27 มี.ค. 2023 เวลา 17:53 • ธุรกิจ
บูดาเปสต์

ทำอย่างไร รูบิค ตำนานลูกเต๋าปริศนา จึงครองตลาดอเมริกาโดยไม่พึ่งพาสิทธิบัตร

แม้จะกำเนิดขึ้นมาเกือบ 50 ปีแล้ว ลูกบาศก์ของรูบิค (Rubik’s Cube) ปริศนาสามมิติท้าทายสมอง ที่เรียกกันส้้นๆว่า “รูบิค” ก็ยังดึงดูดคนทุกวัยทั่วโลกให้ลองแก้ปริศนาบิดลูกเต๋า 6 สี เพื่อให้หน้าสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 คูณ 3 ช่อง แต่ละหน้ากลับคืนสู่สีเดียวครบทั้ง 6 หน้า ปัจจุบันคาดว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านคนบนโลกใบนี้ ได้เคยลองเล่นแก้ปริศนานี้มาแล้ว (แม้ว่าคนที่พิชิตมันได้น่าจะน้อยกว่านั้นมาก)
รูบิค นับเป็นหนึ่งในของเล่นยอดนิยมที่สุดตลอดกาล เช่นเดียวกับตำนานของเล่นอมตะอื่นเช่น เลโก้ และชื่อของนักประดิษฐ์ก็ได้กลายมาเป็นคำสามัญเรียกของเล่นชนิดนี้ แม้ว่าจะเป็นของทำเลียนแบบก็ตาม
รูบิค(คนคิด) กับรูบิค(ของเล่น) ที่ผลิตโดย Ideal Toy ในยุค 80 (ที่มา : internet)
เมื่อIdeal Toy Corporationนำรูบิคออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในปี 1980 ได้รับความนิยมอย่างสูงในทันที และครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดอยู่หลายปี หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะ รูบิคมีสิทธิบัตรคุ้มครอง โดยเฉพาะอ้างถึงสิทธิบัตรสหรัฐเลขที่ 4,378,116 (https://patents.google.com/patent/US4378116) ที่จะครบรอบ 40 ปีในวันที่ 29 มีนาคม ปีนี้ ว่าเป็นจุดกำเนิดของรูบิค
ใครที่เคยอ่านสิทธิบัตรฉบับดังกล่าว จะสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่าเป็นสิทธิบัตรคุ้มครองลูกบาศก์ชนิด 3x3x2 ที่มี 18 ชิ้นย่อย ซึ่งไม่ได้รับความนิยมและเลิกผลิตไป ไม่ครอบคลุมถึงลูกบาศก์รุ่นคลาสสิกยอดนิยมที่มีด้านละ 3 ชิ้นเท่ากัน
รูบิครุ่นยอดนิยม 3x3x3 นั้นไม่เคยมีสิทธิบัตรในอเมริกาและในประเทศอื่นๆเกือบทุกแห่งในโลก แต่ผู้ผลิตรูบิคใช้ยุทธวิธีทางกฎหมายอื่นที่ทำให้ยังคงผูกขาดอยู่ได้นานกว่าการมีสิทธิบัตรเสียอีก
สิ่งประดิษฐ์จากโลกคอมมิวนิสต์
สิ่งประดิษฐ์ของเล่นที่สร้างความบันเทิง (และความปวดหัว) ในกับคนทั่วโลกนี้ มีจุดเริ่มต้นที่ สาธารณรัฐประชาชนฮังการี ประเทศคอมมิวนิสต์แบบอ่อนๆ ในปี 1974 ผู้ประดิษฐ์คือเอร์โน รูบิค (Ernő Rubik) อาจารย์สอนสถาปัตยกรรม ที่วิทยาลัยการออกแบบในบูดาเปสต์ (ปัจจุบันชื่อมหาวิทยาลัยศิลปะและการออกแบบโมโฮลีนาจ) วัย 30 ปี ไม่ได้ต้องการให้เป็นของเล่นขายเลย
ต้นแบบรูบิคในมือของเอร์โน รูบิค ที่เขาทำขึ้นเองด้วยไม้
รูบิค นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ผู้หลงใหลในรูปทรงเรขาคณิต ได้คิดค้นลูกบาศก์นี้ขึ้นเพื่อให้นักศึกษาในวิชาออกแบบได้เล่นสนุกและเกิดแรงบันดาลใจ เขาได้ทำต้นแบบขึ้นจากไม้ด้วยตัวเอง และพยายามแก้ปัญหาโครงสร้างภายในให้หมุนได้จนสำเร็จ
รูบิคเองใช้เวลาอยู่เป็นเดือนในการหาวิธีหมุนลูกบาศก์ให้แต่ละหน้าคืนตำแหน่งเดิมครบทุกหน้า จนนับว่าเป็นคนแรกของโลกที่แก้ปริศนาได้สำเร็จ นักศึกษาของเขาได้ลองเล่นแล้วชอบกันมาก
เมื่อออกแบบโครงสร้างภายในได้ลงตัวแล้ว เอร์โน รูบิค ยื่นขอสิทธิบัตรฮังการีเมื่อ 30 มกราคม ค.ศ. 1975 ประกาศโฆษณาเมื่อ 28 ตุลาคม 1976 และได้รับสิทธิบัตรเมื่อ 31 ธันวาคม1977 ในชื่อ “ของเล่นตรรกมิติ” (spatial logical toy)
สิทธิบัตรฮังการี 170062 ฉบับดั้้งเดิมของเอร์โน รูบิค ในชื่อ ของเล่นตรรกมิติ (spatial logical toy)
การออกแบบที่เรียบง่ายของรูบิคที่ยังใช้เป็นหลักกันมาจนทุกวันนี้คือ ชิ้นส่วนย่อย 20 ชิ้นตรงขอบและมุมจะมีส่วนยื่น ซึ่งใช้ผิวล็อคทรงกลมนูน (spherical confining face) ส่วนชิ้นกลางแต่ละหน้า 6 ชิ้นจะมีผิวเว้าที่รับกันพอดี เพื่อกันอีก 20 ชิ้นไม่ให้หลุด แต่ให้หมุนรอบได้
เอร์โน รูบิค (ผู้เป็นบุตรของวิศวกรออกแบบเครื่องบินผู้มีชื่อเสียงในฮังการี) ได้ติดต่อกับบริษัทของเล่นภายในประเทศเพื่อผลิตออกขาย ในที่สุดเมื่อปี 1977 บริษัท Politoys (Politechnika) ตกลงทำลูกบาศก์พลาสติกออกมาขายทดลองตลาด 5 พันชิ้นในชื่อ "Bűvös Kocka" ที่แปลว่า Magic Cube ปรากฏว่าขายเกลี้ยง ภายใน 3 ปีขายในฮังการีไปได้ 3 แสนชิ้น
ขณะนั้นฮังการียังเป็นรัฐสังคมนิยมขาดการติดต่อกับโลกตะวันตก นอกฮังการีแทบไม่มีใครรู้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์นี้อยู่
"Bűvös Kocka" รุ่นแรกที่ขายในฮังการี ปัจจุบันเป็นของหายาก
บริษัทได้นำ Magic Cube ไปร่วมงานแสดงของเล่นในเยอรมันตะวันตกในปี 1979 วางอยู่ในบูทเล็กๆเงียบๆเชยๆแบบคอมมิวนิสต์ที่ไม่ค่อยมีใครแวะชม ทอม เครเมอร์ (Tom Kremer) เจ้าของ Seven Towns บริษัท ของเล่นเล็กๆ (ในขณะนั้น) อดีตผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันชาวยิวสมัยนาซี ได้ค้นพบเข้า เขารู้ว่าจะต้องดังแน่ถ้าไปถึงอเมริกาและเสนอเป็นตัวแทนให้
คงต้องบอกว่า หลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์
Zauber Würfel หรือ Magic Cube ในภาษาเยอรมันจากงาน toy fair ปี 1979
แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ราบรื่นนัก
ด้วยการติดต่อของทอม เครเมอร์ ในปี 1980 รูบิคบินออกนอกประเทศครั้งแรกไปอเมริกา เพื่อทำข้อตกลงกับบริษัทของเล่นรายใหญ่ Ideal Toy Corporation (ซึ่งต่อมาขายกิจการให้กับ CBS) ที่อยู่ในช่วงขาลง Ideal Toy ตกลงซื้อสิทธิ Magic Cube จากรูบิคและนำมาผลิตขายในอเมริกาโดยเปลี่ยนชื่อเป็น Rubik’s Cube ตามชื่อของนักประดิษฐ์ ที่ดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่า
โลโกและเครื่องหมายการค้าของรูบิค ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1980
บริษัทพบว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของรูบิคในฮังการี ไม่สามารถนำมาจดทะเบียนในอเมริกาได้อีก ตามข้อตกลงกรุงปารีสเรื่องการจดสิทธิบัตรข้ามชาติ สิ่งประดิษฐ์ที่เปิดเผยแล้วจะนำมาขอสิทธิบัตรในประเทศอื่นได้ต้องขอภายในเวลาประมาณ 1 ปี แต่สิทธิบัตรฮังการีออกมาเกือบ 3 ปีแล้วถือว่าขาดความใหม่ (lack of novelty) กลายเป็นสมบัติสาธารณะไป
แต่ Ideal Toy เชื่อมั่นในสินค้านี้อย่างยิ่ง เดินหน้าต่อโดยไม่ลังเล ขณะเดียวกันยังได้ปูพรม ออกสินค้าอื่นๆที่ยังใหม่จดสิทธิบัตรได้พร้อมกันไปด้วย คือลูกบาศก์หมุนรุ่น 3x3x2 (สิทธิบัตร 4,378,116 ที่พูดถึงข้างต้น), รุ่น 2x2x2 (สิทธิบัตร 4,378,117 ) ในชื่อ Pocket Cube, รุ่นRubik Snake (สิทธิบัตร 4392323 https://patents.google.com/patent/US4392323A) และรุ่นทรงกระบอก (สิทธิบัตร4410179 https://patents.google.com/patent/US4410179)
ส่วนรุ่นคลาสสิค 3x3x3นั้น ไม่มีสิทธิบัตร ดังที่อธิบายแล้ว ต้องอาศัยเครื่องหมายการค้าอย่างเดียว ส่วนรุ่น 3x3 ที่มี 2 ชั้น ซึ่งมีสิทธิบัตรนั้น กลับขายไม่ดี ต่อมาจึงได้เลิกผลิตไป
แสตมป์ที่ระลึกรูบิคชิงแชมป์โลก 1982 ที่บูดาเปสต์
รูบิค 3x3x3 ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่ปีแรก Ideal Toy ขายรูบิคได้ 5 ล้านชิ้นในราคาประมาณ 10 ดอลลาร์ คิดเป็นยอดขายประมาณครึ่งหนึ่งของแอปเปิลทูในปีเดียวกัน ส่งผลให้บริษัทพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรท่วมท้นภายในปีเดียว ส่วนแบ่งกำไรทำให้เอร์โน รูบิคกลายเป็นบุคคลแรกจากประเทศคอมมิวนิสต์ ที่สร้างตัวเป็นเศรษฐีได้ในชั่วคนเดียว (ในปีเดียวก็ว่าได้) โดยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงทำธุรกิจเอง
เมื่อความนิยมมากอย่างนี้ คู่แข่งอื่นก็รู้แกวว่าไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครอง จึงนำเข้าลูกบาศก์รุ่นคลาสสิก ผลิตในจีนออกขายบ้าง ในราคาถูกกว่าเกินครึ่ง
แต่ Ideal Toy ยังมีไม้เด็ด นอกจากเครื่องหมายการค้าคุ้มครองแบรนด์รูบิคแล้ว ตามกฎหมายสหรัฐที่ชื่อ Latham Act ออกมาตั้งแต่ปี 1946 ให้ความคุ้มครอง trade dress ภาษาไทยเรียกว่า “เครื่องหมายรูปลักษณ์” อีกด้วย (คดีร้านขายชานมที่ฟ้องกันในไทยไม่กี่ปีก่อนก็เข้าข่ายทำนองนี้)
โครงสร้างชิ้นส่วนของรูบิคที่ดัดแปลงส่วนยื่นด้านในเป็นสันแหลี่ยม แทนที่จะเป็นผิวโค้งตามแบบของเอร์โน รูบิค เพื่อให้ประกอบง่าย
รูปโฉมต้องไม่เหมือนใคร
trade dress คือลักษณะโดดเด่นของสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำ ซึ่งไม่ใช่แค่ชื่อแบรนด์หรือโลโก แต่รวมทั้งรูปร่าง สีสันภายนอกทั้งหมด แต่จะต้องไม่ใช่หน้าที่การทำงาน (functional) ซึ่งอยู่ภายใต้สิทธิบัตร
เครื่องหมายรูปลักษณ์ของรูบิครุ่นคลาสสิก ก็ได้แก่ รูปร่างลูกเต๋า 6 หน้าด้านละ 3 คูณ 3 ช่องที่มีสติกเกอร์ 6 สี เขียวเข้ม, ขาว, น้ำเงินเข้ม, ส้ม, เหลือง, แดง ติดบนพลาสติกพื้นหลังสีดำ ผู้ผลิตอื่นๆส่วนใหญ่ก็ทำสินค้าทั้งรูปร่างและโทนสีออกมาเหมือนกันทุกอย่าง แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อรูบิคก็ตาม Ideal Toy อ้างว่าทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าเป็นของแท้
Ideal Toy จึงทำการฟ้องร้องผู้ผลิตอื่นว่าละเมิด trade dressในเครื่องหมายการค้าของตน ชนะคดีไปหลายราย ผู้ผลิตของก๊อปหลายรายก็ช่างกระไร คือนอกจากทำสินค้าเหมือนแล้ว ยังทำบรรจุภัณฑ์แบบเดียวกันอีก มาวางขายใกล้ๆ แบบ OEM คือไม่ติดตราสินค้าของตน ลูกค้าบางรายที่ซื้อไปแล้วมีปัญหาก็ส่งสินค้านั้นมาเคลมที่ Ideal Toy ซะอีก ถูกฟ้องก็สมควรอยู่
รูบิครุ่นตำนานต้องพื้นดำและโครกคราก
การใช้กติกา trade dress จะมีอายุความคุ้มครองไปเรื่อยๆ เทียบเท่าเครื่องหมายการค้า ตราบเท่าที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ซึ่งเกินกว่าอายุ 20 ปีของสิทธิบัตรด้วยซ้ำ แม้กระทั่งเมื่อปี 2018นี้เอง Rubik's Brand Limited ผู้รับช่วงเครื่องหมายการค้ารูบิคต่อมาก็ยังมีคดีฟ้องผู้ผลิตรายอื่นในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ การใช้วิธีกดดันผู้ค้าปลีกรายใหญ่ และควบคุมกติกาการแข่งขันรูบิคที่ตนเองเป็นสปอนเซอร์ ทำให้บริษัทผูกขาดตลาดอเมริกาอยู่หลายปีจนความนิยมเริ่มลดลงไปเอง ชุมชนนักบิดลูกเต๋า เริ่มวิจารณ์ว่าเจ้าของแบรนด์รูบิคทำเกินเลย ทำให้ผู้ผลิตรายใหม่ที่ทำสินค้าคุณภาพดีกว่าเข้าสู่ตลาดไม่ได้ไปด้วย
คดีละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ Rubik's Brand Limited ฟ้อง Cubicle.us ในปี 2018 :
คู่แข่งที่ถูกลืม
อุปสรรคของรูบิคไม่มีเพียงเท่านั้น นอกจากรูบิค 3 ช่องอันเป็นตำนานแล้ว Ideal Toy (CBS) ยังได้ทำตลาด Pocket Cube ขนาด 2x2x2 หรือแบบ 2 ช่องตามสิทธิบัตรสหรัฐ 4,378,117 ของเอร์โน รูบิค ซึ่งขายได้ดีเหมือนกัน
อย่างไรก็ตามสิบปีก่อนหน้านั้น แลรี นิโคลส์ (Larry D. Nichols) ดร.ทางเคมีจบจากฮาวาร์ดได้จดสิทธิบัตรปริศนาลูกเต๋า 2 ช่องไว้ก่อนแล้ว โดยใช้กลไกแม่เหล็กยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน ก่อนที่เอร์โน รูบิค จะทำลูกเต๋าไม้ของเขาขึ้นมาเสียอีก
ปริศนาลูกเต๋า 2 ช่อง กับผู้ประดิษฐ์ ดร. แลรี นิโคลส์ ผู้มาก่อนกาล
ลูกเต๋าแม่เหล็ก 2 ช่องของนิโคลส์ไม่ได้รับความนิยม (น่าจะโกงกันง่าย) เมื่อ Pocket Cube ของรูบิคขายได้ดี ในปี 1982 Moleculon Research Corp นายจ้างของแลรี นิโคลส์ ได้ฟ้อง CBS เจ้าของแบรนด์รูบิคขณะนั้นว่าทั้งรูบิคแบบ 2 ช่องและ 3 ช่องละเมิดสิทธิบัตรของตน
ถึงแม้ว่าโครงสร้างของ Pocket Cube จะไม่ได้ใช้แม่เหล็กตามสิทธิบัตรของนิโคลส์ แต่เนื่องจากสิทธิบัตรของนิโคลส์ก็ไม่ได้เขียนจำกัดว่าจะต้องใช้แม่เหล็กยึดเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงลูกบาศก์ 2 ช่องทุกชนิดที่เล่นแบบเดียวกัน ทำให้ศาลตัดสินว่า Pocket Cube แบบ 2 ช่องละเมิดสิทธิบัตรปี 1970 จริง ให้ CBS ชดใช้ค่าสินไหมย้อนหลังให้กับนิโคลส์
ส่วนรูบิค 3 ช่อง รุ่นคลาสสิกไม่ละเมิด อย่างไรก็ตาม รูบิคเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และยังผลิต Pocket Cube 2 ช่องขายอยู่ต่อมาจนปัจจุบัน ส่วนสิทธิบัตรของนิโคลส์หมดอายุไปนานแล้ว
สถานการณ์ทางยุโรป
เดิมที เอร์โน รูบิคได้มอบสิทธิสิ่งประดิษฐ์ของตนในยุโรป ซึ่งมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ต่างออกไปให้กับบริษัท Seven Towns ซึ่งก่อตั้งโดยทอม เครเมอร์ มีสำนักงานใหญ่ที่ลอนดอน นอกจากฮังการีบ้านเกิดแล้ว รูบิคสามารถจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของเขาได้ที่เบลเยียมในปี 1981
เมื่อสิทธิบัตรใกล้หมดอายุ บริษัท Seven Townsตัวแทนขายรูบิคในยุโรปได้ยื่นขอ “เครื่องหมายการค้าสามมิติ” ด้วยในปี 1999 เนื่องจากไม่มี trade dress คุ้มครองแบบครอบจักรวาลเหมือนอเมริกา ตัวอย่างของเครื่องหมายการค้าสามมิติ เช่น ขวดน้ำอัดลม ไฟแช็ค หรือรูปทรงช็อคโกแลทยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผู้บริโภคเห็นจะจดจำได้ทันที
ผู้ขอต้องระบุขอบเขตของ 3d trademark มาให้ชัด ความหมายจึงแคบกว่า trade dress หน่อยนึง
คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสามมิติในสหภาพยุโรปของ Seven Towns
หากรูบิคกลายสภาพเป็นเครื่องหมายการค้าสามมิติจะได้รับสิทธิผูกขาดตัวสินค้า ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อ ไปตลอดกาลตราบที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ผู้ผลิตรายอื่นเช่น Simba Toys ต่างคัดค้าน
จนเมื่อปี 2016 ศาลแห่งสหภาพยุโรป (ECJ) ได้ตัดสิน ปฏิเสธมิให้ตัวรูบิคได้รับเครื่องหมายการค้าสามมิติ เนื่องจากลักษณะเด่นของสินค้าไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่รวมถึงคุณสมบัติการใช้งานได้แก่ความสามารถในการหมุนอีกด้วย ที่จะต้องไปคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรการประดิษฐ์แทน (ซึ่งเกินกำหนดมานานแล้ว)
ขณะเดียวกัน Seven Towns (ซึ่งหมดยุคทอม เครเมอร์แล้ว) ขอถอนตัว และได้โอนสิทธิรูบิคในยุโรปทั้งหมดให้กับ Rubik’s Brand ดูแลแทนเพียงรายเดียว ในปี 2020 Spin Master บริษัทของเล่นในแคนาดาได้เข้าซื้อกิจการ Rubik’s Brand เจ้าของสิทธิทั้งหมดของรูบิคทั่วโลกไปในราคา 50 ล้านดอลลาร์ และยังออกสินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่พิสดารมากขึ้น เช่น รูบิค “ปีศาจ” (Phantom) ที่ใช้สติกเกอร์สี thermochromicซึ่งจะปรากฏให้เห็นเมื่อได้รับความร้อนจากมือเท่านั้น
Stickerless Cube ผลิตในจีน
ผู้ผลิตรายอื่นยังสามารถผลิตลูกบาศก์หมุนปริศนา หรือ “ของเล่นตรรกมิติ” ขนาด 3x3x3 นี้ได้โดยเลี่ยงรูปแบบ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ไม่ให้เหมือนต้นฉบับทั้งหมด เช่นใช้พื้นหลังสีขาวแทนสีดำ ไม่ใช้แม่สี 6 สีแบบดั้งเดิม บางรายใช้สีม่วง สีชมพู ทำลวดลายอื่นๆ เช่นลายโดมิโน หรือลายผลไม้ แทน แม้แต่การผลิตลูกบาศก์แบบผสมสีพื้นมาในตัวโดยไม่ต้องติดสติกเกอร์ (Stickerless Cube) รวมทั้งการไม่ใช้ชื่อ “รูบิค” โดยตรง หลีกเลี่ยงไปใช้ชื่ออื่นแทนเช่น Speed Cube
โครงสร้างภายในของ speedcubeรุ่นใหม่ที่มีการปรับปรุงให้บิดง่ายขึ้น
ผ่านมา 40 กว่าปี รูบิคติดสติกเกอร์แบบดั้งเดิมที่ขายไปแล้วมากกว่า 350 ล้านชิ้น ได้ถูกแซงหน้าโดยลูกบาศก์ทางเลือกราคาประหยัดจากจีนไปแล้ว ถึงแม้ว่าบางคนจะเรียกลูกบาศก์รุ่นใหม่เหล่านั้นด้วยคำสามัญว่ารูบิคก็ตาม คำว่า รูบิค ยังคงสถานะเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผลบังคับใช้อยู่สำหรับสินค้าของแท้ ในประเทศที่มีการจดทะเบียนอยู่เช่นเดิม
แหล่งอ้างอิง
วิวัฒนาการของรูบิค ระยะหลัง
ปริศนามีอยู่รอบตัวหากสนใจใคร่รู้ หากตั้งใจจริงก็จะหาคำตอบได้
#รูบิค
#สิทธิบัตร
#เครื่องหมายการค้า
โฆษณา