15 เม.ย. 2023 เวลา 03:00 • ข่าวรอบโลก

เปิดคัมภีร์แก้ฝุ่น ‘PM 2.5’ สิงคโปร์โมเดล ทำอย่างไรให้หมอกฝุ่นพิษหายไปถาวร

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือ หมอกควันฝุ่นพิษ ไม่ใช่แค่ปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “สิงคโปร์” เองก็เคยประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่สามารถจัดการได้ด้วยการออกกฎหมายและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด
1
เรื่องของปัญหาฝุ่น “PM 2.5” เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วทวีปเอเชียมาเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะในประเทศไทยที่พบว่าช่วงหลังๆ ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่รู้หรือไม่? หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆ ไทยอย่าง “สิงคโปร์” ก็เคยต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษเช่นกัน โดยมีต้นกำเนิดฝุ่นพิษมาจากการเผาป่าและพืชไร่ บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวของประเทศอินโดนีเซีย
1
หลังจากประสบปัญหาหมอกควันพิษมาเป็นเวลานานหลายสิบปี รัฐบาลสิงคโปร์มีการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงจนพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผาป่าสำหรับเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีบริษัทใหญ่หลายแห่งในสิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในบริษัทปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ จึงเป็นที่มาทำให้ต้องออกกฎหมายมาเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของประชาชน
2
📌รู้จัก “กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน” ระหว่างประเทศ
1
เมื่อปี 2013 ปัญหา PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์อย่างหนักทำให้ในปี 2014 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออก “กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน” หรือ Transboundary Haze Pollution Act ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที โดยเป็นกลไกทางกฎหมายสำหรับควบคุมการดำเนินธุรกิจสวนปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ของบริษัทที่มีที่ตั้งในสิงคโปร์ เพื่อควบคุมไม่ให้กลุ่มนายทุนเผาป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่การเกษตร โดยเป็นการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนที่ต้นเหตุ
2
จากผลของกฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้องค์กรใดหรือบุคคลใดเผาป่าหรือพื้นที่ทางเกษตรจนเกิดมลภาวะที่กระทบต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์ จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมีเพดานค่าปรับสูงสุดอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 70 ล้านบาท และยังมีโทษจำคุกตามความรุนแรงของการกระทำผิดอีกด้วย
2
ทั้งนี้ ซึ่งสิงคโปร์ใช้เกณฑ์วัดคุณภาพอากาศกำหนดให้ค่ามลภาวะสูงตั้งแต่ 101 AQI ขึ้นไป และอยู่ในระดับสูงติดต่อเป็นเวลา 24 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ถือว่า “คุณภาพอากาศย่ำแย่” สำหรับค่าปรับนั้นจะคิดตามจำนวนวันที่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อให้แหล่งสร้างมลพิษควบคุมและดับไฟให้เร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับในจำนวนมาก
2
📌จาก “สิงคโปร์” สู่ “ไทย” ควรปรับใช้แก้ปัญหา PM2.5 อย่างไรให้เหมาะสม
สำหรับประเทศไทยเองคล้ายกับว่าจะยังไม่มีกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อควบคุมฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะ
แต่ยังมีการบังคับใช้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยมีกรมควบคุมมลพิษดูแลเป็นหลัก ตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 รวมถึงยังมีฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่มุ่งควบคุมการปล่อยควันจากท่อไอเสียของพาหนะบนท้องถนนเป็นหลัก หรือกฎหมายที่ควบคุมมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมก็อย่างเช่น พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น
1
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวม อาจจะยังไม่สอดรับและครอบคลุมกับสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นอย่างหนักทางภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับวิธีการจัดการปัญหาฝุ่นพิษที่รัฐบาลสิงคโปร์ลงมือทำจนมีผลลัพธ์ออกมาเป็นน่าพอใจ รัฐบาลไทยอาจจะถอดบทเรียนจากตัวอย่างดังกล่าว เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบททางสิ่งแวดล้อมของไทย โดยต้องมีความเด็ดขาดในการจัดการกับบริษัทใหญ่ และกล้าที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยให้มากขึ้น
โฆษณา