24 มี.ค. 2023 เวลา 02:39 • การศึกษา

การสอบไล่หนังสือไทยครั้งแรก และประกาศการเรียนหนังสือ

เมื่อตอนตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในครั้งแรก  มีหนังสือสำหรับเรียน  มีครูมาสอนตามเวลา  หลักสูตรก็ใช้หนังสือเรียน  6  เล่มเป็นหลัก  ถ้าเรียนจบทั้ง  6  เล่ม  ถือว่าสำเร็จการศึกษา เรียนกันไปเรื่อย ๆ  บางคนเรียนไม่ทันจบ  6  เล่ม  พออ่านออกเขียนได้คือจบสังโยคพิธาน  ก็ลาออกไปทำงานเสียกลางคันเพราะตอนนั้นความต้องการคนไปทำราชการมีอยู่มาก  และผู้ที่มาเข้าเรียนบางคนก็มีอายุมากขนาด 17 – 18 ปีก็มี
เป็นเหตุให้ยากที่จะทราบว่ามีความรู้เพียงพอหรือไม่  สักแต่ว่าออกมาจากโรงเรียนเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้เองความคิดเรื่องการสอบไล่ก็เกิดขึ้น
เมื่อโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบตั้งขึ้นแล้ว  พระยาศรีสุนทรโวหารและ
พระยาโอวาทวรกิจซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงและเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนั้น  เห็นพ้องต้องกันว่าการที่จะหาคนที่มีความรู้พอสมควรไปรับราชการ ควรจะต้องให้เรียนหนังสือไปจนจบตามหลักสูตร  ไม่ใช่เรียนเพียงครึ่ง ๆ  กลาง ๆ อย่างที่เป็นอยู่  และเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องมีการสอบไล่หนังสือ  หรือสอบไล่  ว่ารู้จริงหรือไม่  แบบการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่กระทำอยู่แล้ว  เมื่อสอบได้แล้วจึงเรียกว่ารู้จริงทางราชการจะได้คนที่มีความรู้ไปรับราชการ
เมื่อได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วย  จึงโปรดให้คิดแบบสอบไล่หนังสือไทยเมื่อ พ.ศ. 2427  และทรงตั้งคณะกรรมการสอบไล่ขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย  พระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธุ์)  พระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)  พระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์  พระยาภาสกวงศ์ (พร บุนนาค)  และพระยาศรีสุนทรโวหาร
คณะกรรมการสอบไล่ดำเนินการสอบไล่นักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีพ.ศ. 2427  โดยสอบตามหนังสือมูลบทบรรพกิจเรื่อยไปจนจบหนังสือพิศาลการันต์  ผู้ใดสอบได้ก็ออกประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นผู้ที่สอบไล่ใด้เป็นเกียรติยศ  เมื่อเสร็จสิ้นการสอบไล่หนังสือไทยครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จไปเป็นประธานในการแจกรางวัลแก่ผู้สอบไล่ได้ด้วยพระองค์เอง
เมื่อมีการสอบไล่ขึ้นแล้ว  โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้ขยายหลักสูตรการเรียนให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง  เพราะเท่าที่วางหลักสูตรไว้ในครั้งแรก  เป็นเพียงขั้นความรู้อ่านออกเขียนได้เท่านั้น  เมื่อออกรับราชการแล้วยังต้องไปเรียนรู้เอาในเวลาราชการอีก  หลักสูตรที่ขยายขึ้นเป็นวิชาที่เตรียมไว้สำหรับการเป็นเสมียนทั่วไปนั่นเองเรียกว่าเป็นชั้นประโยค  2  ความรู้ขั้นที่เรียนอยู่แต่เดิมเรียกว่าประโยค  1  ความรู้สำหรับการเป็นเสมียน  ได้แก่วิชาที่เกี่ยวกับคัด เขียน เรียงความ และย่อความ เป็นต้น
ดังปรากฏรายละเอียดประกาศการเรียนหนังสือต่อไปนี้
“มีพระบรมมาราชโองการโปรดเกล้า ฯ  ให้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลพ่อค้าราษฎรทั้งปวงทั่วกัน ด้วยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริเห็นว่า  วิชาหนังสือเป็นต้นเค้าคุณความเจริญของราชการบ้านเมืองยิ่งกว่าศิลปศาสตร์วิชาการต่าง ๆ  ทั้งสิ้น  ถ้าผู้ใดเล่าเรียนรู้ถ่องแท้จริงถึงแม้ว่าจะเป็นคนตระกูลต่ำอย่างใด  ก็สมควรที่จะทรงพระกรุณาชุบเกล้า ฯ  เลี้ยงให้ได้มียศศักดิ์รับราชการบ้านเมือง  สนองพระเดชพระคุณตามคุณานุรูปถ้วนกัน
ทุกวันนี้ผู้ที่เล่าเรียนวิชาหนังสือไทยก็มีเป็นอันมากแต่บางคนเรียนรู้จบตำราเรียนบ้าง  ที่เรียนได้แค่ครึ่งหนึ่งค่อนหนึ่งแล้วเลิกเรียนเสียก็มีเป็นอันมาก  เพราะไม่มีกำหนดอันใดเป็นสิ่งสังเกตที่จะรับประกันว่าผู้ใดรู้ถ่องแท้จริง  และผู้ใดไม่รู้จริง  จึงยังเป็นความขัดขวางแก่พระประสงค์ซึ่งจะทรงชุบเกล้า ฯ  เลี้ยงและพระราชทานคุณความดีแก่ผู้เล่าเรียนอยู่
เพราะเหตุฉะนี้ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้ตั้งแบบหลวงสำหรับสอบไล่วิชาหนังสือไทยนักเรียนทั้งปวง  จะโปรดเกล้า ฯ  ให้มีข้าหลวงเป็นพนักงานไล่หนังสือปีละครั้งหนึ่งเสมอไป  ถ้านักเรียนคนใดมีความรู้ไล่ได้ตลอดวิชาโดยกำหนดไว้เพียงชั้นใด  ก็จะโปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้ได้คุณวิเศษโดยควรแก่ผู้มีความรู้ในวิชานั้นถ้วนทั่วกัน
กำหนดวิชาที่จะไล่นั้น  ขั้นประโยคต้นจะสอบวิชาตลอดแบบเรียนหลวงทั้งหกเรื่องคือ ตั้งแต่มูลบทบรรพกิจจนจบพิศาลการันต์  ถ้าผู้ใดไล่ได้ตลอด  ก็จะได้หนังสือสำหรับตัวใบหนึ่ง ลงชื่อข้าหลวงพร้อมกับรับรองว่าผู้นั้นเป็นคนมีความรู้จริง  ได้สอบซ้อมวิชาในที่ประชุมข้าหลวง  แล้ว
หนังสือฉบับนี้จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเจ้าของ ในเมื่อเวลาจะไปทำงานที่ใด ๆ  จะได้ถือเป็นประกันสำหรับตัว  ถ้าผู้นั้นอยากจะใคร่เล่าเรียนเพื่อจะได้คุณวิเศษในวิชาชั้นสูงต่อขึ้นไป ก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนหลวง  สำหรับวิชาชั้นสูงได้ตามพระราชบัญญัติสำหรับโรงเรียน  วิชาที่จะไล่ชั้นประโยคสองนั้นแปดอย่าง  คือ
ลายมือหวัดและบรรจงอย่าง1  เขียนหนังสือใช้ตัววางวรรคตอนถูกตามใจความ ไม่ต้องดูแบบอย่าง  1  ทานหนังสือที่คัดผิดจากลายมือหวัดอย่าง  1  คัดสำเนาความและย่อความอย่าง  1  แต่งจดหมายอย่าง  1  แต่งแก้กระทู้ความร้อยแก้วอย่าง  1วิชาเลขอย่าง  1  ทำบัญชีอย่าง  1
ผู้ใดมีความรู้สอบไล่ตลอดวิชาทั้งแปดอย่างเป็นชั้นประโยคสองนี้  ถ้าเป็นไพร่หลวงหรือไพร่สมกรมใด ๆ  ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ  ให้ขาดจากสังกัดเดิม  ได้หนังสือพิมพ์คุ้มสักตลอดชีวิต  ถ้าเป็นผู้จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณ  ก็จะทรงพระกรุณาชุบเกล้า ฯ  เลี้ยงตามสมควรแก่คุณานุรูปถ้วนทุกคน  ถ้าไม่สมัครจะรับราชการ  จะไปทำการที่ใด ๆ  ก็จะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ไม่ขัดขวาง  กำหนดจะได้ไล่หนังสือตั้งแต่ปีจออัฐศกนี้ต่อไป
ถ้าผู้ใดจะใคร่ทราบความและวิธีแบบสำหรับไล่หนังสือโดยละเอียดก็ให้ไปถามที่ออฟฟิศเจ้าพนักงานจัดการโรงเรียนหรือตามโรงเรียนหลวงแห่งใดแห่งหนึ่งนั้นเถิด
ประกาศมา  ณ  วันศุกร์  เดือนสาม  ขึ้นสองค่ำ  ปีระกา  สัปตศก  จุลศักราช 1247  พ.ศ. 2428  เป็นวันที่ 6296  ในรัชกาลปรัตยุบัน”
ฉะนั้นพอจะสรุปได้ในตอนนี้ว่า  การจัดชั้นการศึกษาในชั้นต้นนี้  มีอยู่  2  ระดับด้วยกัน  ระดับต่ำเรียกว่าประโยค  1  ระดับสูงเรียกว่าประโยค  2  (ส่วนการศึกษาทางพระศาสนาแบ่งเป็น  9  ประโยค)ประโยค  1. แบ่งนักเรียนออกเป็น  6  ชั้นตามชื่อแบบเรียนที่ใช้เรียนเป็นบรรทัดฐาน  คือ  1.นักเรียนมูลบท
2.นักเรียนวาหนิติ์  3.นักเรียนอักษรประโยค  4.นักเรียนสังโยค  5.นักเรียนไวพจน์  6.นักเรียนการันต์
นอกจากนี้ยังมีนักเรียนอีกประเภทหนึ่งเรียนจบ  6  เล่มแล้ว  เรียกว่านักเรียนจบการันต์  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงบันทึกไว้ว่า  “นักเรียนประโยค  1  เรียกชื่อจำแนกชั้นตามหนังสือที่เรียน  คือนักเรียนมูลบท  นักเรียนวาหนิติ์  นักเรียนอักษรประโยค  นักเรียนสังโยค  นักเรียนไวพจน์  และนักเรียนการันต์ กับมีนักเรียน  “จบการันต์”  อีกพวกหนึ่ง พวกหลังนี้เป็นคนมีเกียรติซึ่งเรารุ่นเล็กนับถือยำเกรงกันมาก...”
นักเรียนทั้งหมดนี้แบ่งออกเป็น  4  ชั้นเรียน  คือชั้นมูลบท  3  ชั้น ชั้นวาหนิติ์  1  ชั้น  ชั้นอักษรประโยค  1  ชั้น  ชั้น  4  สอนสังโยค ไวพจน์ และการันต์รวมอยู่ห้องเดียวกัน
ประโยค  2  เป็นพวกที่สำเร็จประโยค  1  มีความรู้หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้แตกฉานดีแล้ว  มีวิชาเรียน  8  วิชา  คือ 1. คัดลายมือ  2. เขียนตามคำบอก  3. ทานหนังสือ  4. แต่งจดหมาย  5. แต่งแก้กระทู้ความ  6. ย่อความ  7. เลข  และ  8. บัญชี
เมื่อจัดแบบแผนการศึกษาเข้ารูปเรียบร้อยพอสมควรแล้วก็มีการสอบไล่ประโยค 2 ขึ้นในพ.ศ. 2429 มีนักเรียนสอบประโยค  2  ไปรุ่นแรก  3  คน  คือหม่อมราชวงศ์สำเริง อิศรศักดิ์ (พระยาพจนปรีชา)หม่อมราชวงศ์เปีย  มาลากุล  (เจ้าพระยาพระสมเด็จสุเรนทราธิบดี)  ซึ่งเข้าสอบได้ทั้งประโยค  1  และประโยค  2  ในปีเดียวกัน  และหม่อมราชวงศ์ฉะอ้อน  อิศรศักดิ์ (หลวงศุภศิลป์ประสิทธิ์)
--------------------
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
โฆษณา