24 มี.ค. 2023 เวลา 03:00

วิธีทำให้สมองโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า โดย Chris Bailey

เซสชั่นนี้เป็นคอร์ส TED โดย Chris Bailey ได้บรรยายในงาน TEDxManchester ซึ่ง Chris Bailey เป็นนักเขียนและที่ปรึกษาด้านความสร้างสรรค์ชาวแคนาดา และเป็นผู้เขียน The Productivity Project (2016) และ Hyperfocus (2018) ได้ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “How to Get Your Brain to Focus”
คุณ Chris ได้สังเกตจากพฤติกรรมส่วนตัวและปัญหาของคนส่วนใหญ่ในสังคมทุกวันนี้ คือ ในชีวิตประจำวันมักจะมีสิ่งที่คอยดึงดูดความสนใจเราอยู่ตลอด
อย่างเช่นในตอนเช้า เราอาจเสียเวลาไปกับสิ่งที่หันเหความสนใจ เช่น อาจไถ Scroll หน้าฟีด Facebook อยู่หลายนาที กว่าจะเข้าห้องน้ำในตอนเช้า พอก่อนทำงานกว่าที่เราจะแต่งตัวเสร็จก็อาจมานั่งไล่เช็กอีเมลหรือไม่ก็เปิดคอมพิวเตอร์ต่อ ลามไปจนถึงเปิดทีวีดูข่าว เพียงเพราะเป็นการทำฆ่าเวลาแก้เบื่อหรือทำแล้วรู้สึกเพลิดเพลินใจ
กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็ไปทำงานสายหรือไม่ก็เสียเวลาการทำภารกิจอย่างอื่นไปมากแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ทำอย่างไรเราถึงจะเลิกพฤติกรรมการเสียสมาธิได้ง่ายอย่างนี้ได้? แล้วเราจะมีวิธีโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างไร? มาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน
🟥 สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ชอบหลุดโฟกัส (หรือ สมาธิสั้น)
ก่อนที่เราจะรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างสมาธิให้มากขึ้นได้นั้น เรามาทำความเข้าใจในหลักธรรมชาติของสมองเราก่อน จากผลวิจัยรองรับที่มีอยู่หลายชิ้นนั้นพบว่า เรามักจะโฟกัสต่อเรื่องๆ หนึ่งได้นานไม่เกิน 40 วินาที/เรื่อง ก่อนที่จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หรือถ้าเราเปิดการแจ้งเตือนมือถือ หรือแอปฯ อย่างอื่น เช่น Line หรือ Slack ไปด้วย สมาธิของเราก็จะเหลือเพียง 35 วินาที/เรื่อง เท่านั้น
ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า เทคโนโลยีกำลังทำให้สมองของเราเบี่ยงเบน ถูกดึงดูดไปยังเรื่องอื่น (Distracted) จนกลายเป็นสมาธิสั้นหรือเปล่า? ความจริงแล้ว สมองไม่ได้ถูกหันเหความสนใจ แต่ถ้าวิเคราะห์ตามความเป็นจริง ต้องกล่าวว่า สมองถูกสิ่งเร้ากระตุ้นมากเกินไป (Overstimulated) เพราะแต่เดิมแล้ว สมองเรามักมีแนวโน้มชอบคิดในเรื่องที่น่าตื่นเต้น
อย่างเช่น ข่าวสารที่อยู่ตามหน้าฟีดนั่นเอง สาเหตุที่สมองเราชอบเสพข่าวสารและเรื่องราวที่น่าสนุก นั่นเป็นเพราะสมองของเรามีกลไกที่เรียกว่า “Novelty-Bias” ซึ่งร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชื่อโดพามีน (Dopamine) เมื่อเราทำเรื่องใดๆ ที่น่าตื่นเต้น หรือรู้สึกท้าทายได้สำเร็จ
ฮอร์โมนนี้จะทำให้เราพึงพอใจมาก แบบเดียวกันกับเวลาที่เรากินพิซซ่าหน้าเอ็กส์ตร้าชีสอย่างมีความสุข การเสพข่าวดราม่า ไถหน้าฟีดอยู่ตลอดก็สามารถทำให้สมองของเราสร้างฮอร์โมนตัวนี้ได้เช่นกัน ทำให้เราอดใจไม่ไหวจนเสียสมาธิอยู่แต่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดนั่นเอง
🟥 ถ้าเรามีสมาธิมากขึ้น สิ่งที่เราจะได้คืออะไร
เมื่อมีสมาธิ เราจะมีช่วงที่เรียกว่า Attention Span มากขึ้น ซึ่ง Attention Span คือ ช่วงเวลาที่เราสามารถจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สิ่งที่เราให้ความสนใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวของเรา เปรียบเสมือนเป็นพลังที่เราใช้ในการควบคุมสมาธิ ซึ่งสำคัญมากในการทำเรื่องต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อรู้ถึงประโยชน์ของการมีสมาธิที่มากขึ้นแล้ว เรามาลองดูว่ามีเคล็ดลับอย่างไรเราถึงจะเพิ่มสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ได้
🟥 เคล็ดลับการโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เมื่อเจอสิ่งเร้าที่วุ่นวาย
เมื่อเรารู้แล้วว่าสมองของเราไม่ได้เสียสมาธิโดยไม่มีสาเหตุ แต่เกิดจากสิ่งเร้าที่อยู่ใกล้ตัวมีมากเกินไป ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การ “กำจัด” สิ่งเร้าเหล่านั้นเสีย ด้วยการทำให้ตัวเองอยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงกับภาวะ “เบื่อ” ซึ่งปกติเรามักจะหลีกหนีภาวะนี้อยู่ตลอด แต่คราวนี้เราต้องบังคับตัวเองให้อยู่ในภาวะที่สงบเรียบง่าย เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนในเวลาที่ควรพักผ่อน ไม่ได้อยู่ในสถานะที่ถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เราจะมี Attention Span มากขึ้น ร่างกายจะผ่อนคลาย และสมองก็จะไม่เครียด กลายเป็นภาวะที่เราสามารถเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาต่างๆ และมีสมาธิได้นานขึ้น จนเราสามารถดึงความสนใจทั้งหมดของเรามายังสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คราวนี้ร่างกายจะจดจ่อว่าเมื่อเราทำสิ่งตรงหน้าสำเร็จแล้ว ร่างกายก็จะตอบสนองด้วยการหลังโดพามีนออกมาได้เหมือนกับการที่เราเสพข่าวดราม่าไปเรื่อยๆ ในตอนแรก เมื่อเราบริหารเวลาได้ เราก็จะสามารถสร้างสรรค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์ เกิดคุณค่า และ “Productive” ได้มากขึ้น
Key learnings :
1. เมื่อมีงานใดตรงหน้า ให้เริ่มทำทันที
2. ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะผ่อนคลาย โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งเร้า (มือถือ คือตัวการหลัก)
3. โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
4. เมื่อทำงานตรงหน้าสำเร็จ เราจะรู้สึกฟิน เมื่อร่างกายหลั่งสารโดพามีนเป็นรางวัล
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/3LL4pVV
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน
——————————————————

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา