26 มี.ค. 2023 เวลา 09:05 • การศึกษา

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ในชั้นการสอบสวน

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนจัดให้คู่กรณีในคดีอาญา มีโอกาสเจรจาตกลง หรือเยียวยา ความเสียหายเพื่อระงับคดีอาญา
คู่กรณีคือ ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ไม่หมายความรวมถึง คดีอาญาที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหาย
ผู้เสียหายสามารถให้ผู้มีอำนาจจัดการแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดำเนินการแทนได้ [ม.46 พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2562]
ส่วนผู้ต้องหาต้องดำเนินการด้วยตนเอง ไม่อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นจัดการแทนได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้
กรณีผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย การไกล่เกลี่ยเป็นอันสิ้นไป เนื่องด้วยสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (1)
คดีที่อาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาได้ พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการ ดังนี้
1. แจ้งให้คู่กรณีทราบในโอกาสแรกว่ามีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา
2. บันทึกการแจ้งดังกล่าวไว้ในบันทึกคำให้การผู้ต้องหา หรือบันทึกปากคำผู้เสียหาย
3. บันทึกการแจ้งสิทธิร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมัครใจและประสงค์จะเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา และคดีนั้นมิได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ให้ดำเนินการ ดังนี้
1
1. คู่กรณียื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ต่อพนักงานสอบสวน
2. พนักงานสอบสวนมีความเห็นเสนอต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจ ออกคำสั่งภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
3. พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่ง จะสั่งให้ทำการไกล่เกลี่ยได้ต่อเมื่อ
3.1 พฤติการณ์ของการกระทำความผิดไม่ร้ายแรง และ
3.2 ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยรวม
* ให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่ง พิจารณามีคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน
* กรณีพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยยื่นต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่ง ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว [ตาม มาตรา 44 พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539]
เมื่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่ง มีคำสั่งให้ไกล้เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ตามมาตรา 44 แล้ว ให้หยุดนับอายุความในการดำเนินคดีอาญา และเมื่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่ง มีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป ตามมาตรา 60 ให้นับอายุความในการดำเนินคดีต่อจากเวลานั้น
การผัดฟ้อง ฝากขัง และปล่อยชั่วคราว ในระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ในชั้นการสอบสวน
กรณีพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่ง มีคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หากผู้ต้องหามิได้มีพฤติการณ์หลบหนี มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องดังต่อไปนี้มาใช้บังคับ
1. การฟ้องและการผัดฟ้อง ตามกฏหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง
2. การควบคุมหรือขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
3. ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นการสอบสวน มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องระยะเวลา ตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ
การประชุมการเลือกและแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย
พนักงานสอบสวนต้องแจ้งคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวนให้คู่กรณีทุกฝ่ายทราบ พร้อมทั้งกำหนดวันเวลาสถานที่ เพื่อให้คู่กรณีทุกฝ่ายเลือกและแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย
พนักงานสอบสวนจัดให้มีการประชุมภายใน 7 วัน นับแต่วันที่พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่ง มีคำสั่งให้ไกลีเกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน เพื่อเลือกและแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย
ถ้าคู่กรณีไม่อาจตกลงเลือกผู้ไกล่เกลี่ยได้ ให้พนักงานสอบสวนเลือกและแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย แล้วแจ้งผู้ไกล่เกลี่ย แบะคู่กรณีทราบ
อำนาจของพนักงานสอบสวน ในระหว่างการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน ไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไป
1
โฆษณา