24 มี.ค. 2023 เวลา 13:30 • หนังสือ

“รู้เท่าทันเหลี่ยมมุมธุรกิจ จากประสบการณ์จริง”

ANOTHER BOOK ขอนำเสนอ
วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน 2
โดย ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์
...............................................
#What_I_Get
หนังสือเล่มนี้ได้ให้แนวคิดและความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ และการตลาดมากมายหลายด้านซึ่งมามาจากประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่ได้ทดลองและเรียนรู้มาจากการทำธุรกิจจริง ๆ ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้รู้เท่าทันเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ของการทำธุรกิจ และเข้าใจถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขต่าง ๆ ในการบริหารธุรกิจของเรามากขึ้น
เนื้อหาภายในหนังสือจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ภาค คือ Mindset , Skill Sets , Strategy และ Action โดยในแต่ละภาคจะแบ่งเป็นบทย่อย ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันทำให้เราสามารถอ่านเนื้อหาส่วนไหนก่อนก็ได้ เนื้อหาโดยรวมมีมากกว่า 40 บท ซึ่งผมจะเลือกเรื่องราวที่น่าสนใจของแต่ละภาคมาดังต่อไปนี้
...............................................
Mindset
1.แนวคิดและหลักการทำงานของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
 
ถึงแม้การทำธุรกิจแต่ละประเภทจะมีความแต่งต่างกัน แต่เมื่อเรามองถึงแนวคิดพื้นฐานของเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเราจะพบแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันก็แค่เพียงรูปแบบการทำธุรกิจและทรัพยากรที่ใช้เท่านั้น โดยสามารถระบุแนวคิดได้ 10 ข้อดังต่อไปนี้
1.) ความสำเร็จเกิดจากการให้ ไม่ใช่รับ – โดยพื้นฐานที่สุดคือการตั้งใจให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า
2.) การมีใจรักในสิ่งที่ทำมาก่อนเงินเสมอ – การมีใจรักช่วยให้เราทุ่มเทปรับปรุงคุณภาพและภูมิใจในงานของเรา
3.) นำข้อดีของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้กับธุรกิจของเรา - ศึกษาและทำการทดลองวิธีการใหม่ ๆ ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่เสมอ
4.) ให้ความสำคัญกับสินค้าใหม่ – ต้องขยันหาสินค้าใหม่มาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าเสมอ
5.) เน้นทำ อย่าใส่ใจกับความรู้สึกให้มากนัก – อารมณ์มักพาไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ต้องแน่วแน่กับสิ่งที่ทำ
6.) ไม่แปลกถ้าจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ นั่นแปลว่าเราเป็นคนเอาใจใส่ในทุกเรื่อง – ความกังวลใจบ่งบอกถึงความใส่ใจฝั่งลูกค้า และช่วยให้เราพยายามพัฒนาอยู่เสมอ
7.) เตรียมพร้อมเสมอกับทุกโอกาสที่จะเข้ามา – เมื่อโอกาสเดินหน้ามาถึงต้องพร้อมแล้วคว้าโอกาสนั้นไว้
8.) หาคนมาช่วยในเรื่องที่เราไม่ถนัด – เราควรยอมจ่ายจ้างคนเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าและช่วยให้เราประหยัดเวลาด้วย
9.) ใช้ระบบอัตโนมัติมาเป็นตัวช่วยให้มาก – ใช้ระบบอัตโนมัติช่วยสร้างความสะดวกให้ลูกค้าและลดแรงงานลด
10.) ไม่มีใครสำเร็จก่อนล้มเหลว และจำนวนครั้งที่ล้มเหลวก็มากกว่าจำนวนครั้งที่สำเร็จ – จงทดลองให้มาก ล้มเหลวให้บ่อย เสียหายทีละน้อย แล้วหล่อหลอมให้สำเร็จในเรื่องใหญ่
...............................................
2.เหตุผลต้องห้ามในการเริ่มทำธุรกิจ
1.) อยากได้เงินเยอะ ๆ แบบไว ๆ – เพราะการทำธุรกิจแบบเอาเงินเป็นที่ตั้งจะทำให้ธุรกิจไม่ยอมเสียกำไรแม้แต่น้อย และทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่น
2.) แค่ชอบและสนใจเรื่องนั้น – นอกชอบความชอบแล้วต้องเล็งเห็นถึงการบริหารด้านอื่น ๆ ของธุรกิจด้วย เช่น การบริหารเงินสด การบริหารคน การขาย ว่าเรามีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ ไม่ใช่แค่ชอบทำแล้วจะประสบความสำเร็จ
3.) เชื่อประโยคที่ว่า “คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้” – การทำตามคนอื่นโดยที่เราไม่รู้เหตุผลทั้งหมดของความสำเร็จของเขา มีแต่เราจะทำได้แย่กว่า ซึ่งไม่เป็นเหตุผลที่ดีในการทำธุรกิจเลย
4.) ตามกระแส – ธุรกิจตามกระแสจะผ่านมาแล้วก็ผ่านไปไม่ยั่งยืน ถ้าจะทำต้องรู้จังหวะการเข้าออกเป็นอย่างดี
...............................................
3.ทำธุรกิจก็เหมือนการขับรถ
1.) มีเป้าหมายชัดเจน – ที่หมายที่เราจะไปในการขับรถก็เหมือนเป้าหมายที่เราทองภาพไว้ที่จะทำให้ธุรกิจของเราเดินทางไปให้ถึง
2.) เลือกรถให้เหมาะ – เราควรเลือกรถที่เหมาะสมกับเส้นทางที่เราจะไป โดยคำนึงถึงความคุณสมบัติที่หมาะสม เช่นเดียวกับธุรกิจที่เราต้องมองว่าเราถนัดในพื้นที่แบบไหน ความได้เปรียบของรูปแบบธุรกิจคืออะไร ถ้าเราใช้พาหนะที่เหมาะสมถึงแม้จะลงทุนน้อยกว่าแต่ก็ประสบความสำเร็จได้
3.) ออกตัวด้วยเกียร์ต่ำ ทำกำไรด้วยเกียร์สูง – ธุรกิจก็ควรเป็นเหมือนรถที่ออกตัวช้า ๆ เพื่อสร้างแรงผลักดันที่มั่นคงแล้วค่อยเปลี่ยนเกียร์เพื่อค่อย ๆ ทำความเร็วให้ธุรกิจได้
4.) รู้จักเร่งและผ่อน – ถ้าเราขับรถโดยเร่งเพียงอย่างเดียวไม่มีผ่อนเราก็คงจบลงด้วยการไปชนกับอะไรเข้าสักอย่าง การทำธุรกิจก็ควรมีเร่งมีผ่อนเช่นกัน โดยต้องดูสภาพแวดล้อมว่าจังหวะไหนที่เราเร่งได้ และจังหวะไหนที่ควรต้องผ่อนบ้าง
5.) เติมน้ำมัน ดูแลรักษาเครื่องยนต์ - รถเมื่อวิ่งไปน้ำมันก็หมด เครื่องยนต์ก็เริ่มสึกหลอ ธุรกิจก็เช่นกัน เราควรเติมน้ำมันความรู้ กำลังใจให้กับคนที่ทำงาน ดูแลรักษาทีมงานให้มีเครื่องมือในการทำงานที่ดีอยู่เสมอ
6.) ขยันวัดผล – หน้าปัดรถแสดงข้อมูลการขับขี่ให้เราอยู่เสมอเพื่อให้เราสามารถเข้าใจถึงสภาพรถที่เป็นอยู่ ธุรกิจก็ควรสร้างมาตรวัดมาแสดงผลเพื่อให้เราสามารถเข้าใจและดูแลธุรกิจของเราได้อย่างถูกจุด
7.) ดูป้ายบอกทางและสัญญาเตือน – ทำธุรกิจต้องมาสภาพแวดล้อมเช่นกัน เพื่อให้เรารู้ถึงเส้นทางและความเปลี่ยนแปลงรอบตัวเรา
8.) ไปไหนไม่ถูก ต้องถามคนแถวนั้น – บางครั้งถึงเราใช้ google map เราก็ยังหลง คนที่จะช่วยให้เราไปถึงจุดหมายได้ก็คือคนข้างทางแถวนั้น การทำธุรกิจถ้าเราไม่รู้ทางจะไปต่อบางทีเราก็ต้องถามคนที่ทำงานหน้างาน หรือคนที่อยู่ในวงการนั้น เพื่อให้เราได้ความรู้ที่จะช่วยให้เราหาทางต่อไปได้
9.) มองหน้า มองข้าง มองหลัง – มองข้างหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมาย มองข้างเพื่อดูคู่แข่งที่กำลังตามหลังมา และมองหลังเพื่อดูผลการทำงานในอดีตและพัฒนาตนเอง
10.) ต่างคนต่างขับ – การขับรถที่ดีเราคงไม่มาขับเบียดกันไปกันมาหวังชนคนอื่น การธุรกิจก็เช่นกัน เราควรหาโอกาสและช่องว่างในการไปถึงเป้าหมายให้เร็วที่สุดดีกว่า
...............................................
Skill Sets
1.วิธีจัดการความคิด
 
1.) บันทึกให้มากที่สุด – มนุษย์ลืมได้ง่ายมาก วิธีการป้องกันคือการจดบันทึก เมื่อคุณคิดอะไรดี ๆ ได้แนะนำให้คุณเลือกวิธีจดบันทึกที่คุณชื่นชอบแล้วจดมันออกมาให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ลืมและลดภาระของสมองที่ต้องจำอยู่ตลอดเวลา
2.) เรียงหมวดหมู่ – เมื่อคุณพอมีเวลาว่างให้คุณใช้เวลากับการเรียงหมวดหมู่บันทึกที่คุณจดไว้ เพื่อให้ใช้ได้ง่ายเวลาที่คุณต้องการใช้งานในหมวดหมู่ต่าง ๆ
3.) มอบหมายงาน – เมื่อคุณรู้แล้วว่ามีงานอะไรบ้างที่ต้องทำให้เสร็จ ให้คุณคิดอีกสักนิดก่อนลงมือทำว่า งานนี้จำเป็นต้องเป็นคุณทำเท่านั้นหรือไม่ ถ้ามีใครที่คุณมอบหมายงานให้ทำได้ ผมแนะนำให้มอบหมายงานนั้นออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้คุณที่เป็นเจ้าของธุรกิจสามารถทำงานที่มีความสำคัญมากกว่าได้
4.) โฟกัส – เมื่อคุณคัดกรองงานแล้ว ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างดี
...............................................
2.ความหมายของคำว่า “มืออาชีพ”
 
มืออาชีพต่างกับมือสมัครเล่นตรงที่ว่ามืออาชีพจะได้รับค่าตอบแทนตามผลงานที่ทำได้จริง และผู้จ้างย่อมคาดหวังตามราคาที่ได้จ่ายไป การทำงานของมืออาชีพจึงทำเล่น ๆ ไม่ได้เพราะต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ
คุณสมบัติของการทำงานแบบมืออาชีพ คือ การทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อสร้างผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามค่าตอบแทนที่ได้รับ ต้องทำงานจนจบหน้าที่ แม้ผลที่ได้อาจไม่เป็นไปดังที่คาดการไว้ก็ต้องทำงานจนจบให้ได้ ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม และรู้ว่าความสำเร็จมาจากความพยายามและระยะเวลาที่เหมาะสม
...............................................
3.ต้นทุนในการทำธุรกิจ
 
ส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจที่ดีคือการบริหารต้นทุนที่ดี ถึงแม้ต้นทุนของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่คนที่ทำผลงานได้ดี คือ คนที่สามารถบริหารต้นทุนของธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้นทุนต่าง ๆ ที่เราต้องใส่ใจ คือ
- ต้นทุนด้านความคิด
- ต้นทุนด้านการเงิน
- ต้นทุนด้านความรู้
- ต้นทุนด้านแรงการแรงใจ
- ต้นทุนด้านเวลา
...............................................
Strategy
1.กลยุทธ์และวิธีการ
กลยุทธ์ (Strategy) คือ รูปแบบหลักการที่เราเลือกใช้ในการทำอะไรบางอย่าง โดยใช้ วิธีการ (tactic) ในการลงมือทำ ซึ่งในแต่ละกลยุทธ์อาจเลือกวิธีการได้หลากหลายอย่าง
 
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการเอาน้ำออกจากแก้วโดยไม่ให้สัมผัสแก้วน้ำ ถ้าเราคิดถึงกลยุทธ์หลัก ๆ เราจะได้เป็น
1.) การเท
2.) การดูด
3.) การแทนที่
4.) การระเหย
5.) การทำให้แข็งตัว แล้วดึงออก
ซึ่งแต่ละกลยุทธ์ก็สามารถเลือกวิธีการได้หลากหลายออกไปอีก เช่น การดูด เราอาจจะใช้สายยาง หลอดดูดน้ำ หรือหลอดฉีดยาก็ได้ แล้วเรายังเลือกวิธีการดูดได้ด้วยว่าให้คนดูด หรือเครื่องดูด ซึ่งแต่ละวิธีการล้วนใช้กลยุทธ์การดูดน้ำให้ออกมาทั้งสิ้น
การเลือกกลยุทธ์จึงสำคัญกว่าการเลือกวิธีการ เพราะกลยุทธ์เป็นตัวกำหนดขอบเขตของการทำงานและความคิดของเราให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนวิธีการเราสามารถค่อย ๆ พัฒนาปรับปรุงรายละเอียดให้เหมาะสมกับธุรกิจเราได้
...............................................
2.โลกใหม่ของการแข่งกัน
การทำธุรกิจย่อมมาพร้อมกับการแข่งขันเสมอ เมื่อมีคนเข้ามาแข่งเราจึงต้องเลือกบริหารวิธีการแข่งขันด้วย ว่าเราจะต้องแข่งขันแบบไหน ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เลือกได้ตามความชอบและความถนัดได้เลย
 
1.) แข่งขันแบบประจันหน้า – เป้าหมายหลักคือการเอาชนะคู่แข่งตรงหน้าให้ได้ ตัดสินกันที่ว่าใครสร้างความเสียหายให้อีกฝั่งได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ การแข่งขันแบบนี้มีผู้ชนะที่ชัดเจน สามารถกำจัดคู่แข่งได้ แต่ก็แลกมาด้วยความเสียหายของตัวเองพอกัน
2.) แข่งทำสิ่งที่เหนือกว่า – เป็นการแข่งกันเพื่อทำสิ่งที่ดีที่สุด คล้ายการแข่งวิ่งที่ใครทำได้ดีกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ข้อดีของการแข่งแบบนี้คือเกิดความเสียหายน้อยและผลงานโดยรวมของการแข่งขันจะขยับดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่การแข่งแบบนี้ต้องเลือกสนามแข่งให้ดีจึงจะมีโอกาสชนะได้
3.) แข่งกับตัวเอง – เป็นการแข่งที่แต่ละคนต้องสร้างพื้นที่ของตัวเองให้แข็งแรงจนคู่แข่งรายอื่นไม่อยากเข้ามายุ่ง หรือเข้ามาไม่ได้ มันคือการสร้าง Ecosystem ของตัวเองเพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้อยู่กับธุรกิจเราจนไม่อยากเปลี่ยนใจไปที่อื่น
...............................................
Action
1.แบรนด์ก็เหมือนคน
 
คนแต่ละคนย่อมมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แบรนด์ก็เช่นกัน โดยแบรนด์ที่ดีต้องมีภาพจำที่ชัดเจน เพราะภาพจำ คือ แกนหลักของการสร้างแบรนด์ การตอกย้ำแกนหลักของแบรนด์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างภาพจำของแบรนด์ได้อย่างมาก
นอกจากนี้องค์ประกอบของแบรนด์ยังต้องปรับไปตามยุคสมัย เพื่อทำให้แบรนด์ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเน้นถึงจุดแตกต่างของแบรนด์ เพื่อสร้างพื้นที่ให้ตัวเองอยู่ในใจของลูกค้า พร้อมสร้างเรื่องราวความเป็นมาและจุดมุ่งหมายของแบรนด์
เรื่องราวของแบรนด์และความสม่ำเสมอในการนำเสนออาจช่วยให้สินค้าทั่วไปกลายเป็นของไม่ธรรมดาที่ทุกอยากจับจองได้เลยทีเดียว
...............................................
2.เรื่องที่ต้องพูด
นอกเหนือจากการพูดตามเนื้องานแล้วในหน้าที่แล้ว สิ่งที่เราควรพูดในที่ทำงานเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้ธุรกิจ คือ
1.) สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท แม้จะขัดใจคนบางกลุ่ม - เช่น เห็นการทุจริต หรือมีแนวทางการปรับปรุงวิธีการทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนหลายคนที่ต้องเปลี่ยนแปลงการทำงาน แต่มันจะเป็นผลดีในระยะยาว
2.) ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของคู่แข่ง และปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเรา
3.) เรื่องที่เรารู้จริงจากการทำงานหน้างาน เพราะบางทีเราสามารถเห็นปัญหาได้ชัดเจนจากการเป็นเจ้าของงาน และควรสนับสนุนให้คนที่รับชอบงานเป็นคนพูดถึงปัญหาในงานนั้น ๆ
4.) ข้อเสนอในการปรับปรุงแนวทางการทำงานให้ดีขึ้น
5.) ชื่นชมเพื่อนร่วมงานที่ช่วยแก้ปัญหาหรือมีผลงานดีแบบที่ปกติไม่มีใครรู้ เพราะคนทำดีควรได้รับการชื่นชมเพื่อสร้างวัฒนธรรมการชื่นชมและขอบคุณกันและกัน
...............................................
#How_I_Feel
 
การสรุปหนังสือเล่มนี้เป็นอะไรที่ยากมากเนื่องจากเนื้อหาที่เขียนออกมาได้อย่างกระชับอยู่แล้วทำให้แทบจะตัดอะไรออกไปอีกแทบไม่ได้เลย เรียกได้แทบจะลอกหนังสือมาให้อ่านกันเลยทีเดียว เรื่องน่าหนักใจอีกอย่างคือการเลือกว่าจะนำเสนอเนื้อหาส่วนไหนบ้าง เพราะเนื้อหาแต่ละส่วนมีความสำคัญใกล้เคียงกันให้ข้อคิดที่ต่างกันออกไป
การอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่อ่านง่ายมาก ๆ เพราะเนื้อหาที่กระชับมีการแบ่งเป็นบทสั้น ๆ ให้อ่านได้ง่าย และแบ่งเป็นข้อ ๆ ชัดเจน อ่านจากบทไหนก่อนก็ได้ มีเวลาไม่มากก็สามารถอ่านได้จบบท เรียกว่าอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา และได้สาระไปแบบเต็ม ๆ
...............................................
 
#Who_Should_Read
- ผู้ที่เริ่มทำธุรกิจ
- ผู้ที่อยากรู้แนวทางการทำธุรกิจ
- ผู้ที่ต้องการพัฒนาการทำงานของธุรกิจตัวเอง
Review by Another Book
 
ถ้าชอบบทความ กดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
 
..........
 
ช่องทางการติดตาม
Facebook Page : Another Book https://www.facebook.com/AnotherBookReview
โฆษณา