1 เม.ย. 2023 เวลา 14:29 • ประวัติศาสตร์

"April Fool's Day" ทำไมต้องโกหกกัน

อาจจะตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ช้าไปสักหน่อย แต่เมื่อจบวันทำงานก็ตัดสินใจรีบมาเขียนเรื่องนี้ หลังจากพักการเขียนไปนาน
"April Fool's Day" เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยโดนแกล้งในวันนี้มาไม่น้อย ซึ่งคนทั่วโลกเขาเล่นแกล้งกันในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หมายความว่าคุณจะถือสาการแกล้งโกหกกันในวันนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการยกเว้นให้โกหกขำๆ ได้หนึ่งวัน แต่หลายๆท่านอาจจะไม่เคยทราบว่าจุดเริ่มต้นของเทศกาลวันนี้มีที่มามาจากไหน
ประวัติวันโกหกโลกเอพริลฟูลส์เดย์ (April Fool’s Day) หรือวันโกหกโลก
เริ่มต้นที่ประเทศฝรั่งเศส ในยุคศตวรรษที่ 16 ตอนนั้นชาวฝรั่งเศสมีวันปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน จนกระทั่งมาถึง ค.ศ.1562 โป๊ป เกรกอรี จึงกำหนดให้ชาวคริสต์ทั่วโลกฉลองวันปีใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 มกราคม แต่เมื่อสมัยก่อนนั้น ข่าวสารไม่ได้กระจายรวดเร็วเหมือนปัจจุบัน
คนบ้านนอกของฝรั่งเศสบางกลุ่มยังไม่รู้ แถมบางคนได้ยินแล้วก็ยังไม่เชื่อ เลยฉลองวันปีใหม่กันวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้ชาวเมืองในฝรั่งเศสยุคนั้นเย้ยหยันทำเหมือนเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก และพยายามแกล้งโกหกคนกลุ่มนี้ตลอดเวลา เมื่อวันที่ 1 เมษายนเวียนมาถึงในทุกๆ ปี จึงกลายเป็นเหตุผลที่ว่า จะแกล้งโกหกหลอกลวงอะไรใครในวันนี้ก็ได้ จากนั้นค่อยเฉลยในตอนท้าย และเป็นที่นิยมกันไปทั่วโลก
บางทฤษฎีเล่าว่า วันโกหกนี้เริ่มจากพวกโรมันโบราณมีเทศกาลที่เรียกว่า "Cerealia" จัดในช่วงต้นเดือนเมษายน เรื่องเล่านี้มีว่า เทพเจ้าชื่อ Ceres ทรงได้ยินเสียงสะท้อนของพระธิดา Prosperpina ตะโกนมาว่า เธอถูกจับตัวไปอยู่ใต้ผืนดินโดยเทพพลูโต Ceres จึงตามเสียงลูกสาวไป และได้พบความจริงที่ว่า การตามเสียงสะท้อนเนี่ย เป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเลย เหมือนว่าพระองค์ทรงถูกหลอกนั่นเอง
หรือก็มีการเล่าอยู่ในหนังสือ ตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) ซึ่งเล่าว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชี และพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น แน่นอนว่าการคัดลอกด้วยมือย่อมมี ผิดเพี้ยนเป็นเรื่องธรรมดา
ทำให้เกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่ จากเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นก็คือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนยุคหลังมาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็น เรื่องโกหก ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับ วันที่ 1 เมษายน นั่นเอง
ในเนเธอร์แลนด์มีที่มาของ วันเอพริลฟูลส์เดย์ (April Fool’s Day) ที่แตกต่างออกไป โดยมีบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1572 เกี่ยวกับชัยชนะของชาวดัตช์ในการยึดเมืองแห่งหนึ่ง เกิดเป็นสุภาษิตว่า Op 1 april verloor Alva zijn bril แปลว่า ในวันที่ 1 เมษายน Alva ทำแว่นตาหาย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการยึดเมืองบรีเอลล์ ซึ่งดยุคอัลวาเรซ เด โตเลโด (Álvarez de Toledo) ของสเปนพ่ายแพ้
วันเมษาหน้าโง่ April Fools' Day ในยุคปัจจุบัน กลายมาเป็นวันที่ผู้คนจะล้อเล่นกันด้วยเรื่องโกหกต่างๆ ทั้งทางคำพูด การแสดงท่าทาง และในโซเซียลมีเดีย โดยจะเล่นโกหกอะไรในวันนี้ ควรจะอยู่บนพื้นฐานที่ว่า
- ต้องไม่ทำอันตรายให้ผู้อื่น
- ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น
- ต้องไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย
แต่ทั้งนี้ถ้าอยากจะเล่นแกล้งกันจริงๆ ก็อย่าลืมใส่ใจกับคำว่า "กาลเทศะ" เป็นสำคัญ และหากแกล้งกันจนถึงขั้นบาดเจ็บ เสียหาย ก็มีโทษตามกฎหมาย รวมถึงการโพสต์สิ่งหลอกลวงก็อยู่ในอำนาจกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ด้วย หรือก็คือถ้าจะแกล้งจะอำก็ขอในอยู่ในกฎหมายด้วยนะครับทุกคน
อ้ายเคน (Ordinary man) 1 เม.ย. 2566
โฆษณา