2 เม.ย. 2023 เวลา 13:00 • หนังสือ

“คนนี้โตมาแบบไหนเนี่ย”

คำนี้ฟังเผินๆแล้วเหมือนโดนด่าอยู่ 😅 แต่ถ้าเราลองตอบคำถามนี้ดูจริงๆแล้วจะพบว่าคำถามนี้น่าสนใจกว่าที่คิด
1
“จริงๆแล้ว ผู้คนรวมถึงเราเองด้วยโตมาแบบไหนนะ?”
—-----
หนังสือ “โตมาแบบไหน Why are you you” ของท้อฟฟี่ แบรดชอว์ พาเราไปตอบคำถามนี้ว่า ตัวเราเองและคนรอบตัวเรานั้นโตมาแตกต่างกัน และ มีลักษณะนิสัยที่บางครั้งก็อยากจะเข้าใจ พร้อมกับชวนให้เราเข้าใจและยอมรับความแตกต่างนั้น เล่มนี้เป็นเล่มต่อของ “ทำไมเป็นคนแบบนี้ What makes you you” ค่ะ
สไตล์การเขียนของเล่มนี้ก็จะคล้ายๆกันคือแบ่งเป็นบทสั้นๆ อ่านง่าย โดยที่จะมีการยก Terminology หรือทฤษฎีที่น่าสนใจมาสรุปให้ฟังเพื่อให้เราสามารถเข้าใจตัวเองและสังคมรอบตัวเราได้มากขึ้น
เราขอยกตัวอย่างบทที่เราชอบเป็นพิเศษมาให้อ่านกันละกันนะคะ 🙂
(1) Kanye’d ถ้าพี่จะเอาแต่พูดเรื่องของตัวเองตลอดเวลาขนาดนี้…
บทนี้ว่าด้วยเรื่องของนักร้องฝั่งอเมริกาที่ชื่อ “คานเย่” เป็นคนที่โดนแบนจากแบรนด์มากมายในช่วงที่ผ่านมาเพราะการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม เป็นตัวแทนที่ดีของคนที่ชอบพูดเรื่องของตัวเอง และหนักแน่นมั่นใจในความคิดเห็นของตัวเอง
จุดที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่คานเย่ที่เป็นแบบนี้ ชีวิตเราก็น่าจะเคยพบเจอคนที่พูดแต่เรื่องตัวเอง หรือบางครั้งเราเองนั่นแหละที่กลายเป็นคนแบบนี้ซะเอง! เหตุผลทางจิตวิทยาคือ เมื่อเราพูดถึงตัวเอง เราจะรู้สึกว่าเรามีตัวตน รู้สึกว่าตัวเองสำคัญ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Harvard ได้สแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI และพบว่าเมื่อพูดถึงตัวเองระบบ Mesolimbic Dopamine ของเราจะทำงาน ซึ่งส่วนเดียวกันนี้จะทำงานตอนที่เราได้รับนำ้ตาลหรือมีเพศสัมพันธ์!
มิน่าการหยุดพูดถึงตัวเองจึงยากนัก การเสพย์ติดการพูดถึงแต่ตัวเองก็เหมือนเวลาเราเสพย์ติดน้ำตาล ดังนั้นแล้วหากว่าอยากจะเลิกนิสัยแบบนี้เราก็ต้องตั้งหลักคุยกับตัวเองให้ดี
เพราะการพูดถึงแต่ตัวเองนั้น อาจเป็นภาพลวงตาว่าเราเป็นคนสำคัญก็จริง แต่การเป็นคนสำคัญต้อง “ได้รับ” จากผู้อื่น เราไม่สามารถสร้าง “ความสำคัญ” ของตัวเองขึ้นมาได้ ยิ่งพูดถึงตัวเองมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งถอยห่างมากเท่านั้น
หากอยากได้รับ “ความสำคัญ” สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การพูดแต่คือ “การฟัง” หรือ “การให้ความสำคัญ” กับคนอื่นก่อน เมื่อให้สิ่งนี้ไปแล้ว เราก็มีสิทธิที่จะได้รับกลับมาค่ะ 🙂
(2) Productivity Paranoid
ตั้งแต่ช่วงโควิด คนเริ่มเรียนรู้วิธีการทำงานแบบ From anywhere มากขึ้น ความสะดวกสบายจากการทำงานจากที่ไหนก็ได้แลกมาด้วย “ความพารานอยด์” ของบริษัทและหัวหน้าว่าลูกน้องทำงานจริงๆหรือเปล่านะ
มีหลายองค์กรบังคับให้พนักงานเปิดกล้องตลอดเวลา หรือ มีระบบที่แคปสกรีนเป็นระยะๆเพื่อดูว่ายังทำงานอยู่ไหม ระบบแบบนี้อาจได้ผลในระยะสั้นแต่ระยะยาวนั้นคงไม่มีใครชอบที่รู้สึกเหมือนถูกจับจ้อง ควบคุมตลอดเวลา
ด้วยระบบการเฝ้าพนักงานแบบนี้ อาจทำให้ไม่มีปัญหาเรื่อง “ชั่วโมงการทำงาน” ก็จริง แต่มันไม่ได้การันตี “Productivity” เลย เพราะการทำงานที่ดีคือสถานที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยและสามารถเป็นตัวเองได้
1
ดังนั้นแล้วสำหรับบริษัท หากว่าเรายังมีเป้าหมายอยู่ที่ “ชั่วโมงทำงาน” ลองเปลี่ยนเป็น “ผลลัพธ์และเป้าหมายของงานแทน” จะเป็นสถานการณ์ที่ Win-win มากกว่า
(3) ยิ่ง “ถูกต้อง” ยิ่ง “ถูกต้ม”
ยิ่งเราเชื่อว่าเราถูกต้องมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งผิดมากเท่านั้น
การแสดงความคิดเห็นคือการโชว์พลัง โชว์ความรู้ โชว์ความเท่เสมอไปจริงหรือ? มีคนมากมายที่อยาก “กล้า” แสดงความคิดเห็น แต่ในหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงประเด็นที่น่าสนใจว่า
“การรับฟังความเห็นก็ต้องใช้ความกล้าเช่นกัน”
เหมือนคำพูดของวินสตัน เชอร์ชิลล์ที่ว่า
“Courage is what it takes to stand up and speak; courage is also what it takes to sit down and listen” (ความกล้าคือการลุกขึ้นยืนหยัดและส่งเสียงพูดออกมา และความกล้ายังหมายถึงการนั่งลงและฟังเช่นกัน)
เหตุผลที่เป็นแบบนั้นเพราะการฟังคนอื่นนั้นเปิดกว้างต่อการถูกท้าทาย ความคิดที่เราเคยเชื่ออาจถูกท้าทายด้วยความเห็นที่แตกต่างออกไป
มันจึงต้องใช้ความกล้าที่จะยอมรับว่า “เราอาจจะผิดก็ได้นะ” เพราะไม่มีใครอยากทำข้อผิดพลาด ดังนั้นมันจึงไม่ได้ง่ายที่นั่งฟังความเห็นของคนอื่น คนมากมายจึงใช้วิธีว่างั้นฉันพูดแทน พูดแทรกคนอื่น เพราะว่าการฟังมันยากกว่า
ถ้าเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น ลองรวบรวมความกล้าที่ว่าเราเองก็อาจจะผิดก็ได้นะ ลองมองความผิดหรือความเห็นที่ต่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากกว่าจะต้องมาเอาเป็นเอาตายกัน เมื่อเรายอมรับตรงนี้ได้แล้ว การรับฟังก็จะทำได้ง่ายขึ้นค่ะ 🙂
—-----
ทั้ง 3 บทนี้เป็นเพียงตัวอย่างของเนื้อหาที่เราชอบของหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ถ้าใครที่อยากทำความเข้าใจตัวเองและคนรอบตัวมากขึ้น เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่อ่านง่าย สบาย และได้ความรู้ดีค่ะ 😀
ซื้อหนังสือโตมาแบบไหน Why are you you ได้เลยที่ https://shope.ee/6KXw6VspiD
โฆษณา