Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
•
ติดตาม
4 เม.ย. 2023 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ใบมีดสัมฤทธิ์ น่าน อุตรดิตถ์ และเลย
อิทธิพลอาวุธยุคเหล็กที่นำเข้ามาจากจีน
ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีใบมีดสัมฤทธิ์ จัดแสดงอยู่ 3 ชิ้น โดยมีประวัติที่มาของโบราณวัตถุดังนี้
ชิ้นที่ ๑ (บนสุด) พระยาอรรคฮาดได้มาจากเมืองเชียงคาน มณฑลอุดร (อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย) ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย
ชิ้นที่ ๒ (กลาง) พระพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองเมืองน่านถวาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานแก่พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔
ชิ้นที่ ๓ (ล่าง) พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ขยายความอธิบายถึงใบมีดสัมฤทธิ์ทั้ง 3 ชิ้นนี้ว่า ใบมีดยาว ปลายโค้งลงเล็กน้อย มีส่วนเดือยสำหรับเสียบเข้ากับด้ามไม้ ในวัฒนธรรมจีนเรียกอาวุธลักษณะนี้ว่า ‘เกอ’ จัดเป็นอาวุธประเภทหอกหรือง้าว (Dagger-Axe)
ในประเทศไทยพบอาวุธลักษณะดังกล่าวกระจายอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน (จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์) และในพื้นที่ลุ่มน้ำเลย (จังหวัดเลย) ซึ่งน่าจะแพร่เข้ามาผ่านเส้นทางลำน้ำโขง หรือเส้นทางคมนาคมระหว่างบ้านเมืองในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยกับบ้านเมืองทางจีนตอนใต้
เกอ เป็นอาวุธสัมฤทธิ์ ที่ปรากฏหลักฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของจีน ในวัฒนธรรม ‘เอ้อหลี่โถว’ (อายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว) บริเวณทางตะวันตกมณฑลเหอหนานและทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี พบโบราณวัตถุเครื่องสัมฤทธิ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งอาวุธ ภาชนะ และเครื่องดนตรี
อย่างไรก็ตาม อาวุธสัมฤทธิ์ที่พบยังมีจำนวนไม่มากนัก กระทั่งเข้าสู่สมัยราชวงศ์ซัง (๑,๗๐๐–๑,๐๒๗ ปีก่อนคริสตกาล) และราชวงศ์โจว (๑,๐๒๗–๒๕๖ ปีก่อนคริสตกาล) พบว่าเป็นช่วงที่มีการทำอาวุธสัมฤทธิ์เป็นจำนวนมากรวมถึงเกอด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการทำสงครามกันระหว่างรัฐ
ในช่วงเวลาดังกล่าว (ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว) พัฒนาการชุมชนในประเทศไทยอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ช่วงยุคเหล็ก (Iron Age) กล่าวคือ เป็นสังคมที่ดำรงชีพโดยการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ที่สืบเนื่องมาจากช่วงยุคสัมฤทธิ์ แต่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับการทำโลหะ เครื่องมือและอาวุธ เช่น หัวขวาน ใบหอก หัวลูกศร ฯลฯ (ส่วนวัตถุประเภทสัมฤทธิ์นั้น ส่วนมากปรากฏเป็นเครื่องประดับ)
นอกจากนี้ ในช่วงเวลานี้แหล่งโบราณคดีหลายแห่ง ปรากฏโบราณวัตถุที่มาจากท้องถิ่นอื่นหรือต่างวัฒนธรรม แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ทางไกลกับชุมชนต่างภูมิภาค เช่น ลูกปัดแก้ว หินคาร์เนเลียน หินอาเกต กลองมโหระทึก เป็นต้น รวมถึง เกอ ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างบ้านเมืองในพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันกับบ้านเมืองในวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว
.. เมื่อค้นข้อมูลทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์จีน ได้ระบุถึงวัฒนธรรมเอ้อหลี่โถวว่า เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ อยู่ในมณฑลเหอหนาน ขุดพบในปี พ.ศ.๒๕๐๒ คาดว่าเก่าแก่ประมาณช่วงยุคราชวงศ์เซี่ย
1
เครื่องมือการผลิตที่ค้นพบที่ซากเอ้อหลี่โถวยังคงเป็นเครื่องมือหินเป็นหลัก พบเครื่องมือกระดูกและเขาสัตว์และเครื่องมือเปลือกหอยบนฐานรากของบ้านเรือน ค้นพบเครื่องมือ อาวุธและภาชนะที่ทำด้วยสัมฤทธิ์ชนิดต่างๆเช่น มีด สว่าน ขวานมือ สิ่ว ลั่ม ง้าว ภาชนะใส่เหล้าดื่มเป็นต้น
นอกจากนี้ยัง ค้นพบซากโบราณของเตาเผาหล่อสัมฤทธิ์ ค้นพบแม่พิมพ์หล่อเครื่องสัมฤทธิ์ที่ทำด้วยดินเผา กากสัมฤทธิ์ และเศษหม้อสำหรับหล่อสัมฤทธิ์ และยังค้นพบเครื่องหยกที่มีเทคนิคผลิตค่อนข้างสูงจำนวนมาก มีเครื่องประดับที่ฝังอัญมณี ยังมีเครื่องดนตรีชนิดต่างๆเช่นฉิ่งหินเป็นต้น เทคนิคการผลิตหัตถกรรมและการจัดงานภายในได้พัฒนาไปอีกขึ้นหนึ่ง
.. จากบันทึกของซือหม่าเซียน ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนมักเริ่มนับราชวงศ์เซี่ย โดยเริ่มจากเซี่ยหวี่ หรือพระเจ้ายู้ ถึงลวี่กุ่ย หรือเซี่ยเจี๋ย ในระยะเวลา ๔๐๐ กว่าปี มีกษัตริย์ครองบัลลังก์ +๗ พระองค์
เมื่อมาดูรายละเอียดที่ลึกลงไปของอาวุธโบราณของจีนที่เรียกว่า ‘เกอ’ หรือขวานปากไก่ มีรูปร่างดูเหมือนไก่เชิดหัว โดยหัวอาวุธมีรูปทรงมุมฉาก สวมติดกับด้ามสวม บางครั้งอาจใช้เชือกร้อยหัวอาวุธเข้ากับด้าม มีลักษณะคล้ายขอมีคม ทำจากสำริดหรือเหล็ก มีด้ามยาว เป็นอาวุธของทหารราบทั่วไป
เกอมีคมทั้งด้านบน และด้านขวาง มีทั้งแบบยาว ใช้สู้รบบนหลังม้า รถม้าศึก และแบบสั้นใช้รบบนพื้นราบ เป็นอาวุธที่ใช้เกี่ยว เฉาะ แทง และเฉือน
ในสมัยราชวงศ์เซี่ยจนถึงยุคชุนชิว เกอ เคยถูกจัดเป็น 1 ใน 5 อาวุธแห่งนักรบ แต่หลังยุคราชวงศ์ฉินก็ไม่ปรากฏในสงครามอีกเลย
นิทรรศการพิเศษจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ.๒๕๖๒ ได้มีการนำ เกอ อาวุธจีนโบราณที่ขุดได้จากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ มาร่วมจัดแสดงด้วยเช่นกัน
ในซีรีส์สามก๊กชุดปี พ.ศ.๒๕๓๗ เกอ ถูกนำมาเข้าฉากรบทัพจับศึกเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพร้ายแรง ใบมีดทำมุมดีเยี่ยมพอที่จะหยุดม้าศึกได้ ตัดขาม้าได้ และฟันคอข้าศึกได้เช่นกัน เป็นอาวุธคู่กายพลทหารเท้าที่ขาดไม่ได้เลย และเป็นอาวุธต้นแบบ ทวนกรีดนภา ของยอดขุนศึก ลิโป้ แห่งสามก๊ก
แต่พอการรบด้วยรถศึกนั้นเริ่มเสื่อมความนิยม บรรดาแคว้นต่างๆ หันมาพัฒนากองทหารม้าของตนเองด้วยการติดเกราะทั้งคนและม้า โดยใช้เป็นกำลังหลักในการรบ เกอ จึงถูกลดความสำคัญลงไป เพราะว่ามันมีข้อเสียอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องขนาดของมันที่ทั้งยาวและหนัก ทำให้การใช้ค่อนข้างที่จะจำกัดเพราะต้องอาศัยความชำนาญถึงจะใช้ได้มีประสิทธิภาพ
อีกทั้งยังเปลืองวัสดุ เนื่องจากด้ามจำเป็นต้องใช้ไม้เนื้อแข็งที่มีขนาดยาว พร้อมกันนั้นภูมิปัญญาในการหลอมอาวุธจากเหล็กนั้นรุดหน้าไปมาก จึงสามารถที่จะทำอาวุธแบบใหม่ๆ ที่มีน้ำหนักเบากว่าได้ และทหารของแต่ละแคว้นนั้นเริ่มมีการใช้ชุดเกราะ เกอจึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมและเลิกใช้ไปในที่สุด แล้วหันไปใช้พวกทวนหรือง้าวแทน
.. สอดคล้องกับความคิดในบทความ ‘ความสำคัญของยุคเหล็กในประเทศไทย’ โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งเขียนถึงภูมิหลังการศึกษาทางโบราณคดีในประเทศไทยที่นำไปสู่ความเข้าใจในพัฒนาการของยุคเหล็ก จากงานวิจัยในโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พ.ศ.๒๕๔๐ โดยอรรถาธิบายถึงการเชื่อมโยงยุคเหล็กของจีนกับสุวรรณภูมิไว้ว่า
‘ ...ยุคเหล็ก คือยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่เป็นจุดเริ่มเข้าสู่พัฒนาการเป็นรัฐแรกเริ่มในดินแดนประเทศไทยและมีการติดต่อกับบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันออกและตะวันตกตั้งแต่ช่วงเวลา ๕๐๐ BC.ลงมา ถือว่าเป็นยุคก่อนประวัติศาสตรที่ร่วมสมัยกับช่วงต้นพุทธกาล ซึ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของดินแดนแถบนี้ที่ถูกเรียกว่า สุวรรณภูมิ ที่มีพื้นฐานคือการเป็นผู้ผลิตเครื่องมือเหล็กที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบุกเบิกพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม จนสามารถผลักดันให้เกิดบ้านเมืองและสังคมที่ซับซ้อนขึ้นในเวลาต่อมา... ‘
‘ …ในขณะที่ชาวจีนประมาณสมัยราชวงศ์ถังได้บันทึกเรื่องราวของบ้านเมืองโบราณตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ลงมา ได้อย่างเห็นภาพพจน์ว่า มีแว่นแคว้นใหญ่น้อยมากมาย ที่กระจายกันอยู่ตามชายทะเล บ้านเมืองเหล่านี้ล้วนได้รับอิทธิพลอารยธรรมอินเดียทั้งสิ้น มีการนับถือศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา มีระบบกษัตริย์และประเพณีพิธีกรรมที่ได้รับอิทธิพลอินเดีย
แต่ที่สำคัญบันทึกของชาวจีนได้กล่าวถึงแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่งที่เรียกว่า ฟูนัน มีอำนาจทางการเมืองแผ่ไปครอบงำบรรดาแคว้นเล็กน้อยอื่นๆ ที่อยู่ตามชายฝั่งทะเล เป็นแคว้นที่มีการติดต่อกับอินเดียและส่งทูตไปสัมพันธไมตรีกับจีน… ‘
‘ …อาจารย์ชิน อยู่ดี เป็นนักวิชาการส่วนน้อยคนหนึ่งในยุคนั้นที่มีความสงสัยอันเนื่องมาจากความคิดของนักโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในระยะนั้น เห็นว่าผู้คนในสมัยหินใหม่และสมัยโลหะเป็นพวกที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทย ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง จะเป็นไปได้ไหมที่น่าจะมีคนไทยเคลื่อนย้ายจากประเทศจีนเข้ามาแล้วแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
อาจารย์ชินให้ความสนใจในเรื่องที่ต้องการศึกษารูปแบบของโบราณวัตถุที่พบในดินแดนประเทศไทยกับบรรดาโบราณวัตถุที่พบในดินแดนประเทฅจีนและประเทศใกล้เคียง ที่มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นของชนชาติไทยมาเปรียบเทียบ โดยยึดถือแหล่งโบราณสถานที่พบโบราณวัตถุเหล่านั้นเป็นสำคัญ เพราะจะได้ตัดปัญหาในเรื่องการเคลื่อนย้ายของโบราณวัตถุที่อาจเกิดขึ้นในสมัยหลัง ๆ ลงมาได้… ‘
‘ …การที่ข้าพเจ้ามองพัฒนาการทางสังคมในยุคเหล็กจากการเกิดชุมชนที่มีกิจกรรมในการถลุงโลหะและทำเกลือตามที่กล่าวมาแล้วนี้หลายคนอาจจะคิดว่ายังเพียงพอ เพราะอาจแลเห็นว่าสิ่งที่ผลิตขึ้นมานั้นเพื่อใช้สอยกันเองภายในและบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ถ้าจะให้มีพัฒนาการต้องมีกระบวนการในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ
ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าก็มีหลักฐานเป็นข้อสนับสนุน การติดต่อกับภายนอกในลักษณะที่เป็นการค้าระยะไกลแลเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งทางบกและทางทะเลในยุคเหล็กนี้ ดังเห็นได้จากบรรดาวัตถุสำริดต่างๆ ที่เป็นของมาจากจีนตอนใต้และเวียดนาม เช่น กลองมโหระทึก ขวานสำริด เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับในวัฒนธรรมดองซอน เป็นต้น
แต่ที่ชัดเจนมากในกรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็คือ การขุดค้นทางโบราณคดีที่พบตุ๊กตารูปม้าและกระดูกม้าของศาสตราจารย์ปรีชา กาญจนาคม ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ แหล่งโบราณคดีที่ขุดพบเป็นแหล่งในวัฒนธรรมพิมายดำที่โซลไฮล์มสำรวจพบ จึงนับเป็นแหล่งโบราณคดีในยุคเหล็ก ม้าไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองของภูมิภาคนี้ แต่การพบทั้งตุ๊กตาม้าและกระดูกม้าย่อมแสดงให้เห็นถึงการนำม้าเข้ามาใช้เป็นพาหนะที่ติดต่อคมนาคมระหว่างภูมิภาคอย่างไม่ต้องสงสัย
ในด้านเศรษฐกิจความต้องการสินค้าพื้นเมืองทำให้มีการบุกเบิกเข้าไปตามที่ต่างๆ ภายในของประเทศมากกว่าแต่เดิม ถ้าศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าความต้องการในเรื่องโลหะธาตุ เช่น ทองแดงและเหล็กอยู่ในระดับสูงทีเดียว เพราะพบแหล่งแร่และแหล่งถลุงโลหะมากมาย อาจนับได้ว่าความต้องการในเรื่องนี้มีมากจากทางด้านตะวันออก คือจากทางเวียดนามและจีน โดยเฉพาะทางจีนนั้นมีมากเพราะแร่เหล็กแทบไม่พบในเขตจีนตอนใต้เลย
ถ้าหากศึกษาจากหลักฐานภายในคือจากแหล่งชุมชนโบราณและโบราณวัตถุแล้ว ก็จะแลเห็นพัฒนาการของสังคมมนุษย์อย่างชัดเจนระหว่างสมัยก่อนเหล็กที่มีอายุประมาณ ๓,๕๐๐ ปีลงมาจนถึง ๒,๕๐๐ ปี ในระยะนี้บรรดาชุมชนที่พบมีขนาดเล็กและมีการกระจายตัวเป็นกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่ต่างๆ ยังไม่มีความซับซ้อนทางสังคมพอที่จะแลเห็นว่ามีชุมชนเมืองเกิดขึ้น แต่ทว่าชุมชนเหล่านี้ก็หาอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในและเกี่ยวข้องกับภายนอกด้วย
ที่ว่าสัมพันธ์กันเองภายในก็เพราะมีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจ แลกเปลี่ยนสิ่งของที่จำเป็นระหว่างกัน และสิ่งที่แสดงให้เห็นก็คือ บรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ ที่เด่นชัดก็คือพวกเครื่องประดับ ขวาน หอกและหัวลูกธนูที่ทำด้วยสำริด โดยเฉพาะขวานสำริดนั้น นอกจากแต่ละแห่งมีความคล้ายคลึงกันแล้ว ยังเหมือนกันกับที่พบทางเวียดนามและจีนตอนใต้อีกด้วย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากในการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากตอนใต้ของประเทศจีนและทางเวียดนามเหนือนั้น ผู้ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาต่างก็เอาเทคโนโลยีในการทำสำริดและหลอมสำริดรวมทั้งรูปแบบติดมาด้วย
เพราะฉะนั้นในแทบทุกแห่งจึงมีแม่พิมพ์สำหรับหล่อขวานเหลือไว้ให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นในแถบลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก หรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอะไรที่คล้ายคลึงกัน… ‘
..
‘ …ในสุดท้ายนี้ สรุปว่า ในยุคเหล็กแต่ ๒,๕๐๐ ปีลงมานั้น มีพัฒนาการของบ้านเมืองที่มั่นคงอยู่แล้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เป็นพัฒนาการที่แลเห็นความสัมพันธ์กับบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันตกและตะวันออกด้วยเส้นทางการค้าระยะไกลทั้งทางทะเลและทางบกที่ทำให้เกิดการขยายพรมแดนทางเศรษฐกิจเข้าไปทางภาคเหนือตามหุบเขาและพื้นที่อันเป็นชายขอบตามทิศต่างๆ
ความสัมพันธ์กับอินเดียและจีนในช่วงเวลาก่อน ๑,๗๐๐ ปีที่ผ่านมา ยังแลไม่เห็นอิทธิพลทางวัฒนธรรม เพราะอารยธรรมดั้งเดิมที่ร่วมสมัยกับเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้ยังมีน้ำหนักอยู่ จนกระทั่งสมัยฟูนัน-สุวรรณภูมิจึงแลเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลอินเดียและจีน ที่เป็นพื้นฐานทำให้เกิดรัฐใหญ่ๆ ขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ อย่างเช่นในภาคกลางมีรัฐทวารวดี และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรัฐอีศานปุระหรือเจนละ เป็นต้น…’
….
ที่มาภาพ:
finearts.go.th
.
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
.
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
Official Web :
https://siamdesa.org
https://www.facebook.com/สยามเทศะ-โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ-วิริยะพันธุ์-323215901674254
https://www.youtube.com/user/lekprapai/featured
https://www.instagram.com/siamdesa_lekprapai/?hl=th
https://lek-prapai.org/home
https://lekprapai.wixsite.com/lekprapai
https://www.blockdit.com/pages/60934dc31b39400c4b221773
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย