25 มี.ค. 2023 เวลา 14:00 • ความคิดเห็น

และเราต้องทนเห็นข่าวแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน

ข่าวที่บุคคลมีอาวุธใช้อำนาจและอาวุธในทางที่ผิด ในทางที่ทำลายสังคม และทำลายตัวเอง เหมือนเป็นหนัง remake ที่คอนเทนต์เหมือนเดิม แค่เปลี่ยนตัวผู้แสดง
กราดยิง ยิงตัวเอง ปัญหาที่สะท้อนถึงหลายภาคส่วนของสังคม
ถ้านับภาพใหญ่ของกฎหมาย ปัญหาคือการครอบครองอาวุธที่เข้าถึงง่าย การประเมินความเหมาะสมและสภาพจิตใจของผู้ครอบครองอาวุธที่หละหลวม ถ้ามีอาวุธแล้วจะออกจากราชการหรือไม่สบาย ก็ยังสามารถถืออาวุธนั้นได้
ภาพระดับองค์กร ปัญหาคือการรับมือกับ PTSD (Post-traumatic stress disorder) ที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ในมุมขององค์กร อาชีพตำรวจทหารเป็นอาชีพที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความตาย สถานการณ์รุนแรง ยังไม่นับระบบการเมืองและเจ้าขุนมูลนายที่ต้องเจอ สะสมเป็นระยะเวลายาวนาน องค์กรควรจะ make sure ว่าบุคลากรของตนได้รับการดูแลทางด้านจิตใจที่ดี เพื่อให้เขาสามารถเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและทำประโยชน์ให้กับสังคมในแบบที่เขาควรจะเป็น
องค์กรควรให้ความสำคัญ ให้เวลาและใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มี ที่จะมาช่วย support เรื่องจิตวิทยาการให้คำปรึกษา การดูแลสภาพจิตใจ และติดตามประเมินผล มองเป็นการป้องกันปัญหา เพราะการไม่ทำอะไรเลยหรือทำแบบไม่ดีมากพอ ก็คือการก่อให้เกิดปัญหาใหม่
ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่เราไม่ค่อยเห็นเรื่องการขอความช่วยเหลือ และการพูดถึงอารมณ์ ความรู้สึกแบบเปิดเผยเมื่อเจอสถานการณ์เลวร้ายก็คือ วัฒนธรรมความเป็น Toxic Masculinity ในสังคมตำรวจและทหารของไทย การขอความช่วยเหลือทางด้านสภาพจิตใจ =อ่อนแอ สุดท้ายก็นำไปสู่ความโดดเดี่ยวของคนที่เจอปัญหา ไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ จนก่อปัญหาในที่สุด
Toxic Masculinity คืออะไร?
คือภาวะที่นิสัยแบบผู้ชายมากๆ หรือที่คนเข้าใจว่าผู้ชาย "ควรจะเป็น" เริ่มส่งผลร้ายต่อตัวผู้ชายเองและคนรอบข้าง ยกตัวอย่างลักษณะของ Toxic Masculinity เช่น
1. ผู้ชายห้ามแสดงความรู้สึกและอารมณ์ เป็นผู้ชายต้อง man up เก็บเรื่องอารมณ์เป็นเรื่องหยุมหยิมของผู้หญิง ผู้ชายไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้แสดงความรู้สึก จนบางคนไม่สามารถแม้กระทั่งจะอธิบายความรู้สึกออกมาเป็คำพูด เมื่อแสดงความรู้สึกออกมาไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการความรู้สึกของตัวเองยังไงนอกจากการเก็บมันไว้ และพอเก็บไว้คนเดียว ขอความช่วยเหลือไม่ได้ ทำให้แสดงออกมาด้วยวิธีทางที่ผิด และอาจจะคาดไม่ถึง คือลงโทษสังคม หรือลงโทษตัวเอง
2. กลัวว่าการอยู่กับผู้หญิงมากไป จะทำให้ตัวเองสูญเสียความเป็นชาย รวมไปถึงการทำงานของผู้หญิงเช่น ทำอาหาร งานบ้าน เลี้ยงลูก
3. ชอบควบคุม ชอบแสดงอำนาจและครอบงำ อาจใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้รับความเคารพ
4. ใช้ชีวิตแบบกล้าลอง กล้าเสี่ยง ไม่กลัวอันตราย = การแสดงความเป็นชาย ทำให้ผู้ชายกล้าที่จะลองสิ่งอันตรายต่างๆ โดยไม่มองว่าเป็นสิ่งอันตราย แต่มองว่าคือเรื่องปกติของการเป็นผู้ชาย เช่นเล่นการพนัน เสพยา การใช้ความรุนแรง
แล้วสาเหตุที่แท้จริงของ Toxic Masculinity มาจากไหน? จริงๆ มาจากรากฐานของสังคมดั้งเดิม ที่ปลูกฝังกันมาจนเป็นวัฒนธรรม ที่ให้พื้นที่ผู้ชายที่แสดงความเป็นชายออกมาเท่านั้น คนที่แตกต่างก็จะถูก reject จนเกิดเป็นความกดดัน บางคนก็มีที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา การใช้ความรุนแรงที่บ้าน การเห็นความรุนแรงจากผู้ชายเป็นบรรทัดฐานของสังคม
แเก้ไขได้มั้ย?
เรื่องที่ยากที่สุดคือการแก้ไขสิ่งที่สังคมตั้งบรรทัดฐานไว้อยู่แล้ว เพราะมันคือการ "แหกกฎ" และการแหกกฎไม่สามารถทำได้คนเดียว ถึงจะเปลี่ยนสังคมได้
การแก้ไขเรื่อง "ความคิด" ส่วนใหญ่จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันครอบครัว ที่เป็นหน่วยสังคมที่ใกล้ตัวมากที่สุด และมีส่วนร่วมอย่างมากในการปลูกฝังเลี้ยงดูคนๆ หนึ่ง ครอบครัวเป็นหน่วยที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ลูกได้ สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง เพราะการ "รู้ตัว" ว่ารู้สึกอะไรอยู่คือการตั้งต้นของการจัดการอารมณ์ตัวเอง
ครอบครัวต้องสอนให้ลูกเข้าใจว่าการร้องไห้และแสดงอารมณ์ เป็นเรื่อง "ปกติ" ของมนุษย์ เป็นเรื่องพื้นฐานทางอารมณ์ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาแบ่งเพศ และการขอความช่วยเหลือเมื่อตัวเองมีปัญหา เป็นเรื่อง "ปกติ" เพราะมันคือการรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอ การไม่ขอความช่วยเหลือต่างหากที่ผิด เพราะผลเสียเลวร้ายกว่ามาก
ทำไมเราต้องแคร์?
เพราะความคิดความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ "ความเป็นผู้ชาย" ที่มากเกินไป มันส่งผลให้บุคคลจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมมากที่สุด เพราะมันเป็นที่มาของปัญหาข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว (คิดว่าการใช้อำนาจคือการแสดงความเป็นชาย) ความรุนแรงต่อสังคม (ถูกกดดันจากสังคม ขอความช่วยเหลือไม่ได้ หรือเป็นคนที่แตกต่างจากค่านิยมความเชื่อของสังึม แล้วถูกสังคมกีดกันออกมา จึงให้เหตุผลการกระทำของตัวเองด้วยการลงโทษสังคม)
ในเหตุที่ผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจหรือทหารเก่า ความเป็น Toxic Masculinity มีส่วนอย่างมากเพราะเป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือกันในองค์กร แต่จริงๆ ปัญหากราดยิงที่เราเห็น ไม่ได้มาจาก Toxic Masculinity อย่างเดียว เพราะปัญหาหลัก มาจากการจัดการทางอารมณ์และความเครียดของคนๆ หนึ่ง ซึ่งมีรากฐานการปลูกฝัง การสอน การเป็น role model ที่สำคัญจากครอบครัว
แต่ทุกวันนี้ อย่างที่เราเห็นกันอยู่ ครอบครัวมักจะ "จับสัญญาณ" ไม่ทันว่าลูกของตัวเองกำลังมีปัญหา เพราะพ่อแม่ในสมัยก่อน ไม่เคยได้รับการสอนศาสตร์เหล่านี้ ก็ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาให้ลูกได้ อย่างที่เคยได้เขียนไปในบทความก่อนหน้านี้แล้ว การให้ความสำคัญต่อการจัดการทางอารมณ์ และการเข้าถึงการศึกษาในด้านนี้ยังจำกัดมากในประเทศไทย
ในมุมของบุคคลที่เกิดความคลุ้มคลั่ง เราจะคาดหวังให้ครอบครัวแก้ไขก็ไม่ทันแล้ว ภาครัฐก็ควรจะจัดการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด อย่าปล่อยให้มีช่องว่างหละหลวมที่ทำให้คนสามารถมีอาวุธในครอบครองได้ง่าย ในความเป็นจริงเราอยากเห็นการถอดบทเรียน ทั้งในมุมปฏิบัติการ และในมุมของการเข้าใจสถานการณ์ ก็ได้แต่หวังว่า ภายในองค์กร ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีการจัด case study เพื่อเป็นบทเรียนให้กับองค์กร ทำให้ดีขึ้น และป้องกันสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีก
เพราะในความเป็นจริง ปัญหาระดับครอบครัวและวัฒนธรรมมันเกิดขึ้นมานาน และแก้ไขไม่ทันแล้ว ถ้าภาครัฐ ไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างน้อยก็ควรจะมี "การป้องกัน" และ "การแก้ปัญหา" ที่ทำได้ทันท่วงที สิ่งเดียวที่ทำได้ดีที่สุดก็คือ อย่าทำให้กฎหมายหละหลวมตั้งแต่แรก อย่าปล่อยให้เกิดการเข้าถึงวัตถุอันตรายโดยง่าย แก้ไขปัญหาที่จับต้องได้ ส่วนปัญหาระยะยาวและละเอียดอ่อนอย่างการจัดการทางอารมณ์ ก็ต้องอาศัยองค์กรจิตวิทยาและครอบครัวเริ่มสร้างรากฐานปลูกฝังกันไป
แต่สุดท้าย หลายคนก็คงคิดไม่ต่างกันว่า จะเน้นการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐ เปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเองน่าจะง่ายกว่า เพราะอย่างน้อยก็เห็นผลลัพธ์ ส่วนภาครัฐ เราก็คงได้แต่หวัง ขอแค่ "อย่าสร้างปัญหาใหม่" อย่าสร้างโอกาสให้เกิดการเข้าถึงปัญหา แค่เพียงเพราะผลประโยชน์และกำไร เพราะปัญหามันจะถม และการไม่แก้ปัญหาหรือแก้ได้ไม่ดีพอ ก็คือการก่อให้เกิดปัญหาใหม่วนไป
อ้างอิง psycom, webmd, masterclass, thematter.co
(เป็น 1 ในบทความที่ใช้เวลาเขียนนานที่สุด เพราะมีหลายแง่มุมเหลือเกินที่อยากพูดถึง ขอขอบคุณทุกท่านที่อาจมาถึงตอนจบ🙏)
โฆษณา