Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Is Life
•
ติดตาม
30 มี.ค. 2023 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ กำลังเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก
แปซิฟิก เป็นมหาสมุทรที่ใหญ่และลึกที่สุด เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
เท่าที่มีการศึกษา พบสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตราวๆ 228,450 สายพันธุ์ จากการสำรวจพื้นที่ไปได้ 10 เปอร์เซ็นต์
ส่วนอีก 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ยังเป็นปริศนา
คาดกันว่ายังมีสายพันธุ์อีก 50,000 - 2 ล้าน ชนิดที่ยังรอนักสำรวจเดินทางไปค้นพบ
อย่างไรก็ตาม หลังจากวันนี้ เราคงมีโอกาสไม่มาก สำหรับทำความรู้จักสายพันธุ์ที่ยังมองไม่เห็น
ขณะเดียวกัน ก็อาจถึงวันต้องบอกลาบางสายพันธุ์ ที่กำลังลดจำนวนลงจนจวนเจียนจะสูญพันธุ์
สาเหตุหลักมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น
อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นได้เปลี่ยนบ้านที่เคยอยู่เป็นสุขให้กลายเป็นห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมในวันกลางเดือนเมษายนของไทย
สัตว์ทะเลหลายชนิดเริ่มทยอยเดินทางขึ้นเหนือ ทิ้งบ้านเพื่อค้นหาแหล่งน้ำเย็น
กลายเป็นการอพยพครั้งใหญ่ จนสายพันธุ์ท้องถิ่นที่เราเคยพบ เคยใช้ประโยชน์ ค่อยๆ หายไป
มากไปกว่านั้น ภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น เมื่อน้ำอุ่นขึ้น กลไกการกักออกซิเจนก็จะลดลง หรือที่เรียกว่า Deoxygenation
ในแง่ของชีวิต เมื่อน้ำอุ่นขึ้น สัตว์น้ำจะต้องเผาผลาญพลังงานมากขึ้นจากการปรับตัว เปลี่ยนแปลงที่อยู่ ต้องว่ายน้ำมากขึ้น และต้องการออกซิเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะสัตว์น้ำขนาดใหญ่และว่ายน้ำเร็ว อย่างปลาทูน่า ปลากระโทง และฉลามบางชนิด เรื่องนี้ถือเป็นข่าวร้าย เพราะต้องใช้พลังงานมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
แต่สภาพที่เป็นอยู่ เหมือนกับเจอแต่ทางตัน ไหนจะน้ำร้อนขึ้น ออกซิเจนก็ยังลดลงอีก
ตามความเป็นไปของโลก น่านน้ำทะเลเปิดที่ห่างไกลจากฝั่งในบางส่วนของโลก อาจมีจุดที่ออกซิเจนต่ำ และไร้ออกซิเจน (เขตมรณะ) อยู่ตามธรรมชาติได้
พื้นที่ดังกล่าวเกิดจากการหมุนของโลกส่งผลต่อการไหลเวียนของกระแสน้ำ
แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยน้ำมือมนุษย์ในช่วงเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขตมรณะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงหลายล้านตารางกิโลเมตร
รวมทั้งลดปริมาณออกซิเจนโดยเฉลี่ยในน้ำทะเลทั้งหมดลงไป 2% หรือราว 77,000 ล้านตัน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเสียแหล่งปะการัง สถานอนุบาลสัตว์น้ำในธรรมชาติ
แนวปะการังรองรับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่หลากหลายและยังได้รับผลกระทบจากมลพิษและอุณหภูมิที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ การบำบัดน้ำเสีย สารพิษ ขยะ และไมโครพลาสติก ล้วนส่งผลให้อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้นและลดปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่สำหรับสิ่งมีชีวิตในทะเล
ปัจจัยอื่นๆ เช่น การทำประมงเกินขนาดและการเก็บเกี่ยวแนวปะการัง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยของและทำให้จำนวนประชากรลดลง
ปลาบางชนิด เช่น กาลาปากอสเดมเซล (มีถิ่นกำเนิดในน่านน้ำใกล้กับหมู่เกาะกาลาปาโกสและเกาะโคโคส) ถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่ไปเป็นที่เรียบร้อย
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลไม่ได้เป็นเพียงภัยคุกคามต่อระบบนิเวศนในมหาสมุทรเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบร้ายแรงต่อการจัดหาอาหารและความยั่งยืนของเรา
ผู้คนราว 3-5 พันล้านคน อาศัยมหาสมุทรเป็นแหล่งโปรตีนหลัก
มหาสมุทรยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน การอภิปรายประเด็นสนธิสัญญาทะเลหลวงได้รับการลงนามในการประชุมระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติในนครนิวยอร์กไปเป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งถือเป็นก้าวประวัติศาสตร์ปกป้องมหาสมุทรโลก
ใจความสำคัญของสนธิสัญญา เน้นการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และการดูแลน่านน้ำสากล
มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจศาลของประเทศ ซึ่งครอบคลุมประมาณสองในสามของมหาสมุทรทั่วโลก
ขั้นตอนหลังจากนี้ คือการแก้ไขและแปลเนื้อหาสนธิสัญญาให้เป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ ก่อนจะส่งมอบให้ประเทศสมาชิกเพื่อให้สัตยาบันรับรอง
และสร้างเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพขนาดใหญ่ในทะเลหลวง
เขตคุ้มครองในทะเลหลวงจะช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศจากภัยคุกคามของมนุษย์ ทั้งจากประมงทำลายล้าง ไปจนถึงโครงการเหมืองทะเลลึกที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังผลักดันให้เกิด
ส่วนในทางปฏิบัติยังมีเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิง
Pacific Ocean
https://shorturl.asia/SmoOq
Marine Life Faces Mass Extinction in the Pacific Ocean
https://shorturl.asia/yVDWL
“เขตมรณะ” ไร้ออกซิเจนในทะเลขยายตัวเพิ่มขึ้น 4 เท่า
https://shorturl.asia/VptDx
ภาพประกอบ กาลาปากอสเดมเซล wikipedia
เรื่องเล่า
สิ่งแวดล้อม
ข่าวรอบโลก
2 บันทึก
8
2
2
8
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย