1 เม.ย. 2023 เวลา 23:00 • ธุรกิจ

วัฒนธรรมแห่งความยุ่งที่ไม่เคยหายไปไหน

ความยุ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในโลกการทำงาน และไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่บ่อยครั้งหลายองค์กรก็อดไม่ได้ที่จะเห็นความยุ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับความขยัน ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่แล้วว่าการทำงานเยอะไม่ได้แปลว่าจะมีประสิทธิภาพ วันนี้จะมาดูกันว่าทำไมองค์กรต่าง ๆ ถึงติดกับนี้กันเยอะนัก
การที่หลายองค์กรติดกับดักของการให้คุณค่าความยุ่งมากกว่าตัวงาน นอกจากปัจจัยด้านวัฒนธรรมองค์กรที่มีส่วนสำคัญแล้ว นักวิจัยพบว่าความยุ่งด้วยตัวมันเองนั่นจริง ๆ แล้วเป็นหนึ่งใน status symbol ของคนในยุคปัจจุบันไปแล้ว โดยนักวิจัย Silvia Bellezza จากโคลัมเบียพบว่าคนเรามักมองคนที่ดูยุ่ง หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ดูเหมือนยุ่ง (เช่น หูฟังตัดเสียงรอบข้าง) ว่าเป็นบุคลากรสำคัญ และน่ายกย่อง
นอกจากนั้นก็มีงานวิจัยทำนองเดียวกันนี้จากนักจิตวิทยา Jared Celniker ที่พบว่าคนในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศษ และเกาหลีนั้นจะมองว่าคนที่ลงแรงทำงานเยอะ ๆ คือคนที่มีศีลธรรมน่าชื่นชมไม่ว่าผลงานจะออกมาอย่างไร และโดยสรุปยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่พาให้เราสามารถสรุปกันได้ว่า คือจากเมื่อก่อนที่คนทำงานคือชนชั้นล่าง ปัจจุบันคนงานยุ่งคือคนที่ดูดีในสังคม
ด้วยปัจจัยทางสังคมนี้เองที่ทำให้การจัดการกับความยุ่งในที่ทำงานเป็นเรื่องท้าทายมาก ๆ แต่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญของทุก ๆ องค์กรที่จะต้องทำให้ได้ เพราะการประเมินพนักงานด้วยจำนวนชั่วโมงที่พวกเขาใช้นั้นเป็นวิธีที่แย่มาก ๆ ในการทำงานกับคนเก่ง ๆ และมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นแล้วการที่พนักงานทำงานหนักเพื่อรักษาความยุ่งไว้มักนำมาซึ่งผลเสียต่องานจากการ burnout การลดประสิทธิภาพ และคุณภาพงาน รวมไปถึงการลาออกของพนักงานที่รับไม่ไหว
นอกจากนั้นแล้วคนเราก็ยังมีแนวโน้มที่จะสร้างความยุ่งให้ตัวเองด้วย เพราะสิ่งที่เรียกว่า Effort Justification มันคือการที่ยิ่งเราลงแรงไปกับอะไรมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งให้คุณค่ามันเท่านั้น และผูกมัดตัวเองกับมันมากขึ้นเท่านั้น และนั่นรวมไปถึงงานที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วย
งานวิจัยชิ้นโด่งดังของนักจิตวิทยาชื่อ Timothy Wilson ค้นพบว่าผู้ชาย 67% เลือกที่จะกดปุ่มเพื่อช็อตไฟฟ้าตัวเองมากกว่าการนั่งเฉย ๆ เป็นเวลา 15 นาที เพราะมนุษย์เรามีความอดทนกับความไม่มีอะไรทำต่ำมาก และเมื่อทนไม่ไหวเราจะต้องหาอะไรก็ได้ทำ และในบริบทองค์กรนั้นหมายถึงการที่เมื่อองค์กรไม่มีแผนกลยุทธ์ และลำดับความสำคัญที่ชัดเจนให้กับพนักงาน พวกเขาจะสามารถสร้างงานเพิ่มมาทำให้ตัวเองยุ่งได้ไม่รู้จบ แม้จะไม่เป็นประโยชน์ก็ตาม
ตัวอย่างเช่น จำกันได้อยู่ไหมว่าในช่วงแรกของโควิดบรรดาผู้นำกังวลว่าถ้า work-from-home พนักงานต้องอู้แน่นอน แต่เมื่อถ้ามองย้อนดูจากตอนนี้จะเห็นว่าช่วง work-from-home คือช่วงที่พนักงานใช้เวลาทำงานมากกว่าก่อนหน้านี้ที่เข้าออฟฟิศปกติทั้ง ๆ ที่ก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา
จะสังเกตได้ว่าเรามีปัจจัยมาก ๆ ที่ทำให้ความยุ่งยังคงเป็นสิ่งที่กัดกินชีวิตพนักงานมาได้ตลอด ๆ แต่นั่นยิ่งทำให้การจัดการกับเรื่องนี้ก็เรื่องสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเราทราบกันแล้วว่าการทำงานที่หนักเกินไปนั้นฆ่าคนได้จริง ๆ หรือต่ำกว่านั้นก็คือ burnout เหนื่อยล้างานไม่เดิน หรือไม่ก็ลาออก หรือในอีกมุมนึงต่อให้พนักงานจะพร้อมทุ่มเทให้กับองค์กร แน่นอนว่าองค์กรก็คงอยากให้พนักงานทุ่มเทกับงานที่เป็นประโยชน์มากกว่าทุ่มเทไปเรื่อย
และปี 2023 นี้คือปีที่ดีที่สุดที่จะเริ่มเลยก็ว่าได้ สาเหตุเนื่องมาจากการที่ปัจจุบันตลาดแรงงานยังคงขาดพนักงานเป็นจำนวนมาก ในขณะที่พนักงานก็กำลังมองหางานในที่ที่พวกเขาใช้เวลาทำงานน้อยลง และมีเวลาให้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น หรือพูดอีกอย่างคือเรากำลังเข้าสู่ยุคที่องค์กรต้องแข่งกันแย่งเวลาจากพนักงาน และความยุ่งในสิ่งที่ไม่จำเป็นคือเรื่องที่องค์กรไม่สามารถที่จะพลาดได้อีกต่อไป
หวังว่าเนื้อหาในวันนี้จะช่วยให้ทุกท่านเข้าใจถึงปัญหาความยุ่งในองค์กรได้มากขึ้นไม่มากก็น้อย และในสัปดาห์ถัดไปเราจะมาว่ากันต่อถึงว่าองค์กรสามารถแก้ปัญหานี้ยังไงได้บ้างครับ
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.
Reference:
โฆษณา