28 มี.ค. 2023 เวลา 11:23 • การศึกษา

“แห่ผ้าขึ้นธาตุ” พุทธประเพณีโบราณ

เมื่อวันเพ็ญเดือนสามที่ผ่านมาเกิดแรงปรารถนาจะไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ จึงตัดสินใจพาครอบครัวไปเยือนถิ่นนครศรีธรรมราชกัน
ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ไปตรงกับงานบุญประเพณีโบราณของชาวนครศรีธรรมราช นั่นคือการแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสประเพณีดังกล่าว
ผ้าที่ใช้แห่ขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “พระบฏ” หรือ “พระบต” ซึ่งแปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตหมายถึงผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา
เนื่องจากชาวนครรับพุทธศาสนาจากอินเดียจึงได้รับอิทธิพลความเชื่อที่ว่า “หากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริง ๆ ก็ต้องปฏิบัติเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์เท่านั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่ปรินิพพานแล้วก็อาจยังมีตัวแทนอยู่ เช่น เจดีย์ และพระพุทธรูป เป็นต้น การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับกราบไหว้บูชาพระพุทธองค์ด้วย การที่ชาวนครนำผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ โดยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ก็คือการบูชาที่สนิทแนบกับองค์พระพุทธองค์นั่นเอง (วิเชียร ณ นคร และคณะ, ๒๕๒๑)
ตำนานเล่ากันว่าเมื่อสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชกำลังสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งจะเดินทางไปลังกาเพื่อนำพระบฏ (ผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ) ไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว แต่เรือกลับถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนคร ส่วนพระบฏถูกซัดขึ้นฝั่งปากพนัง ชาวบ้านจึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือน
พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าควรนำไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ในคราวเดียวกับการสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฏที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวนครจัดเครื่องประโคมแห่ผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมา
การแห่ผ้าขึ้นธาตุปฏิบัติอยู่สองครั้ง ได้แก่ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือ มาฆบูชา และ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือ วิสาขบูชา
เมื่อถึงวันดังกล่าวชาวบ้านจัดเตรียมพระบฏหรืออาจทอนผ้าที่วัดเตรียมไว้ โดยร่วมบริจาคค่าผ้าทำบุญตามกำลังศรัทธา นำผ้าเดินทักษิณาวรรตรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ เมื่อครบแล้วนำผ้าเข้าสู่วิหารพระทรงม้า เจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าไปพันโอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ต่อไป
ปัจจุบันประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย พระบฏที่เคยใช้ผ้าขาวเขียนลายพุทธประวัติก็เปลี่ยนเป็นผ้าเหลืองหรือแดง และเดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำกันโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนเอิกเกริกเพียงขบวนเดียว แต่ปัจจุบันไม่ต้องรอแห่ผ้าพร้อมกันเป็นขบวนเดียวก็ได้
แม้ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือความศรัทธาในพุทธศาสนาที่ชาวนครยังคงรักษาพุทธประเพณีโบราณนี้ไว้ ทำให้พุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศได้ร่วมบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ตามแรงศรัทธา
หากมีโอกาสสักครั้งหนึ่ง ชาวพุทธตั้งใจศรัทธาร่วมปฏิบัติพุทธบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อมงคลแก่ชีวิตและรักษาพุทธประเพณีนี้ไว้ดังที่ชาวนครสืบสานแต่โบราณมา
ณ. หนม
#กากพร้าว
โฆษณา