26 มี.ค. 2023 เวลา 02:03 • ไลฟ์สไตล์
“กลยุทธ์ขั้นบันได” ที่จะทำให้การตัดสินใจยาก ๆ ง่ายขึ้นภายใน 5 นาที
.
ในชีวิตของเราแต่ละวันนั้นมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยกับการต้องตัดสินใจไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน หลายต่อหลายครั้งเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เคร่งเครียด อยู่ในจุดที่ต้องตัดสินใจอะไรยาก ๆ และต้องตัดสินใจให้เร็วด้วย ทำให้บางทีก็ทำอะไรไม่ถูก เหมือนรถยนต์ที่ติดโคลนข้างทาง ไม่สามารถขยับไปไหนได้สักที ปัญหาเหล่านี้มักมาพร้อม ๆ กัน ไม่สามารถโฟกัสไปที่ทุกอย่าง และแต่ละปัญหาก็มานั่งวิตกอีกว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา คิดมากกับการตัดสินใจไม่ว่าทางไหนก็ตาม
.
ในบทความของเว็บไซต์ Inc.com ได้แชร์สิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “กลยุทธ์ขั้นบันได” ที่สามารถเอามาปรับใช้ในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งข้อดีของมันก็คือว่ามันเป็นขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนซึ่งจะช่วยทำให้การตัดสินใจยาก ๆ นั้นง่ายขึ้น และทำได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ แค่ 5 นาทีด้วย
.
## ขั้นแรก : สองคำถามที่ต้องถามเพื่อสร้างกรอบของปัญหาแต่ละอัน
.
คำถามแรก : การตัดสินใจครั้งนี้จะมีผลกระทบที่ชัดเจนและวัดผลได้ต่อพนักงาน บริษัท หรือ สังคมที่เราอยู่ไหม?
.
คำถามที่สอง : การตัดสินใจครั้งนี้เร่งด่วนไหม?
.
ถ้าคำตอบสำหรับทั้งสองคำถามคือ “ไม่” อย่างแรกที่ต้องทำคือหายใจลึก ๆ การตัดสินใจครั้งนี้ยังไม่ได้สร้างผลกระทบหรือคับขันอย่างที่เราคิด ตอนนี้ก็ลองใช้เวลากับมันได้อยู่
.
แต่ถ้าคำตอบคือ “ใช่” หรือ “อาจจะ” ไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่งก็ขยับขึ้นไปขั้นที่สอง
.
## ขั้นที่สอง : ให้ช่องว่างและเวลาสำหรับหายใจหายคอ
.
หายใจลึก ๆ หลับตาแล้วสูดลมหายใจลึก ๆ เข้าออก หลังจากนั้นก็โฟกัสความสนใจทั้งหมดให้กับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าทีละปัญหาอย่างน้อย ๆ 5 นาทีก่อนที่จะตัดสินใจ อาจจะปิดประตูออฟฟิศ ปิดมือถือ ปิดการรบกวนภายนอกให้หมดในช่วงเวลานี้ แล้วก็ลงมือตัดสินใจไปทีละปัญหา
.
## ขั้นที่สาม : เขียนทางเลือกทุกอย่างที่มีไว้ในกระดาษ
.
บนกระดาษแผ่นหนึ่ง ให้เขียนถึงทางเลือกทุกอย่างที่มีออกมาสั้น ๆ อย่างละประโยค สั้น ๆ แต่ได้ใจความ เอาแค่ที่รู้และสิ่งที่เห็นมาแล้ว
.
ในแต่ละทางเลือกนั้นให้เขียนต่อไปข้างหลังถึงสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น (ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด) ตรงนี้ก็เช่นเดียวกัน ให้เขียนถึงการคาดการณ์ที่มาจากความจริงเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เรา “หวัง” ว่าจะให้มันเกิดขึ้น
.
อันนี้คือขั้นตอนสำคัญที่ทำให้เรานั้นสามารถวางแผนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราตัดสินใจไปแล้ว ทางเลือกไหนที่ปลายทางยังไม่ชัดเจนก็ให้เขียนออกมาว่าต้องการข้อมูลตรงไหนเพิ่มเติม ถ้ายังพอมีเวลาเหลือให้ลองเติมรายละเอียดตรงที่ยังไม่ชัดเจนให้ครบก่อนแล้วค่อยไปต่อ
.
## ขั้นที่สี่ : เมื่อได้ทุกอย่างพร้อมแล้วก็ให้ตัดสินใจ
.
วงกลมปลายทางที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นมาที่สุด หลังจากนั้นก็ดูว่าสิ่งที่เราต้องลงมือทำคืออะไร นี่คือทางเลือกที่ 1 ที่ควรเลือก วงกลมปลายทางที่สองไว้อีกอันด้วย เผื่อว่ามีเหตุการณ์อะไรที่ไม่คาดฝันก็อาจจะเป็นแผนสำรองที่จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงทีหลังได้
.
มันอาจจะดูเป็นกลยุทธ์ที่ดูไม่ยาก (บางคนอาจจะบอกว่ามันงี่เง่าด้วยซ้ำ) แต่ถ้าตั้งใจทำจริง ๆ มันจะช่วยบีบทำให้เราคิดถึงรายละเอียดและความจริงบางอย่างที่มีอยู่แล้ว เราจะได้ไม่ไขว่เขวด้วยอารมณ์หรือความรู้สึกว่าอยากให้มันเป็นแบบนั้น
แบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ ความจริงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หรือถูกกดันจากสิ่งภายนอกจนตัดสินใจผิดพลาด ถ้าทำแบบนี้บ่อย ๆ เข้ามันจะเป็นการฝึกสมองของเราให้ตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ทำบ่อย ๆ เข้าอาจจะไม่ต้องเขียนอะไรออกมาเลยก็ได้ แต่สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก ๆ ด้วย
.
=======
.
โฆษณา