31 มี.ค. 2023 เวลา 15:00 • ความคิดเห็น

เหตุผลที่บริษัทควรมีหัวหน้างาน "Micromanage"

พูดถึงเทรนด์เรื่องพนักงาน burnout, quiet quitting ต่างๆ ที่เกิดใน Social media พอได้เข้าไปอ่านดู ก็เห็นว่าน้องๆ หลายคนเลือกลาออกเพราะเจ้านายเป็นหลัก ด้วยเหตุผลที่เจ้านาย micro manage มากเกินไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือจี้ จิก ตามจิกให้งานเสร็จ ไม่ให้อิสระในการทำงาน นั่นเอง
คำถามคือ เจ้านายที่เป็นตัวร้ายในสายตาน้องพนักงาน ความจริงแล้วเค้าอาจจะเป็น MVP ในองค์กร เป็นตัวละครที่องค์กรต้องมี เจ้านายร้ายๆ เคี่ยวๆ ที่เป็นเหมือนครูฝ่ายปกครอง สกรีนบุคลากรที่ไม่มีคุณภาพออกไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อทีมและองค์กร
พนักงานที่อยากลาออกหลายคน จะเริ่มมีความ toxic แบบทั้งที่ตัวเองรู้ตัวและไม่รู้ตัว ความ toxic ที่ว่า เริ่มจากการไม่พอใจอะไรบางอย่าง แล้วเริ่มคิดลบกับหลายๆอย่าง ลามไปเป็นโดมิโน เริ่มลบกับขั้นตอนการทำงาน ลบกับคนที่ทำงานด้วย ลบกับเนื้องาน เริ่มสร้างบรรยากาศอึมครึมรอบๆ และทำให้คนอื่นทำงานด้วยยาก
นอกจากนี้ พนักงานที่อยากลาออกจะเริ่มทำตัว absent คือไม่ attentive กับกิจกรรมใดๆ แม้จะเป็นงานของตัวเอง ในส่วนของความรับผิดชอบงานนั้นทำอยู่บ้าง ไม่ถึงกับไม่ทำเลย แต่ใช้เวลากับงานหนึ่งนานเกินความจำเป็น เพราะเริ่มไม่เห็นความสำคัญ ไม่แคร์ ไม่คิดว่าจะกระทบกับใคร (ยิ่งถ้านายไม่มาตามก็สบายเลย)
บางเคสพนักงานจะเริ่มเข้าข้างตัวเอง มั่นใจในตัวเองมากว่าที่เราทำมันดีแล้ว แต่องค์กรไม่ดี เลยทำให้ภาพรวมเป็นแบบนี้ เหมือนเราเป็นผลผลิตอันเลวร้ายขององค์กร และเข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำคือ Quiet Quitting เทรนด์ที่เห็นได้ทั่วไปตาม social media ฉันนี่แหละเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการ Quiet quitting (ทำตัวตามกระแส)
ซึ่งความเป็นจริงมันมีเส้นบางๆ ที่ทำให้มันแตกต่างกันอยู่
ความหมายของ Quiet Quitting คือการที่พนักงานยังทำงานได้เก่งเหมือนเดิม ยังคงทำหน้าที่ของตัวเองให้เสร็จ แค่ไม่ทำเกินหน้าที่ ไม่รับโปรเจ็คต์พิเศษ เพราะพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีเท่านี้ มากกว่าการปีน Corporate ladder
แต่การที่พนักงานทำตัว absent หรือ เราให้คำนิยามว่าเป็นพวก "The Slacker" คือพวกขี้เกียจ มาสาย หายตัว ผลัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนวันกำหนดส่งงานเองไปเรื่อยๆ งานเดิมไม่เสร็จสักที แบบนี้ไม่ใช่ Quiet Quitting
Quiet quitting อาจจะเป็น กระแสหนึ่งในโลกของการทำงาน เป็นเหมือน "ทางเลือก" ในการจัดลำดับความสำคัญของชีวิต เหมือนคนที่อยากทำงานของตัวเองเต็มที่ แต่ไม่อยากเติบโตไปให้เครียดมากไปกว่านี้ ซึ่งองค์กรจะบาดเจ็บจากทางเลือกนี้ เลือดออกแบบซิบๆ อารมณ์เหมือนฝุ่น PM ไม่ตายทันที แต่สะสมในปอดจนป่วยตาย เพราะการปั้นคนในองค์กรจะจ่ายเงินน้อยกว่าจ้างคนนอกเข้ามาเสมอ
ในเมื่อคนในไม่ยอมให้ปั้น องค์กรก็จะต้องปรับให้บุคคลที่เลือกทางเลือกนี้ทำงานในบทบาทที่เขาทำได้ดีที่สุด แล้วก็ต้องพยายามหาคนนอก หรือปั้นคนอื่น และได้แต่คาดหวังว่าคนอื่นๆ ก็จะไม่ affect กับกระแสนี้ไปอีกเหมือนกัน
แต่ Toxic Employee ทั้งหลาย และ The Slacker หนึ่งในนั้น "ไม่ใช่" กระแสในโลกของการทำงาน แต่เป็นการกระทำที่พนักงานเลือกจะทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง องค์กรที่มีพนักงานแบบนี้ จะบาดเจ็บและเลือดออก เหมือนเลือดไหลออกจากตัวทุกวัน เพราะพนักงานมานั่งกินเงินเดือน แบบผลงานลดลงกว่าครึ่งด้วยความตั้งใจของตัวเอง และโทษคนอื่นและองค์กรว่าเป็นสาเหตุ
ส่วนตัวเคยเห็นพนักงานแบบนี้ จะมีสองแบบ หนึ่งคือกลุ่มคนที่รู้ว่าตัวเอามานั่งหายใจทิ้งแล้วรู้สึกตัวเองไร้คุณค่าที่นี่ จึงตัดสินใจลาออกเอง เพื่อไปอยู่ที่อื่นที่ตัวเองสามารถสร้างคุณค่าได้ กับสองกลุ่มที่รู้ตัว แต่ไม่ทำอะไรเพราะรู้ว่าถ้าบริษัทจะไล่ออก บริษัทก็ต้องจ่ายเงินชดเชย
ทางเลือกแบบที่สองอาจจะทำได้กับบริษัท มหาชนที่มีพนักงานมหาศาลแล้วคุณเป็นแค่เฟืองหนึ่ง แต่ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ startup , SME ที่ไม่ได้มีระบบ HR ระบบกฎหมายรองรับ คุณกำลังทำร้ายบริษัทให้เลือดนองพื้นอยู่
องค์กรจึง "จำเป็น" ต้องมี หัวหน้างานที่ Micro manage เพราะถ้ามีแต่หัวหน้างานที่มองภาพรวม ไม่มีบุคคลที่คอยเช็ค milestone ของงาน เราจะรู้ progress ของงานก็ได้จากปากพนักงานบอกเท่านั้น แต่ไม่ใช่สถานการณจริงที่เกิดขึ้น หัวหน้างานที่ Micro manage เก็บรายละเอียด ถามหาเหตุผลทุกครั้งว่าทำไม ทำไม หัวหน้างานแบบนี้ที่ The Slacker จะทนไม่ได้ จนสุดท้ายลาออกและให้เหตุว่าเป็นเพราะ "เจ้านาย"
MVP ตัวจริง องค์กรเลือดไหลออกทุกวัน หัวหน้างานแบบครูระเบียบทำหน้าที่ ตัดแขนให้มันจบๆ แล้วห้ามเลือดได้ทัน คิดว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องมีคนแบบนี้ หรือคนที่เป็นหัวหน้างานแบบอื่น ก็จำเป็นต้องสวมบทผู้ร้ายได้เมื่อจำเป็น
ซึ่งน่าเสียดาย บริษัทที่ตกเป็นเหยื่อของ Slacker ที่เป็น start up หรือ SME จะไม่มี "ลำดับขั้น" ของบุคลากรไว้เล่นเกมการเมืองมากพอ ทำให้ Toxic employee กลุ่มนี้ยังอยู่ได้ บริษัทก็ขยับตัวไม่ได้ จะไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็วก็ติดเรื่องบุคลากร ซ้ำยังต้องกลัวว่า "พิษร้าย" (ที่คิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อ) จะลามไปติดบุคลากรที่ดีคนอื่นในองค์กรอีก
โลกของเรา คำนิยามของคำว่า "ผู้กระทำ" กับ "ผู้ถูกกระทำ" มันแบ่งกันยาก เหมือนเส้นบางๆ ที่แบ่งระหว่าง Quiet Quitting กับ Toxic Employee
#เคยคิด 310323
อ้างอิง thematter.co, techsauce, workhuman
โฆษณา