8 เม.ย. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน ทำอย่างไรเมื่อไอเดียซ้ำกับคนอื่น

ครั้งหนึ่งผมพบนักเขียนใหญ่คนหนึ่งซึ่งบอกว่า เคยคิดจะเขียนนวนิยายที่มีแก่นเรื่องคล้าย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน แต่ในเมื่อผมเขียนก่อน นักเขียนคนนั้นก็ล้มเลิกโครงการนั้น
ถือเป็นสปิริตที่สวยงามของคนในวงการ
ในทำนองเดียวกัน หลายครั้งผมก็ล้มโครงการที่ไปซ้ำกับงานของคนอื่น เมื่อคนอื่นทำงานเสร็จก่อน
วงการนี้ไม่สำคัญว่าใครคิดก่อน สำคัญที่ใครผลิตงานออกมาก่อน คนนั้นก็ได้รับเครดิต
ดังนั้นผมถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างหนึ่งว่า หากมีไอเดียที่ผมชอบมากๆ จะรีบทำงานนั้นทันที และเข็นออกมาก่อนที่คนอื่นจะทำ เพราะผมเชื่อว่าไอเดียอยู่ในอากาศ หากผมคิดออก คนอื่นก็คิดออก
ผมจะเขียนซ้ำกับคนอื่นและเขียนทีหลังในกรณีเดียวคือเมื่อไม่รู้มาก่อนจริงๆ
ตลอดชีวิตนักเขียน ผมจดพล็อตสั้นๆ ไว้มากมาย นับหลายร้อยพล็อต บางอันก็เป็นแค่ไอเดียหยาบๆ ผมทิ้งพล็อตเหล่านี้ไปจำนวนมาก และมีจำนวนมากที่ไม่มีปัญญาพัฒนาออกมาเป็นงานสำเร็จ บ่อยครั้งบางไอเดียก็ตรงกับงานของคนอื่นซึ่งทำออกมาก่อนผม หรือดีกว่าที่ผมคิด
ยกตัวอย่าง เช่น ผมเคยคิดพล็อตเหตุการณ์เวลาย้อนกลับ จากคนแก่ถอยเป็นเป็นคนหนุ่ม แต่คิดต่อไม่ออก นึกไม่ออกว่าจะวางเรื่องอย่างไร และเล่าอย่างไร
จนเมื่อเห็นหนังเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ก็ร้องโอ้! เขาทำออกมาดีกว่าที่ผมคิดมาก ว่าแล้วก็ล้มเลิกไอเดียนั้นไป
2
แต่บ่อยครั้งผมก็ทำก่อนคนอื่น ในไอเดียที่ตรงกัน ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องสั้น ราตรีดาวกะพริบ ยานอวกาศลำหนึ่งได้รับคำสั่งให้ทำลายอุกกาบาตที่กำลังมุ่งหน้าไปชนโลก ก็เป็นพล็อตเดียวกับหนังฮอลลีวูดเรื่อง Deep Impact และ Armageddon แต่โชคดีเขียนก่อนเช่นกัน
2
นิยายไซไฟเรื่อง สงครามยูโรปา ที่ผมเขียนก็มีพล็อตคล้าย Avatar และ Avatar : The Way of Water ของ เจมส์ คาเมรอน แต่เขียนก่อนนาน
2
เรื่องสั้น อีกด้านหนึ่งของหลุมดำ ก็มีคอนเส็ปต์คล้ายเรื่อง The Witness ในชุด Love, Death & Robots ซีซัน 1
3
หลายไอเดียเป็นพล็อตที่ค่อนข้างเฉพาะตัวและมีรูปแบบเจาะจง แต่ก็ซ้ำกันจนได้ เช่น ในนวนิยายเรื่อง กาลีสุตรา ผมจินตนาการให้ดวงจันทร์ดวงหนึ่งชื่อ ‘จันทราเชการ์’ ที่โคจรรอบดาวเคราะห์กาลิกา 2 เป็นเครื่องจักรที่สิ่งทรงภูมิปัญญาสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์บางอย่าง และในท้ายเรื่อง ตัวละครหลักก็ผ่านการเชื่อมตัวตนกับระบบสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว
เรื่องนี้มีพล็อตคล้ายหนังเรื่อง The Very Pulse of the Machine (ในชุด Love, Death & Robots ซีซัน 3) โดยบังเอิญ ใน The Very Pulse ดวงจันทร์ไอโอเป็นเครื่องจักรที่เชื่อมกับดาวพฤหัส และในท้ายเรื่องตัวละครเชื่อมกับเครื่องจักรนั้น
เรื่องนี้ฝรั่งเขียนก่อน แต่ผมไม่รู้ พิสูจน์ว่าไอเดียอยู่ในอากาศ คนต่างมุมโลกก็คิดเหมือนกันได้
1
ในนวนิยายเรื่อง ผู้ชายคนที่ตามรักเธอทุกชาติ พิมพ์ครั้งที่ 85 เป็นเรื่องโลกคู่ขนาน ในจักรวาลมีตัวเอก (ตัวละคร สาย ธารี และ รตี วรรษรส) นับล้านๆ คน ที่ต่างกันออกไป
ผมจินตนาการว่าตัวละครในบางโลกเป็นลิง เป็นนก เป็นปลาก็มี
เรื่องนี้ก็มีแนวคิดเหมือนกับหนังเรื่อง Everything Everywhere All at Once แต่มีวิธีเล่าเรื่องต่างกัน
ตัวอย่างเหล่านี้พิสูจน์ว่า ใครๆ ก็คิดไอเดียเดียวกันได้โดยไม่ได้ลอกกัน ดังนั้นหากคิดไอเดียดีๆ ออกมาได้ ก็รีบลงมือทำงานออกมา
คนจำนวนมากเมื่อเห็นพล็อตอะไรที่คล้ายกัน ก็มักบอกว่าลอกมา (ศัพท์ทางการภาษาอังกฤษเรียก Plagiarism) แต่มองแบบนี้อาจจะผิดโดยสิ้นเชิง เพราะส่วนมากเรื่องที่ใช้องค์ประกอบเดียวกันไม่ได้ลอกกัน
เซียนที่ลอกเก่งจะลอกเฉพาะคอนเส็ปต์หรือแก่นเรื่อง ไม่ลอกองค์ประกอบให้ถูกจับได้หรอก
จากประสบการณ์ตรงของผม การลอกหรือได้รับแรงบันดาลใจมีเส้นแบ่งบางๆ คั่น บางทีก็ดูยาก องค์ประกอบเหมือนกันอาจไม่ลอก ต้องใช้สายตาคมหน่อยจึงมองเห็น มองทะลุ
นี่แปลว่าเราสามารถลอกเรื่องอะไรก็ได้ในโลก โดยที่ไม่มีใครรู้ เราอาจลอกไอเดียเรื่อง ขุนช้างขุนแผน แต่เปลี่ยนเรื่องและฉากเป็นโลกอนาคตในจักรวาลอื่น ถ้าดูจากองค์ประกอบเรื่องอย่างเดียวจะไม่รู้ว่าลอก
1
สไตล์การเล่าเรื่องที่เฉพาะตัวมาก ก็ทำให้คนคิดว่าลอก แต่ไม่จริงเสมอไป ยกตัวอย่าง เช่น การเล่าเรื่อง Rashomon (ราโชมอน) ของกุโรซาวา ให้ตัวละครแต่ละคนเล่าเวอร์ชั่นความจริงที่เขาเห็น นี่เป็นการออกแบบที่เฉพาะตัวมาก
หลังจากเรื่อง Rashomon ฉาย มีหนังหลายสิบเรื่องใช้แนวทางเล่าเรื่องแบบนี้ แต่เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เช่น The Usual Suspects (1995) Gone Girl (2014) Vantage Point (2008) The Invisible Guest (2016) ฯลฯ
ทุกเรื่องให้ตัวละครแต่ละคนเล่าเรื่องในมุมมองของเขาหรือเธอ แต่มันก็ไม่ถือว่าลอก เพราะเป็นคนละคอนเส็ปต์กัน
การเล่าเรื่องแบบ Rashomon ก็กลายเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องแบบหนึ่งไปแล้ว และกลายเป็นเครื่องมือสากลที่ใครๆ ใช้ โดยไม่ถือว่าลอก
1
บางเรื่องไอเดียเป็นเอกลักษณ์เจาะจงมาก การลอกอย่างนี้ทำได้ยาก ยกตัวอย่าง เช่น หนังเรื่อง Avatar มีพล็อตใช้ genetic engineering สร้างร่างอวตาร นี่เป็นพล็อตที่เฉพาะตัวมาก ทำให้ยากที่จะลอกโดยจับไม่ได้
หากดูจากองค์ประกอบอย่างเดียว Avatar ก็มีส่วนคล้ายเรื่อง Pocahontas มาก คือองค์ประกอบความขัดแย้งระหว่างผู้บุกรุกกับชาวพื้นเมือง แต่มันไม่ใช่แก่นของ Avatar
แต่การอวตารด้วย genetic engineering เป็นแก่นหลักของเรื่อง ดังนั้น Avatar จึงไม่ได้ลอก Pocahontas มา เพราะแก่นหลักของ Pocahontas ไม่ใช่อวตาร
1
บางครั้งนักเขียนสองคนอยู่คนละมุมโลกก็คิดเรื่องเหมือนเป๊ะได้เหมือนกัน นี่เป็นประสบการณ์ตรงของผม
ถามว่าแปลกไหมที่นักเขียนคนละมุมโลกคิดเหมือนกัน คำตอบคือไม่แปลกเลย เพราะทุกคนได้รับรู้ข้อมูลเรื่องโลกคู่ขนาน หรืออุกกาบาตชนโลก ฯลฯ มาเหมือนกัน
ถ้าเช่นนั้นทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ไอเดียซ้ำกับใคร คำตอบคือไม่ต้องทำอะไร ทำอะไรไม่ได้หรอก ไอเดียมันซ้ำกันเสมอ เพราะคนเราได้รับข้อมูล ข่าวสาร อ่านตำราเหมือนกัน ย่อมสามารถคิดไอเดียนิยายเหมือนกันได้
นักเขียนหลายคนเจตนาลอก แต่ไม่ใช่ลอกเพราะขี้เกียจคิดพล็อต
1
อย่างแรกคือลอกเพื่อฝึก เหมาะสำหรับนักเขียนใหม่ และผู้ที่เริ่มหัดเขียน การลอกวิธีการใช้ภาษาของงานครู การเล่าเรื่อง ฯลฯ ช่วยทำให้เราเห็นทางในทางเขียน
1
แต่นี่เป็นการลอกเพื่อศึกษา ผมใช้วิธีนี้เพื่อศึกษาการเล่าเรื่อง การใช้ภาษา จนเมื่อเริ่มเข้าที่ ก็เข้าไปในทางของตัวเอง ในกรณีการลอกก็เหมือนการคัดเขียนตามครู
อีกอย่างหนึ่งคือลอกเพื่อสร้างสายธารงานใหม่
ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือ โก้วเล้ง ใช้การลอกสร้างแนวทางใหม่ให้นิยายจีนกำลังภายในที่กำลังตาย
โก้วเล้งเริ่มชีวิตการเขียนนิยายกำลังภายในโดยลอกนักเขียนก่อนๆ โดยเฉพาะกิมย้ง แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งเขาก็ลอกเพื่อสร้างสายทางใหม่
การลอกแบบนี้คือนำเรื่องต้นฉบับมาแปลงใหม่เป็นกำลังภายใน
เรื่องแรกๆ คือ ดาวตก, ผีเสื้อ, กระบี่ (流星,蝴蝶,劍) ดัดแปลงมาจากนวนิยายและหนังเรื่อง The Godfather ของ มาริโอ พูโซ
ตัวละครเจ้าพ่อ ‘เล่าแป๊ะ’ จำลองมาจาก ‘ดอน วีโต คอลิโอน’
หงส์ผงาดฟ้า (陸小鳳)​ แปลงมาจากนิยายนักสืบอังกฤษ เชอร์ล็อค โฮล์มส์
ชอลิ้วเฮียง (楚留香) แปลงมาจากนิยายนักสืบฝรั่งเศส อาร์แซน ลูแปง
วีรบุรุษสำราญ (歡樂英雄) แปลงมาจากงานเรื่อง Tortilla Flat ของนักเขียนรางวัลโนเบล จอห์น สไตน์เบ็ค เรื่องนี้แปลงได้ดี เพราะมันฉีกแนวจากกำลังภายในที่ต่อสู้เลือดสาดเป็นเรื่องดรามามิตรภาพ
1
จนถึงเรื่อง ฤทธิ์มีดสั้น (多情劍客無情劍)​ แปลงจากภาพยนตร์เรื่อง Gunfight at the O.K. Corral แปลงได้งดงาม ซาบซึ้ง สร้างมรรคาใหม่ของนิยายกำลังภายในซึ่งหาคนเทียมได้ยาก
หากไม่มีการลอกแบบนี้ โลกนิยายกำลังภายในอาจไม่มาถึงจุดนี้
ดังนั้นการลอกก็มีประโยชน์ ขึ้นกับเจตนา เป้าหมาย และวิธีการ
บางครั้งมันก็ก้ำกึ่งระหว่างการลอกกับการพัฒนา ยกตัวอย่าง เช่น เพชรพระอุมา
พนมเทียน เล่าในเรื่อง อินไซด์ เพชรพระอุมา ตีพิมพ์ในหนังสือจักรวาลปืน พ.ศ. 2533 ที่มาของ เพชรพระอุมา ว่าได้โครงมาจาก King Solomon’s Mines ที่อ่านมาตั้งแต่วัยรุ่น ใช้โครงเรื่องเพียง 5-6 บรรทัด แต่รายละเอียดและกลิ่นของเรื่องแตกต่างออกไปไกล คล้ายกับที่ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) ใช้ประวัติศาสตร์ไม่กี่บรรทัดของบุเรงนอง เล่าเป็นนวนิยายยาวเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ
1
King Solomon’s Mines เป็นนิยายของนักเขียนอังกฤษ เซอร์ เอช. ไรเดอร์ แฮกการ์ด (Sir Henry Rider Haggard) เจ้าแห่งนิยายเดินป่าผจญภัย การค้นพบดินแดนลี้ลับ การตามหาสมบัติ เมืองโบราณ เขาเขียนงานแนวนี้มากมาย จนเขากลายเป็นบิดาแห่งเรื่องตระกูลโลกลี้ลับ (Lost World Genre) และส่งอิทธิพลไปทั่วโลก ทั้งตะวันตกและตะวันออก
1
งานอย่างเช่น The Land That Time Forgot ของ เอดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส, The Lost World ของ อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์ (นักเขียนชุดนักสืบ เชอร์ลอค โฮล์มส์), The Man Who Would Be King ของ รัดยาร์ด คิปลิง (คนเขียน The Jungle Book) ฯลฯ ส่วนในเมืองไทยก็มีงานชุด ล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์ และ เพชรพระอุมา ของ พนมเทียน
ต่อยอดงานกันออกไป
บางครั้งไอเดียก็เป็นการผสมพันธุ์ของไอเดียคนอื่นหลายไอเดีย กลายมาเป็นของใหม่
หน้าที่นักเขียนคือทำงานให้เต็มที่ หากมันบังเอิญตรงกับไอเดียคนอื่น ก็ช่างมัน ตราบใดที่เราไม่ได้ตั้งใจลอกใคร ก็สบายใจได้
แต่ระวัง บางครั้งเราลอกโดยไม่ตั้งใจ
ผมเคยเขียนเรื่องสั้น จบแล้ว พบว่ามันเหมือนของคนอื่นที่ผมเคยอ่านมานานแล้ว ฝังในจิตใต้สำนึกของตนเอง แล้วเชื่อสนิทใจว่าผมคิดเอง
ต่อให้ใช้เครื่องจับเท็จ ก็สอบผ่าน เพราะเชื่ออย่างนั้นจริงๆ
ช่วงที่ทำงานนิยายกำลังภายใน ผมมักแต่งเรื่องไปเพลินๆ แล้วนึกดีใจที่คิดพล็อตดีๆ ได้ แต่เมื่อตรวจสอบ ก็พบว่าท่านกิมย้งเคยเขียนแล้ว
ทางแก้ส่วนตัวของผมคือ ไม่อ่านงานของคนอื่น
1
กลัวมันจะฝังในจิตใต้สำนึกของตัวเอง
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา