Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วันนั้นเจอนี่ ของแม่มะเฟืองรอฝาน
•
ติดตาม
3 เม.ย. 2023 เวลา 05:17 • ท่องเที่ยว
Port Arthur Historic Site
คุกมรดกโลก พอร์ตอาร์เทอร์ รัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย สวยจนอยากไปติด
ฉันติดใจเรื่องราวหลังลูกกรงเหล็กของเรือนจำพอร์ตอาร์เทอร์ มรดกโลกทางประวัติศาสตร์ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อุทยานประวัติศาสตร์พอร์ตอาร์เทอร์
อุทยานประวัติศาสตร์พอร์ตอาร์เทอร์ มีพื้นที่กว้างใหญ่มากกว่า 100 เอเคอร์ หรือมากกว่า 250 ไร่ มีอาคารมากกว่า 30 หลัง
ถ้าคุณจะดูแบบผาด ๆ ก็จะใช้เวลาราว ๆ 40 นาที แต่ถ้าจะดูพิศ ดูพินิจ คุณอาจต้องเผื่อเวลาไว้อย่างน้อย ๆ 3 - 4 ชม. หรือทั้งวันหรือมากกว่านั้นเลยทีเดียว (บัตรเข้าชมสามารถใช้ผ่านได้ถึง 2 วัน)
ฉันเลือกซื้อบัตรแบบที่มีมัคคุเทศก์นำทาง ซึ่งฉันคิดว่าดีมากเพราะมัคคุเทศก์นำทางจะอยู่กับเราราว ๆ 45 นาที เพื่อแนะนำสถานที่จุดสำคัญต่าง ๆ ที่น่าสนใจ พร้อมเล่าประวัติคร่าว ๆ ให้ฟัง และหลังจากนั้น เขาจะปล่อยให้เราเดินสำรวจได้เองตามใจชอบ
ฉันได้รอบเข้าชมในเวลา 11 โมงตรง ซึ่งยังพอมีเวลา ฉันจึงไปใช้บริการร้านอาหารคาเฟ่ของทางอุทยาน ซึ่งมีบริการเครื่องดื่มชา กาแฟ และอาหารเช้าแบบฝรั่งประเภทแซนด์วิชต่าง ๆ
บัตรเข้าชมราคา $AU 22.50 ใช้เข้าได้ 2 วัน
ฉันเลือกนั่งโต๊ะข้างเตาผิงฟืนที่จุดไว้ให้ความอบอุ่น เพื่อคลายความหนาวเย็นของแทสมาเนียในเช้านี้ กลิ่นกาแฟสดแตะจมูก รสชาติละมุนลิ้น และแซนด์วิชชิ้นโต แถมไอศกรีมอีก 1 ถ้วย ทำให้ฉันมีแรงและพร้อมที่จะเดินในวันนี้
ชั้นล่างของอาคารที่ทำการ ซึ่งเป็นจุดนัดพบกับมัคคุเทศก์นำทาง ตรงนั้นมีห้องแสดงนิทรรศการให้เราเข้าไปชมหาความรู้กันก่อนได้
เมื่อซื้อบัตรเข้าชมแต่ละใบ เจ้าหน้าที่จะแนบไพ่มาให้ด้วย ในไพ่เป็นภาพวาดของนักโทษคนสำคัญของเรือนจำแห่งนี้ เป็นเกมให้เล่นตามหาประวัติของผู้ที่อยู่ในไพ่ที่เราได้รับ ฉันได้ไพ่ของนักโทษที่ชื่อ “วิลเลี่ยม”
วิลเลี่ยม นักโทษที่พอร์ตอาร์เทอร์
11 โมงตรง มัคคุเทศก์ชาวออสซี่มาพาคณะลูกทัวร์ในรอบนี้เดินไปยังกลางลานกว้างหน้าอาคารที่เป็นซากปรักหักพัง แต่ยังเหลือเค้าโครงของความสวยงามอลังการให้เห็น และเริ่มบรรยายถึงประวัติสถานที่
ในรอบนี้เรามีด้วยกันราว ๆ 20 คน ฉันเดินรั้งท้ายสุดเพราะมัวแต่หยุดถ่ายรูป แต่ก็ต้องเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นเป็นระยะ ๆ เพราะไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญที่มัคคุเทศก์บรรยายให้ฟัง
มัคคุเทศก์ชายวัยเลยกลางคนไปแล้วนิด ๆ อยู่ในชุดเสื้อแจ็คเก็ตมีสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์พอร์ตอาร์เทอร์ปักอยู่ที่หน้าอก หมวกกันแดดปีกกว้างแบบออสซี่นิยมครอบอยู่บนศีรษะ แต่ก็ยังเผยให้เห็นเส้นผมสีน้ำซาวข้าวที่ยาวลงมาละต้นคอ คุณลุงกล่าวต้อนรับทุกคนอย่างเป็นมิตร เขาชี้จุดต่าง ๆ ที่เราจะสามารถเดินไปดูเองแบบพินิจได้ในภายหลัง
มัคคุเทศก์นำชม
ซากอาคารใหญ่ที่ถูกไฟป่าไหม้ไปเกือบหมด แต่ยังคงเห็นถึงร่องรอยของความสวยงามอลังการตั้งเด่นอยู่ริมอ่าวทะเล ใครไม่รู้อาจคิดว่าเป็นปราสาทพระราชวังของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หาดูเหมือนที่คุมขังไม่เลยสักนิด แต่แท้ที่จริง นั่นคือ The Penitentiary หรือเรือนจำที่ครั้งหนึ่งเคยแออัดยัดเยียดไปด้วยนักโทษกว่า 1,800 คนที่ถูกส่งตัวมาเป็นเชลยอยู่ที่นี่
The Penitentiary
ก้อนอิฐดินเผาสีน้ำตาลเปลือกไข่ มีชื่อเรียกว่า Convict Bricks หรือ อิฐนักโทษ เพราะอิฐเหล่านี้เป็นฝีมือการปั้นของนักโทษชาวอังกฤษจำนวนกว่า 200,000 คนที่ถูกส่งมาออสเตรเลีย อิฐแต่ละก้อนล้วนบอกเล่าเรื่องราวอันน่าสะพรึงในอดีต เรื่องราวหลังลูกกรงเหล็กที่กลายมาเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน
อิฐฝีมือนักโทษ
จุดที่น่าสนใจในอุทยานประวัติศาสตร์พอร์ตอาร์เทอร์มีทั้งหมด 33 จุด และอาคารทั้งหมด 30 หลัง ทางอุทยานจึงเสนอตั๋วเข้าชมให้ในระยะเวลา 2 วัน เพราะว่าวันเดียวอาจจะไม่พอ แถมยังมีตั๋วแบบพิเศษ คือ มีระยะเวลานานถึง 2 ปี น่าจะเหมาะกับผู้ค้นคว้าหรือทำวิจัย
ความอยากถ่ายรูปก็อยาก ความอยากฟังเรื่องราวก็อยาก ฉันจะต้องเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นอยู่บ่อยครั้งเพื่อให้ได้เข้าไปใกล้คุณลุงมัคคุเทศก์และฟังเรื่องเล่าต่าง ๆ แต่กระนั้น ฉันก็ยังพลาดเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในยามค่ำคืนของที่นี่ ได้ยินแว่ว ๆ แค่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณลุงไม่อยากเป็นไกด์ผี (หมายถึงไกด์นำทัวร์ดูผีนะ ไม่ใช่ไกด์ผิดกฎหมาย) แหมน่า เสียดายจริง ๆ จะยกมือถามให้เล่าใหม่ก็เกรงใจผู้ร่วมทัวร์คนอื่น
คุณลุงมัคคุเทศก์บอกวิธีการสังเกตว่าใครคือนักโทษ คือให้ดูรอยแผลที่เกิดจากการเฆี่ยนตีที่ฝังลึกอยู่บนแผ่นหลัง ฉันฟังแล้วก็เผลอจินตนาการไปไกลว่า เมื่อจบการบรรยาย คุณลุงจะหันหลังและค่อย ๆ ถลกเสื้อ เผยแผ่นหลังให้พวกเราเห็น ยิ้มมุมปากนิด ๆ และเดินจากไปอย่างเงียบ ๆ ปล่อยให้ลูกทัวร์ยืนอ้าปากค้างจ้องตาไม่กระพริบ และหันมองหน้ากันเองแบบเลิ่กลั่ก อะไรประมาณนี้
แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นหรอก เพราะคุณลุงบรรยายต่อว่า ตัวคุณลุงเองเป็นชาวเมลเบิร์น ย้ายมาจากเมืองเมลเบิร์น และเมื่อมาถึงที่พอร์ตอาร์เทอร์ในครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน คุณลุงเองมีโอกาสได้พบกับนักโทษคนสุดท้าย เขาเป็นชายชราอารมณ์ดี ยิ้มแย้มและโบกมือทักทายผู้คน และชายชราผู้นั้นใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิตเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว
ฉะนั้น จึงไม่มีนักโทษตัวจริงอยู่ที่พอร์ตอาร์เทอร์แห่งนี้อีกแล้ว แต่ฉันก็ยังไม่วายคอยเหลือบตามองลอดเสื้อทะลุผ่านไปยังแผ่นหลังของผู้ชายที่เดินปะปนไปมา ภาวนาในใจว่าขออย่าให้มีแผลที่หลังเล้ย เพราะถ้าเห็นมีแผลละก็ มีหวังได้วิ่งแบบโกยเถอะโยมแน่ ๆ
ในช่วงที่เรือนจำแห่งนี้ยังเปิดทำการอยู่ แม้ว่าสถานที่จะดูกว้างใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วมันคับแคบมากสำหรับนักโทษจำนวนมากถึง 1,800 คน ที่ต้องเบียดเสียดยัดเยียดอยู่ด้วยกัน พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่ชาวพื้นเมือง หากแต่เป็นผู้คนที่เดินทางไกลมาจากเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองผู้ดีที่กำลังสร้างอาณานิคมใหม่ โดยใช้นักโทษเหล่านี้แหละเป็นแรงงานสำคัญ
พวกเขาถูกจับส่งลงเรือ ใช้เวลาแรมเดือนเดินทางรอนแรมมารับโทษในสถานที่ใหม่ แผ่นดินใหม่ ห่างไกลโพ้นทะเล และไม่พบข้อมูลว่าพวกเขาเหล่านั้น มีใครบ้างที่ได้มีโอกาสกลับไปหาพ่อแม่ญาติพี่น้องยังแผ่นดินเกิด ไม่มีเลยแม้สักเพียงคนเดียว
จากประวัติของนักโทษที่มีการรวบรวมไว้ พออ่านแล้วก็ต้องถอนหายใจกันหลายเฮือก เพราะโทษของแต่ละคนนั้น มันช่างดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับโทษที่เขาได้รับเสียเหลือเกิน ส่วนใหญ่จะมาจากการลักเล็กขโมยน้อย เช่น ขโมยแกะ ขโมยนาฬิกา หรือแค่ขโมยเชือก แต่โทษของพวกเขาเหล่านั้นคือติดคุกไม่ต่ำกว่า 6 - 7 ปี เลยทีเดียว 6 - 7 ปีที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องทำงานหนักและถูกทำโทษไม่เว้นแต่ละวัน บางคนต้องทำตะปูให้ได้ถึงวันละ 200 ตัว เพื่อแลกกับรางวัลที่เป็นน้ำชาเพียงถ้วยเดียว
นักโทษที่พอร์ต อาร์เทอร์ ทั้ง 1,800 คน ล้วนเป็นผู้ชายทั้งนั้น ส่วนนักโทษหญิงจะแยกไปไว้ยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง แต่จะมีนักโทษหญิงบางคนที่ได้รับการคัดเลือกมาเพื่อทำงานประเภทงานบ้านรับใช้เจ้าหน้าที่ ซึ่งจะได้อยู่แยกออกไป ไม่ได้มาอยู่รวมกับนักโทษชาย นักโทษที่อายุน้อยที่สุด เป็นเด็กชายอายุเพียง 7 ขวบ
ภายในอาคารต่าง ๆ
คุณลุงมัคคุเทศก์พาคณะทัวร์เดินผ่านลานฟลอกกิ้ง (Flogging)
ฟลอกกิ้ง เป็นคำที่ใช้เรียกการกระทำซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ลงไปที่เดิม จึงเป็นคำที่ใช้เรียกวิธีการลงโทษนักโทษโดยการนำเส้นหนัง 9 เส้นมามัดรวมกัน แล้วฟาดลงไปบนแผ่นหลังของนักโทษ ซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้นจนกลายเป็นแผลลึก บ้างลึกจนถึงกระดูก ฉันนึกภาพละครนางทาสที่เคยดูตอนเด็ก ๆ ฉากทาสโดนเฆี่ยนด้วยไม้เรียวจนหลังแตกยับ ภาพของการถูกฟลอกกิ้งก็คงไม่ต่างกัน แต่นักโทษที่นี่โดนทีเดียว 9 แผล และตอนนี้ฉันเหมือนจะหูแว่วไปซะแล้ว ได้ยินคล้าย ๆ เสียงเส้นหนังกระทบกัน ได้ยินทีก็เสียวสันหลังแปล๊บที
ฉันไม่แน่ใจว่านักโทษเหล่านั้นทำอะไรจึงต้องโดนเฆี่ยนตี แต่เท่าที่ฟังแล้ว ทุกคนต่างก็โดนกันหมด นั่นอาจจะหมายความว่า แม้แกไม่ได้ทำอะไรผิด แกก็ต้องโดนลงโทษอยู่ดี มันผิดตั้งแต่ตอนที่แกมาเป็นนักโทษแล้ว ฉันคิด
เนื่องจากสถานที่มีความสวยงามและความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอย่างมาก ขณะเดินตามคุณลุงมัคคุเทศก์ ฉันก็เผลอคิดไปอีกนั่นแหละว่า ที่นี่ช่างสวยดั่งสวรรค์จริง ๆ ใครได้อยู่ที่นี่คงโชคดีและมีความสุข
แต่...ตื่น ๆ ๆ ๆ ที่นี่ไม่ใช่สวรรค์ ที่นี่เป็นนรกซะยิ่งกว่านรก ฉันยังจินตนาการไปไม่ถึงเลยว่า นรกจริง ๆ จะโหดร้ายได้เท่าที่นี่ไหม นักโทษทั้ง 1,800 คนที่เคยอยู่ที่นี่ จะมีสักวันไหมนะที่เขาจะได้นั่งชื่นชมแสงแรกแห่งวัน หรือนั่งละเมอฝันถึงอนาคตไปกับแสงสุดท้ายที่กำลังจะลับเส้นขอบฟ้าบนผืนน้ำสีน้ำเงิน คงไม่เคยมี…
แต่คนที่ได้อยู่สวรรค์จริง ๆ ก็มีนะ นอกจากนักโทษที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำแห่งนี้แล้ว ยังมีส่วนที่อยู่อาศัยของผู้คุม เจ้าหน้าที่ และครอบครัว ซึ่งล้วนเดินทางมาจากดินแดนผู้ดี ประเทศสหราชอาณาจักร
สถานที่และสวนในเขตของรัฐบาล หรือ Government Gardens จึงถูกจัดตกแต่งอย่างสวยงามในสไตล์สวนอังกฤษ มีบ้านพัก มีโบสถ์สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ถึงแม้ว่าจะถูกไฟป่าเผาทำลายเสียหายไปแล้ว แต่ยังคงเหลือซากความสวยงามฉายไว้ให้เห็นอยู่ไม่น้อย สวนได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ในรูปแบบเดิม
โบสถ์
ในช่วงก่อนโควิด มีคู่รักมากมายนิยมมาทำพิธีแต่งงานและถ่ายพรีเวดดิ้งกันที่นี่ โดยใช้ส่วนของ Government Cottage เป็นฉากหลังอันสวยงาม เรียกว่ามีการจองพื้นที่กันเต็มแน่นทุกสัปดาห์ แต่ได้งดให้ใช้สถานที่ไปในช่วงโควิดที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะมีการกลับมาเปิดให้ใช้สถานที่อีกในไม่ช้านี้
กว่า 4 ชม. ที่ฉันใช้เวลาเรียนรู้เรื่องราวหลังลูกกรงเหล็กนั้น ก่อนจาก ฉันโบกมืออำลาเพียงเบา ๆ ให้กับใครสักคนที่อาจจะยังอยู่ที่นั่น และเดินออกจากสถานที่แห่งนั้นโดยไม่หันหลังกลับไปมองอีกเลย
ในใจฉันหวังว่า ที่ฉันโบกมือลานั้น คงจะเป็นเพียงแค่ตึกเก่า ต้นไม้และสายลม ฉันไม่หวังให้มีใครหลงเหลืออยู่ที่นั่นจริง ๆ แต่ถ้ามีจริงก็ไปกับฉันเถอะ เดินตามฉันออกมา เดินไปหาสิ่งที่เรียกว่า "อิสรภาพ" อิสรภาพที่ฉันมี แต่คุณกลับสูญเสียมันไป
ภายในห้องขังเดี่ยว
ขอบคุณสำหรับวันนี้ สถานที่นี้ สถานที่ที่ทำให้ฉันรู้ตัวว่าฉันโชคดีเพียงใดที่เดินเข้ามาที่นี่ในฐานะเป็นเพียงนักท่องเที่ยว และฉันสามารถเดินออกไปเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ฉันต้องการ
1
และแม้ว่าฉันจะเดินจากมาแล้ว แต่ใจของฉันยังติดอยู่ที่นั่น ติดอยู่กับความสวยงามและเรื่องราวอันน่าสะพรึงทั้งหมดที่ฉันได้รับรู้ในวันนี้
ฉันติดคุก อุทยานประวัติศาสตร์พอร์ตอาร์เทอร์ แทสมาเนีย ออสเตรเลีย
# ผู้เขียน
เรียนและรักษ์ภาษาไทย ชอบออกไปดู ไปดม ไปชมโลก ด้วยความหลงใหลแล้วนำกลับมาเล่า
ฝากผลงาน E-book เที่ยวเมลเบิร์นด้วยตัวเองไปกับรถรางสาย 35
https://bit.ly/3g5QoC3
และผลงานล่าสุด
หนังสือการเดินทางของนักหนีออกจากบ้าน (ที่ยังไม่เคยทำสำเร็จ)
การเดินทางของนักหนีออกจากบ้าน เปิด Pre-Order
และติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวสนุก ๆ ตามสไตล์วันนั้นเจอนี่ได้ที่
www.anattaland.com
ค่ะ
therealcheckin
สถานที่เที่ยวเด็ดที่อยากแชร์
ท่องเที่ยว
1 บันทึก
8
2
7
1
8
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย