25 มี.ค. 2023 เวลา 04:00 • สุขภาพ

ระยะเวลาที่เหมาะสมของการงีบหลับกลางวัน

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์
เมื่อวานซืนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับไลน์จากคุณภู่ น้องรัก ส่งไลน์ของบทความที่ผมเขียนถึงการงีบหลับกลางวันมาให้ และบอกว่ามีผู้สนใจบทความชิ้นนี้เยอะมาก มีการกระจายไปตามไลน์กลุ่มต่างๆ มากมาย ด้วยความดีใจและกังวลใจว่า หากทำให้เกิดการเข้าใจผิด ในการงีบหลับกลางวัน ด้วยการนอนยาวๆ เกินไป จะทำให้มีผลเสียมากกว่าผลดี
วันนี้ผมจึงไปค้นหาบทความต่างๆ เพื่อที่จะนำมาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ระยะเวลาของการงีบหลับกลางวัน ต้องใช้เวลานานเท่าใดถึงจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุดครับ
 
ซึ่งผมก็ได้คำตอบจากบทความของงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่มีหัวข้อเรื่องการวิจัยว่า “Longitudinal associations between daytime napping and cognitive function in Chinese older adults” ในนิตยสาร Science Direct ที่ทำการวิจัยโดยนักวิจัยชาวจีนกลุ่มหนึ่ง
ที่มีทั้งหมด 4 ท่านคือ Lijuan Zhang , Chen Chen, Hong Zhang,และ Bin Peng เขาได้ทำการวิจัยในผู้สูงวัยของประเทศจีน ผลที่ได้ออกมาพบว่า ภาวะโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่รักษาหายได้ยาก ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก
โดยจำนวนประชากรผู้สูงวัย 18.7% ของประชากรทั้งหมดของประเทศจีน ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในจำนวนนี้มี 15.07 ล้านคน ที่เป็นโรคสมองเสื่อม โดยมีโรคอัลไซเมอร์คิดเป็น 65.23% ซึ่งผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ (AD) ความสามารถในการรับรู้โดยทั่วไปจะเสื่อมลง หลังจากเริ่มมีอาการของโรคดังกล่าว จึงทำให้จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว
ซึ่งสร้างภาระให้ทางการแพทย์และการเงินอย่างมหาศาลต่อครอบครัวและสังคม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการดูแลรักษา ความบกพร่องทางสมองของผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิดครับ
2
การงีบหลับกลางวันก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่เป็นตัวแปรในการกำหนดประสิทธิภาพของการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ การทำวิจัยครั้งนี้ เขาได้วิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับ อีกทั้งประสิทธิภาพของการดูแลรักษา โดยมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของการงีบหลับกลางวัน กับระยะเวลาการงีบหลับของผู้สูงวัย
1
ในประเทศจีนการงีบหลับกลางวัน เป็นเรื่องที่แพร่หลายมากในหมู่ประชากรวัยกลางคนและผู้สูงวัย จากการวิจัยพบว่า 67.38% ของชาวจีนงีบหลับกลางวันบ่อย การงีบหลับสามารถช่วยจัดการกับความเหนื่อยล้าจากการทำงาน ในช่วงบ่ายจะเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน และคลายความเครียดได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตามการที่ผู้สูงวัยไม่ได้งีบหลับเลย หรือการงีบหลับเป็นเวลานาน ก็ไม่ได้ส่งผลดีแก่ผู้สูงอายุ ในทางตรงกันข้าม การงีบหลับในระดับปานกลาง (30-90 นาที) จะส่งผลที่ดีมากกว่าผลร้าย แต่การศึกษาข้างต้นก็ไม่ได้มีข้อสรุปที่บ่งชี้อย่างชัดเจน
1
ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลายเผ่าพันธุ์ในประเทศจีน และวิธีการวัดระยะเวลาของการงีบหลับ หรือความรู้ความเข้าใจต่างๆ ซึ่งอาจจะหมายรวมถึงพฤติกรรมของผู้สูงวัย ที่มีความแตกต่างกันออกไปด้วยนั่นเองครับ
ดังนั้นจากผลของการทำการวิจัย ที่กล่าวมาข้างต้น ในฐานะของผู้สูงวัย ก็ควรจะต้องสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมกับตัวเราเองด้วย เพราะผู้สูงวัยแต่ละท่าน อาจจะมีสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนกัน บางท่านที่มี Body age ที่อ่อนกว่าวัยของตนเอง แต่บางท่านอาจจะ Over Age ไปมากแล้วก็ได้
ซึ่งทุกอย่างก็ขึ้นอยู่ที่ในช่วงที่อายุยังไม่มาก ได้ใช้งานร่างกายไปในทิศทางที่หักโหมเกินไปหรือเปล่าด้วย บางท่านทั้งดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่หนักมาก แน่นอนว่าพออายุเลยหลักสี่ไปมากแล้ว อาจจะทรุดโทรมมากกว่าผู้คนปกติธรรมดาก็ได้ครับ เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อให้เทวดาก็ไม่สามารถช่วยท่านได้ครับ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือเมื่ออายุมากขึ้น หรือเข้าสู่วัยอันสมควรแล้ว ท่านอาจจะต้องสร้างวินัยให้กับตนเองมากขึ้น เช่น มีการนอนหลับที่เพียงพอในเวลากลางคืน ซึ่งก่อนนอนหนึ่งชั่วโมง ก็ไม่ควรจะดื่มเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสมเข้าไป เช่น เหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ชา-กาแฟ ควรงดเสียได้ก็จะเป็นผลดีครับ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ อาจจะทำให้ท่านต้องตาค้าง นอนไม่หลับในยามค่ำคืนได้ครับ
1
ถ้าเราสร้างพฤติกรรมของเราอย่างชัดเจนแล้ว เชื่อว่าอาการหลับยากก็จะลดลงไปครับ อีกประการหนึ่ง คือก่อนนอนให้ควรระวังเรื่องของการดื่มน้ำเยอะๆ เพราะจะทำให้ท่านต้องตื่นตอนดึก เพราะจัดการขับของเหลวออกจากร่างกาย บางท่านถึงกับตาค้างนอนไม่หลับได้ครับ
ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาเป็นคนที่มีรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์มาก ทุกคืนจะติดนิสัย ต้องหาอาหารใส่ท้องก่อนนอนเสมอ บางครั้งต้องให้ลูกหลานหาซื้ออาหารรอบดึกมาให้ ซึ่งผมก็เคยเตือนเขาว่า การทานอาหารหนักๆ ก่อนนอน ไม่ได้ส่งผลดีกับตนเองเลยนะ งดได้ก็ควรงดหน่อยก็ดีนะ เขาบอกว่า กลางคืนไม่ได้ทาน ท้องก็จะว่าง แล้วจะทำให้เขานอนไม่หลับ
2
อีกอย่างเขาไม่อยากนอนฝันว่า ตนเองอดอยากท้องว่างแล้ว ตกดึกก็จะนอนฝันร้ายเสมอ ผมก็บอกว่าอาจจะเป็นเพราะอุปทานมากกว่า แต่ถ้าอดไม่ได้จริงๆ ก็ลดจำนวนของอาหารให้น้อยลงไปอีกนิดก็ได้นะ ตอนนี้หลังจากเทศกาลโควิดไปแล้ว ผมเองก็ยังไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนคนอีกเลย แค่ก็เชื่อว่า คงจะยังคงสภาพร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์เหมือนเดิมแหละครับ
สรุปคือ ถ้าเวลากลางคืน มีการนอนหลับที่เพียงพอ ช่วงเวลากลางวัน ถ้าได้งีบหลับสัก 15-30 นาที น่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด สำหรับผู้สูงวัย อย่างไรก็ตาม ก็ต้องแล้วแต่สภาพร่างกายของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญครับ
โฆษณา