจำ
ไม่ไกลกันนัก เรามองทางเล็กๆ เข้าไปในป่า เราก็สงสัยอยู่ว่าถ้าเดินตามทางไป ทางเล็กๆ นี้จะพาเราไปไหน ก็บังเอิญมีพระภิกษุ เดินถือหม้อมาตักน้ำในถ้ำ จึงได้โอกาสสอบถาม พระท่านว่าทางนี้ไปถ้ำแพร ที่ท้ายถ้ำมีฤาษีอยู่ ลองไปสอบถามชาวบ้านให้เค้าพาไปก็ได้
ด้วยความตื่นเต้นกับคำว่า “ฤาษี” (จินตนาการถึงหนักจักรๆ วงศ์ๆ ว่าฤาษีต้องเป็นชายมีอายุ ใส่ชุดผ้าลายเสือ) ทำให้อยากไปให้เห็นกับตา จึงมาขอให้ชาวบ้านพาไป ชาวบ้านบอกโอ๊ยไกล สี่กิโลเมตรเห็นจะได้ เป็นไงล่ะ หนีถ้ำปะถ้ำซะงั้น
มีลุงคนนึงแกอาสาพาไป (ถามชื่อแกอยู่นะ แต่ลืมแล้ว) จัดแจงหาไฟฉายแล้วพาออกเดิน ทางเล็กๆ ไปถึงปากถ้ำน่าจะราวๆ หนึ่งกิโลเมตรเห็นจะได้ เดินสักพักเราก็มาหยุดอยู่หน้าปากถ้ำ
“ลุง ทางตรงนี้ประมาณหนึ่งกิโลเมตร จะเหลือในถ้ำอีกประมาณสามกิโลเมตรใช่มั๊ย” เราถามอย่างมีความหวัง
“ยังไมนับ เริ่มนับตอนเข้าถ้ำ” ลุงตอบกลับมาด้วยหน้านิ่งๆ
เรามองหน้ากัน แล้วก็อดขำในคำตอบลุงไม่ได้ นึกในใจลุงไม่ได้เล่นมุกแน่ๆ แต่เป็นคำตอบซื่อๆ ของชายสูงวัยที่ตอบมาแบบจริงใจ
ทางขึ้นถ้ำแพร
ทางเดินในถ้ำก็มืดๆ ปีนป่ายเล็กน้อย สี่กิโลเมตรพอได้เหงื่อกรุบกริบ ระหว่างทางก็พบกับพระภิกษุเดินสวนมาประมาณ 4-5 รูป เป็นพระภิกษุที่มาจากอีกหมู่บ้านที่อยู่อีกฝั่งของถ้ำกำลังเดินทางไปร่วมพิธีบุญที่วัดกระตึบเช่นกัน อย่างที่บอกว่าคนจะมาทำบุญที่นี่ต้องตั้งใจ ต้องมีศัทธา เรียกได้ว่าให้บุญนำทางมากันเลยทีเดียว
ไม่นานนักเราก็มาถึงอีกฝั่งของถ้ำ พ้นปากถ้ำออกไปมีที่พักหลังเล็กๆ รอบที่พักเต็มไปด้วยถุงหูหิ้วที่ใส่อะไรสักอย่างห้อยระโยงระยาง เข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นว่าเป็น เปลือกไม้ รากไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ห้อยเต็มไปหมด
เสียงลุงคุยกับคนข้างบน ว่าพาคนไทยมา คนไทยอยากมาหาฤาษี แล้วลุงก็บอกให้เราตามขึ้นขึ้นไปบนที่พัก สิ่งที่เห็นมันไม่เหมือนกับที่จินตนาการไว้ ฤาษีดูหนุ่มกว่าที่คิด ใส่จีวรเหมือนพระ แต่ใส่เสื้อไหมพรหมแขนขาวคลุมอยู่เพราะอากาศเย็น ผมยาวประบ่า มีหนวดเล็กน้อย บนที่พักมีที่นอนเล็กๆ อยู่มุมหนึ่ง อีกมุมหนึ่งเป็นโต๊ะหมู่น้อยๆ มีพระพุทธรูปอยู่สี่ห้าองค์ และรูปภาพเล็กๆ ของหลวงปู่สด วัดปากน้ำ
เรานั่งสนทนาธรรมกับฤาษี (นักบวชที่ไม่ใช่พระ) อยู่พักใหญ่ เป็นการสนทนาที่สนุก มีธรรมะสอดแทรกเป็นระยะ มีแว๊บนึงที่คิดในใจว่าทำไมฤาษีดูเด็กจัง คุยกันไปกันมาสักพัก ฤาษีท่านก็ว่า “พระที่พรรษาน้อยใช่ว่าจะเป็นอรหันต์ไม่ได้ อยู่ที่การปฎิบัติและบุญสะสมที่ทำมา เราเกิดเป็นคนควรหมั่นทำบุญทำทาน ถือศีล ภาวนา ละเว้นความชั่ว ตายไปเวลาเค้าถามจะได้ตอบถูกว่าทำความดีอะไรมาบ้าง สัตว์ทั้งหลายเขาต่างอิจฉามนุษย์ เขาอยากทำบุญตักบาตร เขาก็ทำไม่ได้ เขาอยากสะสมบุญเขาก็ทำไม่ได้ แล้วเรามีโอกาสทำ ทำไมไม่ทำซะล่ะ”
ก่อนกลับชายสองคนที่เดินตามมาก็ขอยาสมุนไพรจากฤาษีเพื่อเอากลับไปรักษาคนป่วยที่บ้าน ท่านก็พาลงมาข้างล่างพลางหาถุงหยิบเปลือกไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่ห้อยๆ อยู่รอบบ้านให้เอาไปต้มกิน ชาวบ้านว่าท่านรู้จักสมุนไพรดี ท่านก็หาเอาในป่านี่แหละ มีชาวบ้านมาขอยาจากท่านและรักษาหายหลายคนแล้ว ไหนๆ ก็มาถึงขั้นนี้แล้วเราก็เลยขอสมุนไพรแก้เจ็บเส้นเอ็นมาลองด้วยสักหน่อย
ได้เวลาอันสมควรที่ต้องกลับ ฤาษีท่านว่าเดี๋ยวท่านก็จะเดินไปที่วัด ไปร่วมพิธีด้วยเช่นกัน ในระหว่างที่เดินอยู่ก็คิดว่าเดินกลับอีกตั้งสี่กิโลเมตร กว่าจะถึงทางออก ฤาษี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ได้บริเวณนี้ช่วยย่นระยะทางให้เราสักหน่อยได้มั๊ย เพราะเราก็เริ่มหิวข้าวแล้วนะ คิดอยู่ไม่นาน เดินเพลินๆ อยู่ๆ แป๊บเดียว เงยหน้าขึ้นมา อ้าวนั่นไง แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ขากลับออกมาเรารู้สึกว่ามันเร็วจัง แป๊บเดียวก็ถึงปากถ้ำแล้ว จริงๆ ฤาษีคงไม่ได้ช่วยหรอก แต่ขาไปมันช้าเพราะเรามั่วแต่ใจจดจ่อว่าเมื่อไหร่จะถึง ข้างหน้าจะเจออะไรอีก แต่พอขากลับเรารู้แล้วว่าทางข้างหน้าเป็นอย่างไร ก็เดินไปเรื่อยๆ สบายๆ มันก็เลยรู้สึกว่าเร็วกว่าขาไป
เดินต่อมาจนถึงวัด ก็พักกินข้าวกลางวันกับข้าวห่อที่เตรียมมา แม่ๆ ที่วัดดูแลเราดี หาถ้วยจาน น้ำดื่ม มาให้ แล้วก็มานั่งล้อมวงอยู่กับพวกเรา มีแม่คนหนึ่งก็ถามว่า “ลูกได้ไปกราบหลวงพ่อหรือยัง ท่านอยู่ทางโน้น” เราก็บอกว่ายังไม่ได้ไป แม่ว่า หลวงปู่ใส ท่านปฎิบัติธรรมอยู่ในถ้ำท่านเป็นพระสายกรรมฐานพระป่า เหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สถานที่ที่ท่านปฎิบัติธรรมอยู่นี้ก็เป็นที่ที่หลวงปู่มั่นเคยธุดงษ์มาปฎิบัติธรรมที่นี่ หลังจากกินข้าวเรียบร้อยแล้วก็เลยจ้างคนนำทางพาไป
จากวัดห่างออกไปราวหนึ่งกิโลเมตร ก็ถึงปากถ้ำ เดินเข้าไปนิดเดียวด้านขวามือเป็นแท่นหินขนาดใหญ่ มีเสื่อปู มีที่นั่ง สำหรับพระที่จะมานั่งวิปัสนา ทางซ้ายมือมีช่องทางที่สามารถจะลอดไปได้ ซึ่งจะเป็นโถงอีกห้องที่ให้คนทั่วไปมานั่งวิปัสนา
คนนำทางพาเราเดินเข้าไปอีกสักหน่อย แล้วก็พูดกับใครสักคนว่าพาคนไทยมากราบครูบา เสียงคนข้างในตอบกลับว่า มาๆ แล้วก็พาเดินขึ้นไปตรงจุดที่เป็นที่พัก มีเพียงเต๊นเล็กๆ หนึ่งหลัง หลวงปูใสท่านพาเรามานั่งตรงหน้าที่พักของท่าน หลวงปู่ว่าท่านได้ยินคนพูดถึงหลวงปู่มั่น ท่านรู้ว่าจะมีคนมา มีอีกหลายๆ เรื่องที่ท่านพูดแต่เราฟังท่านไม่ค่อยรู้เรื่อง และจับใจความได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น เนื่องจากสำเนียงภาษาที่ท่านพูดจะเป็นแบบพื้นบ้านดั่งเดิมที่เราเข้าใจยากสักหน่อย
หลวงปู่ท่านหันไปพูดกับคนนำทางว่า เอาอะไรออกไปจากถ้ำก็ให้เอามาคืนซะ เจ้าของเค้าไม่อนุญาต เราเห็นสีหน้าคนนำทางดูตกใจ แล้วรีบคุกเข่ากราบหลวงปู่ทันที พร้อมบอกว่าเอามาคืนแล้ว ด้วยความสงสัยจึงถามว่าคนนำทางว่ามีอะไรหรือเปล่า คนนำทางบอกว่าเขาเจอถ้วยโบราณในถ้ำสองใบ ก็เลยหยิบเอาไป แต่เอามาคืนให้แล้ว เพราะเขามาทวง หลวงปู่ท่านว่า ถ้วยสองใบนี้ เจ้าของเค้าให้หลวงปู่ยืมใช้ ไม่อนุญาตให้ใครเอาออกไป
หลวงปู่ใสกับพี่ทิพของเรา 😁
เราพูดคุยกับหลวงปู่สักพักก็ลาท่านกลับ ไม่อยากรบกวนนานเพราะท่านไม่ค่อยสบาย ท่านเดินออกมาส่งเราที่ปากถ้ำ
หลวงปู่ท่านอายุ ๗๕ ปี ท่านไม่ฉันท์เนื้อสัตว์ ท่านฉันท์ผลไม้เป็นหลัก แต่ท่านยังดูแข็งแรง ระหว่างที่พูดคุยกับท่านยิ้มแย้มตลอดเวลา และดูมีเมตตา
เกือบบ่ายสามโมงครึ่ง ชาวบ้านกำลังจัดเตรียมขบวนแห่ผ้าป่ากองบุญ เสียงกลองดังขึ้นเป็นการให้สัญญาณว่าขบวนแห่จะเริ่มขึ้นแล้ว ชาวบ้านข่วยกันถือผ้าไตร และสิ่งของอื่นๆ เดินนำหน้าขบวน ตามด้วยหมู่พระสงฆ์ และแม่ขาว (แม่ชี) สวดมนต์ภาวนาปิดท้าย โดยเวียนรอบพระโอโบสถเก่าอายุราวหกร้อยปีที่หักเป็นซากปรักหักพังเหลือแต่ฐานสามรอบ
งานบุญพะเหวด
พิธีสวด เทศนา และทำวัตรเย็นเริ่มขึ้นหลังจากเวียนโบสถ์ครอบสามรอบ ระหว่างที่พระสวดทำพิธีจะมีชาวบ้านบางคนที่พับเงิน และนำลูกอมมาโรยหว่านทานด้วย (เราได้มาหลายอันเหมือนกัน) แม่ๆ ที่นั่งอยู่กับเราใจดีและมีเมตตากับเรามากก่อนเราจะกลับไปที่หมู่บ้านกระตึบแม่ๆ ควักเงินในกระเป๋า เป็นแบ๊ง ๕,๐๐๐ และ ๑๐,๐๐๐ กีบยื่นให้เรา บอกว่าให้เอาเก็บไว้เป็นที่ระลึก ให้ลูกหลานเอาไว้ดู ก่อนจะแยกย้ายกันเราบอกกับแม่ๆ ทั้งหลายว่าวันพรุ่งนี้เราจะมาใหม่ จะมาใส่บาตรด้วย
ขบวนแห่ผ้าป่า
ที่หมู่บ้านกระตึบ พอเรามาถึงก็พบว่าสมาชิกทั้งหลายที่ไปเดินขึ้นถ้ำเที่ยง ถ้ำแท้ ต่างกลับลงมาและอาบน้ำอาบท่ากันหมดแล้ว เหลือแค่คู่รักหนึ่งคู่ที่เพิ่งจะเดินมาถึง (คู่รักที่เพิ่งจะเคยเดินป่า แต่ทั้งคู่มีความพยายามและสามารถเดินไปกลับตามที่ตั้งใจไว้ได้ ถึงจะช้ากว่าคนอื่นๆ แต่ก็ใจสู้นะ)
วงสนทนาคืนนี้ดูครื้นเครงกว่าคืนแรก มีการแชร์ประสบการที่ผ่านมา และประสบการณ์ในวันนี้กันอย่างสนุกสนาน แต่ละคนมีความนิทสนมกันมากขึ้นจากน้ำใจและการช่วยเหลือกัน และยิ่งสนิทกันมากขึ้นเมื่อมีน้ำเชื่อมสัมพันธ์ (แอลกอฮอร์) ช่วยประสาน ประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ก็ทยอยแยกย้ายกันไปนอน
ล้อมวงเม้ามอยยามค่ำคืน
เช้าวันสุดท้ายที่บ้านกระตึบ เราตื่นประมาณหกโมงเช้า อากาศเย็นสบายมากๆ มองไปบนยอดเขาที่ล้อมรอบหมู่บ้านไว้มีหมอกจางๆ คลอเคลียอยู่ วงกาแฟเริ่มขึ้นแล้ว อาหารเช้าก็กำลังทยอยมา แต่ละคนก็เตรียมจัดการภาระกิจส่วนตัว และเตรียมเก็บสัมภาระเพื่อเตรียมเดินทางกลับ เราและพี่ทิพขอเดินออกจากหมู่บ้านมาก่อน โดยจะไปรอที่วัดกระตึบ เพราเรานัดแม่ๆ ไว้ว่าจะไปตักบาตรด้วย (แต่ไปไม่ทัน เพราะตักบาตรแปดโมงเช้า กว่าเราจะเริ่มเดินออกไปก็เกือบๆ แปดโมงครึ่งแล้ว)
เมื่อไปถึงวัดเราเห็นชาวบ้านน่าจะราวๆ ร้อยกว่าคน นั่งสวดมนต์อยู่เต็มลานพิธีใกล้ๆ อุโบสถโบราณ หลังสวดมนต์เสร็จ พระท่านก็ฉันท์อาหาร เป็นอันเสร็จพิธีสงฆ์ ระหว่างนั้นชาวบ้านก็จะตักอาหารมานั่งล้อมวงกินกัน เราก็เนียนๆ ไปกับแม่ๆ นี่แหละ
สมาชิกที่ตามหลังมาอีกราวสามสิบชีวิตเดินทางมาถึงพอดี ชาวบ้านก็จัดแจงหาอาหารทานร่วมกัน คณะเดินทางของเราต่างสละเงินคนละนิดคนละหน่อยร่วมทำบุญไปกับวัดด้วย เรียกได้ว่าทริปนี้อิ่มอกอิ่มใจ อิ่มบุญและอิ่มท้องกันถ้วนหน้าทีเดียว
ถึงเวลาที่ต้องกลับแล้วจริงๆ แน่นอน มาทางไหนก็กลับทางนั้น เดินเท้าออกไปที่ถ้ำ เดินผ่านถ้ำเข้าไป ทะลุออกจากถ้ำ เดินเท้าต่อ จากนั้นก็ข้ามเรือกลับไปหมู่บ้านนาครก ระหว่างทางก็มีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นเดินกลับออกมาพร้อมๆ กับพวกเราด้วย
รถตู้มารอรับพวกเราอยู่แล้ว เรานั่งรถตู้ออกจากหมู่บ้านและแวะทานกลางวันกันที่ร้านหัวตะพานเช่นเดิม ก็จากข้ามด่านที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ ๓ ขากลับเสียค่าผ่านแดน ๑๐,๐๐๐ กีบ และวันนี้ไม่มีค่าล่วงเวลา 😂
ทริปนี้เป็นทริปแรกที่มีสมาชิกร่วมทางเยอะขนาดนี้
เป็นทริปที่เดินถ้ำเยอะที่สุด (ปกติไม่ชอบถ้ำก็จะคอยเลี่ยงๆ ทริปที่มีถ้ำ) เป็นทริปเดินป่าที่เดินอยู่ในวัดมากกว่าอยู่ในป่า เป็นทริปที่สนทนากับพระมากกว่ากับเพื่อนร่วมทริป เอาเป็นว่าเป็นทริปอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ามันครบรสดี … ไว้เจอกันใหม่ อาลันรัดจะนา … สปป ลาว 🇱🇦
๓-๖ มีนาคม ๒๕๖๖
โฆษณา