25 มี.ค. 2023 เวลา 07:48 • ประวัติศาสตร์

“สะเดาไม่ใช่สะเดา”

“นักเรียนคิดว่าชื่ออำเภอสะเดามีที่มาจากอะไร” ผมถามนักเรียนในชั่วโมงวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เด็ก ๆ ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบมาว่าเป็นชื่อของต้นไม้ (ต้นสะเดา) นักเรียนคิดเหมือนผมตอนที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ
ผมรู้สึกเสียดายที่หลักสูตรการศึกษาทอดทิ้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้เรื่องราวหลาย ๆ เรื่องซึ่งเป็นรากเหง้าของวิถีชุมชนไม่ได้ส่งต่อสู่เยาวชนรุ่นหลัง อย่างเรื่องราวที่มาของถิ่นกำเนิดหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อมูลจริง ในขณะที่บางคนก็ไม่ทราบเลย
ดังชื่ออำเภอ “สะเดา” จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทยกับมาเลย์เซีย เดิมพื้นที่นี้ขึ้นตรงกับรัฐเคดาห์หรือที่คนไทยเรียกว่าไทรบุรี มีฐานะเป็นตำบลขึ้นกับกิ่งอำเภอจังโหลน จังหวัดไทรบุรี
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการปกครองหัวเมืองประเทศราช ไทรบุรีเป็นมณฑลหนึ่งในหัวเมืองมลายู ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองหรือบุหงามาศและเครื่องบรรณาการทุกสามปี ให้แก่กษัตริย์สยาม
เสาหลักเมืองสะเดา
เส้นทางจากไทรบุรีไปยังกรุงเทพฯ นั้นต้องผ่านพื้นที่ของจังโหลน ทำให้ผู้นำต้นไม้เงินต้นไม้ทองต้องแวะพักที่นี่ จึงเรียกที่นี่ว่า “สะดาห์” หรือ “ซีดา” ซึ่งเป็นภาษามลายู หมายถึงผู้นำหรือที่รวมคนซึ่งเป็นผู้นำมาพัก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปฏิรูปการปกครองยกเลิกหัวเมืองประเทศราชส่งผลให้ธรรมเนียมการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นบรรณาการถูกยกเลิกไปด้วย
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เมืองไทรบุรีตกเป็นของมลายูซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐบาลจึงกำหนดเขตแดนใหม่ตั้งแต่บ้านควนไม้ดำหรือจังโหลนให้เป็นเขตของไทย สะเดาจึงขึ้นตรงกับเมืองสงขลาตั้งแต่นั้นมา
คำว่า “สะเดา” ที่เราเรียกกันในปัจจุบันจึงเพี้ยนเสียงมาจาก“สะดาห์ หรือ ซีดา” ไม่ใช่ชื่อต้นไม้ (ต้นสะเดา) อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ (อ้างจากวารสารย้อนรอยสะเดา)
ทวดหลักเมืองสะเดา
การได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงสำคัญเพราะการรู้รากเหง้าทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งหล่อหลอมและสร้างอัตลักษณ์ของคนในชุมชน ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องอันเป็นพื้นฐานของการสร้างความรักและหวงแหนชุมชนอันนำสู่การพัฒนาให้รุ่งเรืองต่อไป
ณ. หนม
#กากพร้าว
โฆษณา