2 เม.ย. 2023 เวลา 02:54 • หนังสือ

ความสุขดื้อยา

หลายคนเวลาอ่านข่าวมหาเศรษฐีที่มีเงินมหาศาล กินของแพงๆ เดินทางอย่างหรูหรา มีชีวิตที่ดีมากๆ ก็อาจจะมีข้อสงสัยว่าความสุขที่เกิดจากชีวิตแบบนั้นมันสุขกว่าความสุขของชนชั้นกลางอย่างเราๆ กี่สิบกี่ร้อยเท่ากันแน่ แล้วชาวไร่ชาวนาเวลามีความสุขมันเป็นแค่เศษเสี้ยวของมหาเศรษฐีหรือที่จริงแล้วไม่ได้ต่างกันมากนัก มีคนถกเถียงเรื่องความสุขในหลายวง หลายรูปแบบ และหลายหลักการ แต่มีมุมหนึ่งที่น่าสนใจที่ผมอ่านเจอในหนังสือเซเปี้ยน
หนังสือเซเปี้ยนอันโด่งดังที่เขียนโดยคุณยูวัล แฮรารี นั้นมีบทหนึ่งที่ชื่อว่า ความสุขทางเคมี ในมุมนักเคมีแล้ว ความรู้สึกสุขนั้นเกิดจากเซลล์ประสาท และสารชีวเคมีต่างๆเช่น เซโรโทนิน โดพามีน และออกซิโทซิน ไม่ว่าปัจจัยภายนอกจะเป็นอะไรก็ตามเช่นสมัยก่อนคือการล่าสัตว์ได้ หรืออีกสมัยคือการดูภาพเขียนสวยๆ
หรือมาแถวๆนี้เช่นการถูกลอตเตอรี่ สิ่งกระตุ้นเหล่านั้นก็ทำหน้าที่ต่อร่างกายมนุษย์เหมือนเดิม คือการกระตุ้นฮอร์โมนและกระแสไฟฟ้าในร่างกายให้ตอบสนองกับสิ่งเร้านั้นๆ
หนังสือเล่าว่า ร่างกายมนุษย์นั้นมีระบบชีวเคมีที่ค่อนข้างคงที่รวมถึงความรู้สึกสุข และเมื่อรู้สึกมีความสุข มีสารต่างๆหลั่งออกมาแล้ว ซักพักก็จะกลับสู่สภาพเดิมวิวัฒนาการของมนุษย์ใช้ความสุขเป็นตัวกระตุ้นให้อยากสืบพันธุ์แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้วก็จะกลับมารู้สึกปกติ ความสุขขั้นต่ำและขั้นสูงสุดของคนที่รู้สึกจากสารต่างๆ ก็จะไม่ต่างกันเท่าไหร่
1
แต่แน่นอนว่าบางคนที่มีทัศนคติที่ดีที่มีระบบชีวเคมีที่ร่าเริง ก็อาจจะมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าคนปกติได้ แต่ความสุขสูงสุดก็ไม่มีอะไรต่างกันเพราะฮอร์โมนต่างๆ ที่หลั่งก็ไม่มีอะไรต่างกันมาก และไม่ว่าใครจะเจออะไรที่สุขสุดๆ ซักพักพอฮอร์โมนลดลงก็จะกลับสู่สภาวะปกติเสมอ
4
หนังสือเซเปี้ยนยกตัวอย่างชาวไร่ฝรั่งเศสในยุคกลางที่อยู่กระท่อมดินโคลน เมื่อเทียบกับนายธนาคารใหญ่ที่อยู่ห้องชุดหรูหราว่า ในขณะที่นายธนาคารมองดูวิวระดับร้อยล้านจากห้องชุด แต่ชาวไร่ดูบ้านดินโคลนที่เพิ่งสร้างเสร็จด้วยความภาคภูมิใจ สารเซโรโทนินก็อาจจะหลั่งออกมาเท่าๆกัน ความสุขก็ไม่น่าจะต่างกันเท่าไหร่นัก
7
ผมลองมาคิดต่อเล่นๆ ว่า บางทีความไม่รู้ ไม่เคยลอง ไม่มีข้อเปรียบเทียบอะไรมากนัก ก็อาจจะเป็นกุญแจสู่ความสุขแบบง่ายๆอยู่เหมือนกัน ในสมัยเด็กๆ ผมชอบไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้ออยู่ร้านหนึ่งซึ่งในตอนนั้นผมคิดว่าอร่อยมาก ให้ความสุขจากการกินนี่ระดับแปดเก้าเต็มสิบได้เลย แต่ไม่นานมานี้พอไปกินอีกครั้งกลับรู้สึกว่าเนื้อเหนียว ไม่เห็นอร่อยเหมือนแต่ก่อน
10
แต่ก็มานั่งคิดว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแต่ก่อนผมไม่เคยกินเนื้อโกเบ ไทยเฟรนช์ ไม่เคยรู้ว่าเนื้อระดับเทพเป็นอย่างไร ความคาดหวังก็เลยมีไม่มาก ความสุขก็เลยเกิดขึ้นง่าย แต่พอเคย Been there done that มาแล้ว ความสุขที่เคยมีอย่างง่ายๆก็กลับยากขึ้น ก็อาจจะอธิบายได้ว่าเกิดความ “ด้าน” หรือ “ดื้อยา” ที่ทำให้สารแห่งความสุขนั้นหลั่งยากขึ้น
7
การมีสตางค์เยอะๆ นั้นก็อาจจะทำให้หาความสุขระดับชั่ววูบได้มากกว่าคนที่ไม่ค่อยมีสตางค์ แต่ผลข้างเคียงนั้นก็น่าจะทำให้ร่างกายเรา “ดื้อยา” มากขึ้น ในการหาความสุขในระดับสูงต่อไปก็ต้องเป็นการแสวงหาสิ่งเร้าที่ยากและแพงขึ้นเรื่อยๆ
4
ฮอร์โมนถึงจะหลั่งมาเท่าเดิม ก็น่าจะเป็นปัญหาคนละแบบในการหาความสุขของคนรวย ที่ในที่สุดก็มีความรู้สึกสุขได้ไม่ได้มากอะไรกว่าคนธรรมดาทั่วไปอยู่ดี
4
และถ้าเชื่อในโลจิกของความสุขทางชีวเคมีนี้แล้ว ในเมื่อความสุขที่พุ่งเยอะๆนั้นซักพักก็จะจางลงกลับมาที่เดิม แถมการแสวงหาความสุขแบบมีพีคแบบนั้นยิ่งทำให้ดื้อยามากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้ว บางทีหัวใจของการมีความสุขแบบยั่งยืนก็อาจจะมาจากการแสวงหาความพอใจ ความเรียบง่าย ความสงบที่เรียกว่า Content มากกว่าการพยายามไล่หาความสุขแบบประเดี๋ยวประด๋าวก็ได้
6
ที่เขียนเรื่องนายธนาคารกับชาวไร่ก็เพราะความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี และพยายามเปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่า เด่นกว่า รวยกว่าและใช้ความคิดว่าตรงนั้นน่าจะมีความสุขมากกว่าก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุข
5
พอคิดได้แล้วว่าความสุขของคนอื่นก็ไม่ได้มากกว่าเราเท่าไหร่นักหรอก ต่อให้รวยมากกว่าเรามาก ก็อาจจะทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่มี กับปัจจุบันง่ายขึ้นเหมือนกันนะครับ
2
โฆษณา