24 มี.ค. 2023 เวลา 05:57 • ศิลปะ & ออกแบบ
สระบุรี

ปัจจัยสี่คาเฟ่ ร้านกาแฟสระบุรี บ้านไม้กึ่งอิฐ ที่ตีความการใช้วัสดุ และโทนสี

ปัจจัยสี่คาเฟ่ ร้านกาแฟหน้าบ้านพริกแกง บ้านไม้กึ่งอิฐ ที่ตีความการใช้วัสดุ และโทนสีมาจากสีสันของพริกแกง และรูปลักษณ์ของครก ต่อยอดสู่สเต็ปที่สองเป็นร้านกาแฟที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้อาศัย สำหรับเป็นพื้นที่ต้อนรับระหว่างบ้านกับผู้มาเยือน
1
บ้านไม้กึ่งอิฐ ผลงานออกแบบของ BodinChapa Architects เป็นบ้านกึ่งโรงงานเครื่องแกง ในจังหวัดสระบุรี ที่ผู้ออกแบบเลือกใช้อิฐบล็อก และไม้เก่าจากอาคารเดิมมาออกแบบ แต่งเติมสีสันในส่วนของโรงงานพริกแกง กิจการครัวเรือนอันเป็นภาพจำของถนนสายนี้ ตัวอาคารสะท้อนการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย ทำให้ผู้สัญจรผ่านไปผ่านมาสะดุดตากับรูปลักษณ์อันโดดเด่น โดยบ้านพริกแกงแทรกตัวอยู่ท่ามกลางชุมชน ที่มีทั้งบ้าน อาคารตึกแถวเรียงรายกันหลายคูหา ตลาดสด และโรงงานผลิตพริกแกงใจกลางตัวเมืองสระบุรี
ชื่อร้านมีที่มาจากแนวคิดว่า กาแฟเป็นเหมือนหนึ่งใน “ปัจจัยสี่” ในชีวิตประจำวัน โดยเจ้าของบ้านตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มออกแบบบ้านว่าต้องการให้พื้นที่ภายในบ้านต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคตได้ โดยเริ่มแรกทางผู้ออกแบบได้เตรียมพื้นที่บริเวณทางเข้าฝั่งขวาของบ้านไว้เป็นโซนขายกาแฟอยู่แล้ว
1
โดยในขั้นแรกได้รับการออกแบบมาเป็นชุดเคาน์เตอร์บาร์ลอยตัวสามารถเคลื่อนย้ายได้ นอกจากนี้ พื้นที่เดิมของคาเฟ่ในปัจจุบันนั้น ก็ถูกกำหนดไว้ให้เป็นห้องนอนชั้นล่าง แต่เนื่องจากความต้องการใช้งานพื้นที่นั้นเปลี่ยนแปลงไป จึงได้รับการพัฒนามาเป็นคาเฟ่แบบจริงจังขึ้นในขั้นที่สอง
เนื่องจากตัวบ้านพริกแกงได้รับการออกแบบให้พื้นที่ใช้งานสอดคล้องกับกิจวัตรของเจ้าของบ้าน และคุณแม่ ซึ่งชื่นชอบการทำอาหาร พื้นที่ครัวจึงถูกกำหนดไว้บริเวณหน้าบ้านตรงกลาง ซึ่งอยู่ติดกับโรงงานทำเครื่องแกง และเมื่อมีการต่อยอดพื้นที่สู่ธุรกิจคาเฟ่ ครัวจึงเป็นเหมือนองค์ประกอบที่เชื่อมโยงบรรยากาศความเป็นบ้านเข้ากับส่วนคาเฟ่ได้อย่างลงตัว
ผู้ออกแบบอธิบายว่า “พอเข้าไปในร้านกาแฟแล้วอยากให้คงกลิ่นไอความเป็นบ้านของเจ้าของและเป็นร้านด้วยในขณะเดียวกัน ให้ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์ในการใช้งานพื้นที่ระหว่างส่วนของโรงงานพริกแกง บ้าน และคาเฟ่ ให้สเปซเกื้อหนุนสเปซ รวมถึงหน้าตาของตัวบ้านเดิมก็เกื้อหนุนในส่วนของร้านใหม่”
เริ่มจากทางเข้าร้าน ผู้ออกแบบมองว่าตัวร้านและบ้านควรมีความเป็นส่วนตัวเมื่อร้านปิดและตอนเปิดร้านก็สามารถมองเห็นพื้นที่ภายในได้ด้วย อีกทั้งยังต้องการให้ส่วนปิดหน้าร้านนั้นกลมกลืนไปกับตัวร้านและบริบทโดยรอบ จึงออกแบบเป็นบานหน้าต่างเปิด-ปิดได้โดยเลือกใช้วัสดุปิดผิวเป็นแผ่นสแตนเลสเงา ซึ่งเมื่อถูกปิด ตัวบานที่ปิดอยู่จะสะท้อนบริบทผู้คน และชุมชนโดยรอบ ขณะที่เวลาเปิดร้านก็เกิดภาพสะท้อนกับอาคารเดิม ทั้งยังเป็นมุมถ่ายภาพของลูกค้าได้อีกด้วย
พื้นที่ภายในร้าน เคาน์เตอร์บาร์จัดวางในแนวยาวขนานไปกับตัวบ้าน โดยเมื่อเข้ามาจะเห็นครัว ซึ่งโชว์ให้เห็นการใช้งานทำอาหารจริงๆ ของคุณแม่เจ้าของบ้าน ให้ความรู้สึกว่าเป็นพื้นที่เดียวกันระหว่างตัวบ้านและร้านคาเฟ่แสดงถึงนิยามคำว่า ‘ปัจจัยสี่’ ที่เจ้าของร้านวางไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งการทำอาหารเป็นปัจจัยสี่ของคุณแม่ และการทำกาแฟเป็นปัจจัยสี่ของเจ้าของร้าน
ในส่วนด้านในร้านจัดวางเป็นที่นั่งเฟอร์นิเจอร์ เน้นทำจากไม้ให้เชื่อมโยงกับตัวบ้านเดิม วางเบาะสีกรมท่า การตกแต่งพื้น และผนังใช้กระเบื้องดินเผาสีส้ม และสีของไม้กรุผนังรวมกับไฟซ่อนที่ให้บรรยากาศอบอุ่นออกมาเป็นสีโทนเดียวกับในส่วนโรงงานทำเครื่องแกง ซึ่งผู้ออกแบบเลือกใช้สีส้มสะท้อนภาพสีอันจัดจ้านของเครื่องแกง ตัดด้วยกระเบื้องดินเผาสีน้ำเงินคราม เบาะกำมะหยี่ และโต๊ะลอยตัวสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น และไม่แย่งความโดดเด่นกับของเดิม
วัสดุหลักภายในร้านหลายอย่างเป็นสิ่งที่ได้รับการออกแบบไว้แต่เดิม เช่น ฝ้าไม้เหนือเคาน์เตอร์ชงกาแฟ เป็นไม้ของเดิมที่กรุต่อเนื่องไปกับฟาซาดด้านหน้า ให้ความรู้สึกต่อเนื่องเป็นชิ้นเดียวกันจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งเป็นคาแร็คเตอร์หลักอันโดดเด่นของบ้านหลังนี้ ส่วนผนังไม้แนวตั้งบริเวณบันได และผนังอิฐบล็อกสีเทา ที่วางเรียงกันก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของร้านคาเฟ่ใหม่ ซึ่งทำให้ตัวร้านสอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกันไปกับตัวบ้าน
“สมัยก่อนตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ซอยนี้มีร้านกาแฟโบราณเป็นสภากาแฟ ที่คนมานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ คุยกันตอนเช้า เพิ่งมาคิดได้ตอนที่ทำร้านเวอร์ชั่นที่สองว่าเหมือนจะย้อนกลับไปในยุคเก่า ที่ในซอยมีร้านกาแฟที่คนแถวนี้มาทานแต่ที่เปลี่ยนไปคือเปลี่ยนรูปแบบเป็นคาเฟ่ที่ทันสมัยสอดรับกับการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน
ด้วยความที่ชุมชนตรงนี้เป็นชุมชนเก่า มีตลาดเช้าพอช่วงสายก็ไม่มีคน ไม่มีใครคิดว่าจะมีร้านกาแฟมาเปิดตรงนี้ พอร้านเริ่มเป็นที่รู้จัก เราก็คาดหวังว่าร้านจะเป็นสถานที่หนึ่งที่ทำให้ชุมชนหรือสภาพแวดล้อมน่าอยู่ขึ้น” คุณอมรวรรณ ธาราสุข เจ้าของร้านกล่าว
ที่มา http://bit.ly/3ZaDZAi
โฆษณา