Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เคยคิด
•
ติดตาม
3 เม.ย. 2023 เวลา 14:30 • ความคิดเห็น
แล้วเราวิ่งหา "ความหมาย" ของชีวิต ในขณะที่หลายคนไม่ทำ เราแปลกไหม?
คำตอบคือ ไม่จำเป็น บางคนความสุขทั้งสองอย่างก็วิ่งเข้าหาเองแบบไม่รู้ตัว
และ จำเป็น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความสุขที่เรากับตัวเองมันรู้สึกสุขแต่ไม่ "เติมเต็ม"
ใครคือกลุ่มคนที่โชคดี ไม่ต้องวิ่งหาความหมายชีวิต ?
แล้วสำหรับคนทั่วไป การหาความหมายของชีวิตคือเรื่องจำเป็นไหม หรือเป็นแค่คำสวยหรู?
เคยถามคนรู้จักหลายคนว่า ยังมีสิ่งที่อยากทำที่อยากสร้าง "คุณค่า"หรือ "ความหมาย" ให้กับชีวิตไหม คำตอบที่ได้ เช่น
- ไม่เคยมีเวลาคิดเพราะว่ายุ่งมากกับการทำงาน หรือกับการเลี้ยงลูก
- เคยคิดอยู่ช่วงหนึ่งของชีวิต แต่ช่วงที่ไม่ได้คิดก็ไม่ได้แปลว่าเราได้หาความหมายให้กับชีวิตแล้ว แต่ไม่ได้คิดเพราะทำงานหนักจนไม่มีเวลาจะคิด
- ไม่เคยคิดเลยรู้สึกทุกวันนี้ ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว
แล้วเราจำเป็นต้องทำให้ชีวิตมีความหมาย ถึงจะมีความสุขหรือไม่?"
ก่อนอื่น เราต้องดูความสัมพันธ์ของความสุข กับความหมายของชีวิตก่อน แนวคิดปรัชญาของ Aristotle ที่ว่าความสุขของคนเรา แบ่งออกเป็น 2 แบบ
1. Hedonia คือความสุขแบบจับต้องได้ เป็นความสุขแบบรูปธรรม ความสุขที่เรามีของที่เราอยากได้ในครอบครอง ความสบายกายสบายใจ ไม่มีเรื่องทุกร้อน ความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากการทำอะไรให้ตัวเอง เช่นการทำเล็บทำผม การดูแลตัวเอง เป็นความรู้สึกดี ความพึงพอใจ
2. Eudaimonia ความสุขจากการได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ความสุขจากการให้ การสร้าง พยายามทำ หรือรับผิดชอบในอะไรบางอย่าง ความเลี้ยงดูฟูมฟักลงทุนลงแรงในสิ่งที่ “ใหญ่” กว่าตัวเราเอง อาจจะเป็นเรื่องของคนอื่น เรื่องของสังคม ซึ่งสิ่งนี้คือความสุขที่มี “ความหมาย” ต่อชีวิตเพราะเราได้ทำอะไรให้ผู้อื่น
เวลาถามหลายคนว่ามีความสุขดีไหม ส่วนใหญ่คำตอบจะมาจากความสุขที่จับต้องได้ เพราะเป็นสิ่งที่วัดผลได้ ความสุขแบบ hedonia มีข้อมูลตัวเลขรองรับได้ เช่นจำนวนเงิน มูลค่าของที่มี แม้กระทั่งประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปเที่ยว เนื่องจากเป็นสิ่งที่เรา "รู้สึกได้" จับต้องได้ ความสุขแบบนี้จึงวัดผลง่าย และเข้าใจง่าย
ส่วน Eudaimonia เป็นความสุขแบบนามธรรม ขอให้คำนิยามว่าเป็นความสุขแบบจับต้องไม่ได้ วัดผลไม่ได้ เก็บเป็นตัวเลขเชิงสถิติไม่ได้ ทำให้เราไม่แน่ใจว่าความสุขแบบนี้มีอยู่จริง เพราะทุกอย่างที่ได้ยินได้เห็นได้อ่าน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็น "ความเห็น" มากกว่า "ความจริง" อยู่เสมอ เพราะไม่มีดาต้ารองรับ (Opinions > fact แต่ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง อย่างน้อย แนวคิดเรื่องความสุขที่ Aristotle คิดค้นขึ้นมาได้นั้น ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าการแสวงหาความสุขจากการสร้างความหมายของชีวิตมันมีอยู่จริง)
เพราะฉะนั้น คำตอบของคำถามข้างบน :
เราไม่จำเป็นต้องหาความหมายให้กับชีวิตถึงจะมีความสุขได้ ในความเป็นจริง เราอาจจะมีความสุขได้แค่ในระดับ hedonia เราก็มีความสุขมากแล้ว คนส่วนใหญ่มีความสุขที่ชีวิตได้รับการ pampered ถึงจุดหนึ่งก็ค่อนข้างเพียงพอต่อชีวิตแล้ว การซื้อเสื้อผ้าใหม่ การได้ทานของอร่อย การได้ไปเที่ยว ความสุขแบบนี้เป็นความสุขพื้นฐาน จะมีและเป็นอยู่ได้นานในช่วงที่เราเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เช่นเริ่มงานใหม่ เริ่มเรียนใหม่ ทำให้เราค่อนข้างมีความสุขกับชีวิต จนไม่มีเวลาว่างคิดว่าชีวิตเราขาดหายอะไรไป
ทั้งสองความสุขเกิดได้แบบคู่ขนานกัน อาจจะรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีความสุขได้แล้ว แต่ถ้าเส้นคู่ขนานมันมาบรรจบกันเมื่อไร มันก็เป็นความสุขที่ครบและเป็นชีวิตที่เติมเต็มกว่าเท่านั้นเอง
แล้วเราวิ่งหา "ความหมาย" ของชีวิต เราแปลกไหม
ไม่แปลก การพยายามหาความหมาย และคุณค่าของชีวิต เป็นความสุข "ขั้นกว่า" ของมนุษย์ เป็นความสุขที่เกินจาก ความสุขพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อเราสุขแบบ Hedonia มากไป Dr.Nico Rose ศาสตราจารย์ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Positive Psychology ให้คำนิยามว่าชีวิตที่มีความสุขแบบนี้ว่าเป็น "The Sweet life" ที่ชีวิตเรารู้สึกเพียงพอ แต่ยังไม่ "เติมเต็ม" ซึ่งชีวิตแบบ Sweet life ถ้าได้รับการเติมความหมายเข้าไปอีกสักนิด ก็จะกลายเป็นชีวิตที่เติมเต็มได้ (The Full life)
แต่การหา "ความหมาย" เติมเต็มให้ชีวิต จริงๆแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหญ่ สิ่งที่มีคุณค่ามากมายต่อสังคม มันคือการให้ การสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่น แบบไม่นึกถึงผลประโยชน์ของตัวเราเองฝ่ายเดียวบ้างเท่านั้นเอง
Paul Bloom ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Sweet Spot ของเขาว่า คนเราจะรู้สึกดีขึ้น และมีความสุขเมื่อ 1.เราทำอะไรให้ผู้อื่นมากๆ แล้ว เราได้ทำอะไรให้ตัวเองบ้าง
และ 2.เราทำอะไรให้ตัวเองมากแล้ว เราได้ return อะไรบางอย่างให้ผู้อื่นบ้าง
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่รู้สึกว่า "พยายาม" หาความหมายให้ชีวิตตลอดเวลา เราเป็นคนเแปลกหรือเปล่า
คำตอบคือไม่แปลก เพราะความสุขที่เกิดขึ้นจากการหาความหมายของชีวิตมันมีอยู่จริง และความต้องการที่จะค้นหาความสุขของชีวิตก็เป็นเรื่องปกติทั่วไป เพียงแต่มันอาจจะเป็นได้หลายรูปแบบมากกว่าที่เราเคยคิดเท่านั้นเอง
แล้วใครคือกลุ่มคนที่โชคดี ไม่ต้องวิ่งหาความหมายชีวิต ?
ในเมื่อคนที่ตามหาความหมายของชีวิตไม่แปลก คนที่ไม่ต้องตามหาความหมายของชีวิตเลยก็ไม่แปลกเช่นกัน คนที่ไม่ต้องคิด แต่มีทุกอย่างพร้อมแบบไม่รู้ตัวนั้นช่างโชคดี ย้อนกลับไปที่คำตอบที่ 3 เป็นคำตอบที่น่าอิจฉาที่สุด เพราะมีความสุขทั้งสองแบบได้แบบสบายๆ ไม่ต้องวิ่งหา และไม่ต้องทำความเข้าใจมันด้วย คนกลุ่มนั้นส่วนใหญ่คือ baby boomer วัยพ่อแม่เรา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเป็นกรณีครอบครัวคนจีน
คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราถามแล้วได้คำตอบว่า ไม่เคยคิดเลยรู้สึกทุกวันนี้ ก็มีความสุขดีอยู่แล้ว เหตุผลอาจเป็นเพราะว่า พวกเขาโตมาแบบไม่ต้องนึกถึง life choice มากนัก การตัดสินใจในชีวิตทำตาม "ประเพณี" ซะเป็นส่วนมาก เช่น ครอบครัวคนจีนลูกชายต้องสานต่อธุรกิจของที่บ้าน สะใภ้คนจีนเมื่อแต่งงานแล้วต้องช่วยธุรกิจของครอบครัว
ทำให้ความหมายของชีวิตเป็นแบบเรียบง่าย และมาได้อย่างง่ายๆ เช่นกัน ความสุขในสมัยก่อนก็คือการทำตามประเพณี การเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความสุขในปัจจุบันคือ การไม่มีเรื่องต้องกังวล ได้ใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ และยังได้ใช้ชีวิตแบบให้คุณค่าต่อชีวิตผู้อื่น ผ่านการช่วยเลี้ยงลูกหลาน ดูแลครอบครัว ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในปริมาณที่เท่ากัน แต่ก็ balance มากพอทีจะทำให้คนๆ หนึ่งตอบได้ว่า ไม่ได้หาความหมายอะไรอย่างอื่นในชีวิตแล้ว และในความเป็นจริงทั้งชีวิตไม่เคยต้องตามหาเลย ความสุขทั้งสองอย่างก็วิ่งเข้าหาเองแบบไม่รู้ตัว
ก็เลยพอเข้าใจได้ว่า สมการของชีวิตที่มีความสุขจริงๆ ก็คือ เราแค่ต้องมีความสุขแบบ Hedonia นิดหน่อย แบบ Eudaimonia นิดหน่อย และจัดสมดุลให้ดี ก็มากพอที่จะทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งมี "ความหมาย"แล้ว อย่าให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากไป เพราะถ้าให้คนอื่นมากไปไม่ทำอะไรเพื่อตัวเองเลยชีวิตเราก็จะแห้งเหี่ยว ถ้าให้ตัวเองมากไปแต่ไม่ให้คนอื่นเลย ชีวิตเราก็จะรู้สึกขาดหายอะไรบางอย่าง (ความขาดหายนี่เป็นสิ่งที่อธิบายยาก เพราะวัดผลไม่ได้ คนส่วนใหญ่ก็จะให้คำนิยามไม่ได้ว่าขาดหายอะไรไป)
ตามความจริงแล้ว เค้าก็เป็นตัวอย่างของการมีความสุขครบทั้งสองแบบ แบบเรียบง่ายแต่ก็ตอบโจทย์ของความสุขได้แล้ว ก็อาจจะเป็นหนึ่งไอเดียให้ได้คิดว่าจริงๆ แล้ว "ความหมาย" ของชีวิต มันอาจจะมาได้หลากหลายรูปแบบกว่าที่เราคิดไว้มาก อย่าคิดวิธีการให้มันซับซ้อน แต่ให้เน้นที่ปลายทาง (ผลลัพธ์) เป็นหลัก
อ้างอิง :
https://bigthink.com/thinking/how-to-measure-happiness-hedonia-vs-eudaimonia/
https://mappalicious.com/2016/06/19/feel-good-vs-feel-purpose-hedonia-and-eudaimonia-as-separate-but-connected-pathways-to-happiness/
หนังสือ The Sweet Spot by Paul Bloom
Roundfinger Channel
พัฒนาตัวเอง
ข้อคิด
ความคิดเห็น
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย