Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MindStory
•
ติดตาม
4 เม.ย. 2023 เวลา 02:37 • ไลฟ์สไตล์
ชวนส่อง 7 หลักแนวคิด "พัฒนาตัวเอง & ค้นหาความสุข" ในแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น
เข้าใจว่าเพื่อน ๆ ที่เคยทำงานในบริษัทญี่ปุ่น หรือ ร่วมกับคนญี่ปุ่นเนี่ย
คงจะมีความกดดันกันอยู่ตลอดเวลา
ว่าแต่…คนญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าสุดจะจริงจังกับการงานและการเลี้ยงชีพเนี่ย
เค้ามีหลักแนวคิดพัฒนาตัวเอง และ ค้นหาความสุข กันอย่างไรบ้าง ?
วันนี้พวกเรา MindStory เลยจะขอหยิบเรื่องราวของ 7 หลักแนวคิดที่สำคัญของชาวญี่ปุ่นมาชวนเพื่อน ๆ อ่านไปด้วยกัน 🥰
แต่ต้องบอกว่าหลักแนวคิดของญี่ปุ่นเนี่ย
หากนำเพียงแค่อย่างเดียวมาปรับใช้แบบหักโหม… มันก็อาจไม่ได้มีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นมาได้
แต่เค้าจะนิยมผสมผสานทุกอย่างไปพร้อม ๆ กัน
ไม่กดดันตัวเองมากจนเกินไป
.
บางทีแล้ว…ชีวิตก็เป็นการค้นหาความหมาย และมีความสุขกับสิ่งที่เราตั้งใจทำในทุก ๆ วัน
แค่ “ทำให้ได้” ก็เพียงพอแล้ว
(แน่นอน…มันไม่ง่ายหรอก แต่ก็ไม่ได้ยากนะ)
ปล. หลักแนวคิดแต่ละหลักเนี่ย…อาจเรียกได้ว่าลึกและยาวขนาดที่ว่ามีหนังสือเป็นเล่ม ๆ กันเลยละ !
ในโพสนี้พวกเราตั้งใจสรุปแนวคิดสำคัญที่เป็นพื้นฐานของแต่ละหลักคิดมาให้ชมเป็นการเรียกน้ำย่อย ให้เพื่อน ๆ ไปตามหาอ่านกันต่อนะคร้าบบ
อันที่จริงแล้วยังมีหลักแนวคิดที่ช่วยให้เราค้นหาความสงบและความสุขของญี่ปุ่นอีกเยอะเลย (คือ มีมากกว่านี้เกือบ 10 แนวคิด เลยแน่ะ !
ไว้พวกเราจะรวบรวมมาให้รับชมกันต่อนะคร้าบ 🤩🙏🙏
[ “IKIGAI” เครื่องมือที่จะช่วยเราค้นหา “ความหมาย” ของชีวิต ]
ทำไมเราถึงต้องตื่นนอนขึ้นมาในทุก ๆ วัน ? (ตื่นเช้า ตื่นสายก็ได้)
ทำไม คนคนนึง ถึงขยันทำงานได้มากมายขนาดนั้น ไม่เหนื่อยเหรอ ?
งานก็หนัก ภาระก็เยอะ แต่..ทำไม เพื่อนร่วมงานของเราบางคนถึงได้หาเวลาไปเที่ยวอย่างสบายใจได้ละ ?
อาจเป็นเพราะ พวกเค้าค้นหาความหมายของชีวิต หรือ กำลังเข้าใจเหตุและผลของชีวิต
หลักแนวคิด IKIGAI (生き甲斐) จึงได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้เราค้นหาความหมายของการมีชีวิต และเหตุผลของการทำอะไรก็ตาม ได้ง่ายและชัดเจนขึ้น
Iki (生き) แปลว่า ชีวิต
Gai แปลว่า (甲斐) คุณค่า
คำถามที่เป็นหลักแนวคิดสำคัญของ Ikigai ที่ให้เราออกไปค้นหา ก็คือ
1. ค้นหาว่าอะไรคือ สิ่งที่เรารัก (What you love) ? 🥰
- ทำในสิ่งที่เรารัก เราชอบ เราก็จะไม่มีวันเบื่อ (อาจมีท้อบ้าง ล้มแต่ลุกง่าย)
.
2. ค้นหาว่าอะไรคือ สิ่งทีเราถนัด (Your Strengths) ? 🤩
- อะไรที่เราชำนาญ หรือ มีความสามารถที่โดดเด่น ? ลองถามคนรอบตัวก็ได้นะ ข้อนี้หากเราไม่รู้ตัวเองเนี่ย แต่เพื่อน ๆ รอบข้างเราอาจมองเห็นก็ได้นะ !
.
3. ค้นหาว่าอะไรคือ สิ่งที่โลก/สังคมต้องการ (The world needs) ? 🌏
- เพราะเราไม่ได้อยู่อย่างเดียวดายบนโลกใบนี้ ถ้าสิ่งที่เราทำมันช่วยทำให้สังคมหรือโลกน่าอยู่ขึ้น นั่นละ คือ “คุณค่า”
- ไม่ต้องไปถึงระดับโลก แค่สังคมรอบ ๆ ตัวเรา หรือ บริษัทที่ทำงาน ครอบครัว ก็เพียงพอแล้ว
.
4. ค้นหาว่า แล้วเราจะได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ ?
สามารถสร้างรายได้บ้างไหม ? (What you can be paid for) ? 💵
- แน่นอนว่า ถ้าจะเอาตัวรอดให้ได้ เราเองก็ต้องมีรายได้จากสิ่งที่เราทำ ด้วยนะ.. (คือคนญี่ปุ่นเค้าไม่ได้โลกสวย มองว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ความสุขจะลอยเข้ามาได้ง่าย ๆ … คือ รายได้ก็สิ่งสำคัญสำหรับการดำรงชีวิต)
💡 4 ข้อคำถามที่ว่ามานี้ มันก็คือวงกลมที่อยู่ภายนอกสุดจากในภาพนั่นเอง
.
ส่วนที่เพื่อน ๆ เห็นในภาพที่เป็น วงกลมอิคิไก วางซ้อนทับกัน
อันนี้ขออธิบายง่าย ๆ ว่า วงกลมที่ถูกซ้อนทับกัน มันคือ “ส่วนผสม/จุดร่วม” (หรือหลายคนอาจเรียกว่าอินเตอร์เซค)
มันก็เป็นสมการง่าย ๆ อย่างเช่น
1. สิ่งที่เรารัก (What you love) + สิ่งที่โลก/สังคมต้องการ (The world needs) = หน้าที่/ภารกิจ (Mission)
2. สิ่งที่เรารัก (What you love) + สิ่งทีเราถนัด (Your Strengths) = สิ่งที่เราชอบ(Passion)
3. สิ่งทีเราถนัด (Your Strengths) + สิ่งที่คุณทำแล้วสร้างรายได้ (What you can be paid for) = อาชีพ (Profession)
4. สิ่งที่คุณทำแล้วสามารถสร้างรายได้ (What you can be paid for) + สิ่งที่โลกต้องการ (The world needs) = ความเป็นมืออาชีพ/ความชำนาญ (Vocation)
📍 ทุกอย่างมีเหตุมีผลของกันและกัน ไม่มีวงกลมวงใด หรือ จุดร่วมของวงกลมวงใดที่เด่นไปกว่ากัน
เมื่อเราค้นหามันเจอทีละเสี้ยว แล้วนำมาประกอบกัน
เราก็จะค่อย ๆ เข้าใกล้คำตอบของ “ความหมายและคุณค่าของชีวิต” มากยิ่งขึ้น
แนวคิดที่ว่ามานี้ ไม่ใช่แนวคิดที่เพิ่งถูกคิดค้นกันมานะเพื่อน ๆ
แต่เจ้าอิคิไกเนี่ย.. เค้ามีมาตั้งนานมากกว่า 1,000 ปีละเด้ออ (ประมาณ ค.ศ. 749)
แนวคิดนี้กำเนิดขึ้นโดยนักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นที่จังหวัดโอกินาวะ 🗾
เพื่อน ๆ สามารถไปหาตามอ่านกันต่อได้ในรูปแบบหนังสือนะ ลงลึกเลยละ ! (แบบแปลไทยก็มีนะคร้าบ)
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ Ikigai: The Japanese Secret to a Long and Happy Life เขียนโดย Héctor García
[ Shikata Ga Nai (仕方がない) - ก็มันช่วยไม่ได้นี่เนอะ ! ]
หลักแนวคิดที่ว่านี้ ก็แปลตรงตัวเลยจากภาษาญี่ปุ่น ที่ว่า ก็มันช่วยไม่ได้นี่เนอะ.. 😉
(Shouganai (しょうがない) - ช่วยไม่ได้)
(เข้าใจว่า คำนี้หากลงลึกตามหนังสือ น่าจะมีความหมายซ่อนเอาไว้อยู่เยอะเลย)
ฟังคำนิยามแล้ว…เอ่อเหมือนว่าหลักแนวคิดนี้ จะบอกเราว่าให้ ปลงชีวิตมันไปซะเถอะ… แบบนั้นเลยเนอะ..😞
.
แต่อันที่จริงแล้ว หลักแนวคิดนี้ เค้าจะสื่อว่า ให้เราปลง/ตัดใจ จากสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้แล้ว (เอาเถอะหน่าา อย่าไปคิดมากก) ตะหากละ 😊
เราต้องรู้จักยอมรับในสิ่งที่มันกำลังจะเกิดขึ้น (หรือเกิดขึ้นไปแล้ว)
บางสิ่งที่มันแย่เกินจะรับไหว… แต่มันเกิดขึ้นไปแล้ว.. เรายังคงมีชีวิตอยู่ เราต้องรับมันให้ไหว
รับไม่ไหว ก็ปล่อยวางมันไปบ้างก็ได้นะ…😌
หรือถ้าปล่อยวางไม่ได้ กลัวอนาคตจะผิดพลาดอีก..
งั้นก็ช่วยไม่ได้แห่ะ….
มันก็เกิดขึ้นไปแล้วนี่เนอะ งั้นเรามาหาวิธีป้องกัน ไม่ให้มันผิดพลาดแบบเดิมละกันนะ !
อีกหนึ่งจุดที่สำคัญคือ หลักแนวคิดนี้ เค้าต้องการให้เราสามารถมีความยืดหยุ่น ภายใต้สถานการณ์ที่ลำบากให้ได้ เราต้องยืนหยัดให้ได้ ! ก็มันเกิดขึ้นแล้ว ช่วยไม่ได้นี่หน่าา…
ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะเจอกับอะไรแย่ ๆ มา
พวกเรา MindStory ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน สู้ต่อไปนะคร้าบบ ! (ก็มันช่วยไม่ได้นี่น่าา สู้ ๆ ! 😊✌️)
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ SHIKATAGANAI: It Can't Be Helped เขียนโดย Sumi Kinoshita
-
https://blog.gaijinpot.com/beauty-phrase-shikata-ga-nai/
[ Shu (守) - Ha (破) - Ri (離) พัฒนาตัวเองให้เชี่ยวชาญ เหมือนกับศิลปะการต่อสู้ ! 🥋😤 ]
แนวคิดนี้ถูกพัฒนามาจากศิลปะการต่อสู้ (Aikido) ของญี่ปุ่น
โดยแนวคิดนี้ มีความเชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึันได้ ตามแบบของนักสู้
ตั้งแต่เริ่มเป็นนักฝึกหัด → ไปถึงผู้เชี่ยวชาญ → ถึงระดับปรมาจารย์
โดยเค้าจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ประมาณนี้
ขั้นที่ 1. Shu (守) : “เชื่อฟังตามกฎ”
เรียนรู้พื้นฐาน และทำตามหลักการ กฎระเบียบ หรือ คุณครูผู้สอน
เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างในสิ่งที่เราต้องการจะทำ
การเรียนรู้ในที่นี้คือ ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดหรือถูก แต่เรามีหน้าที่รับฟัง เชื่อฟัง ปฏิบัติตาม เพียงอย่างเดียว
ถ้าเพื่อน ๆ ดูการ์ตูนเรื่อง Demon Slayer อันนี้เรานึกถึงตอนที่ ทันจิโร่ ยังค้นหาพลังของตัวเองไม่เจอ
จนมาพัฒนาปราณวารีแบบคุณโทมิโอกะ ไปก่อน 💧
.
ขั้นที่ 2. Ha (破) : “ทำลายกฎ”
มาถึงขั้นนี้ คือเราเริ่มสะสมความรู้ความสามารถมากในระดับหนึ่งแล้ว
ต่อมา เราจะต้องเริ่มศึกษาให้ลึกซึ้งมากขึ้น และลองหัดทำด้วยตัวเอง
ขั้นนี้ เราจะเริ่มรู้จักการทำผิดพลาด การไปหาวิธีแก้ไขจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ และสะสมประสบการณ์ตรงจากตัวเองเพิ่มไป
เปรียบเทียบกับทันจิโร่ ขั้นนี้เค้าจะเริ่มเรียนรู้การพัฒนาปราณวารีได้มากขึ้น มีการนำไปลองใช้ จนรู้ว่ากระบวนท่าไหนมีความแข็งแกร่งอย่างไร ถึงแม้จะรู้ว่า ฟันศัตรูไม่เข้า แต่ก็จะต้องลองฟัน
จนกระทั่งเขาเริ่มพัฒนาปราณตะวันขึ้นมาได้ 🔥
.
ขั้นที่ 3. Ri (離) : “สร้างกฎใหม่”
จุดสูงสุดของตัวเราละ เราเริ่มศึกษาจนชำนาญ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความรู้ และสร้างสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตัวเองได้
เปรียบเทียบกับตัวละครทันจิโร่ ตอนนี้ก็น่าจะเป็นตอนที่เขาเริ่มฝึกท่ารำปราณตะวันของตระกูลที่ถูกส่งทอดต่อกันมา(ของพ่อ) จนประสมเป็น 13 กระบวนท่าปราณตะวันในแบบของตัวเองขึ้นมาได้ นั่นเอง 💧🌀🔥🔥
.
ตัวละครทันจิโร่เอง ก็มาจากเด็กที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเหมือนกัน
น่าจะเปรียบเป็นการพัฒนาตัวเองของเราได้อยู่เหมือนกันนะ
(การเปรียบเทียบกับตัวละคร อันนี้พวกเราลองสมมุติขึ้นมาให้เห็นภาพนะคร้าบ ตัวบทความแหล่งอ้างอิงอื่น ๆ หรือในหนังสือไม่ได้มีการเทียบไว้นะคร้าบ)
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
-หนังสือ SHU HA RI For Those Who Are Tied Up With Words เขียนโดย RYOICHI CHIDA
-
https://www.facebook.com/agilist2u/photos/a.345811166372174/418071995812757/?type=3
-
https://puy-prachya.medium.com/shu-ha-ri
-
https://tuxsablog.skilllane.com/level-up/shu-ha-ri/
[ GAMAN (我慢) อดทนเข้าไว้ ! 😤😤 ]
Ga (我) แปลว่าตัวเรา
man (慢) แปลว่า ความอดทน
เมื่อรวมกันเป็นหลักแนวคิด ก็จะหมายถึง เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า การอดทนต่อความยากลำบาก 😤😵
หลักการนี้ต้นกำเนิดในพุทธศาสนาของลักธิเซน ซึ่งมีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ
(หลักการเค้าจะคล้ายๆกับแนวคิดแบบ Stoicism)
หลักแนวคิดเบื้องต้น คือ
- จงอดทนและพากเพียรในเวลาที่ยากลําบาก
- ควบคุมตัวเองให้เป็น มีสติอยู่ตลอด
- ไม่ปล่อยให้ตัวเองถูกครอบด้วยอารมณ์ในแง่ลบ
- จงเห็นใจผู้อื่นให้มากขึ้น (และหยุดด่าว่าการกระทำของผู้อื่น ต่างคนต่างความคิด เราควบคุมเค้าไม่ได้ แต่เราควบคุมตัวเองได้)
📌 ความยืดหยุ่น (Resilience) คือแนวคิดสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านในช่วงเวลาอันเลวร้ายไปได้ ต้องเข้าใจและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่าจมปรักอยู่กับความรู้สึกในแง่ลบ ล้มแล้วต้องลุกให้เร็วที่สุด
.
ถึงแม้หลักของ Gaman จะช่วยให้เรามีสติ สงบ และแข็งแกร่งมากขึ้นก็ตาม
แต่ก็มีข้อควรระวังอย่างนึง คือ การที่เราใช้วิธีแนวคิดแห่งความอดทนแบบนี้ในทางที่มากเกินไป
ก็อาจเป็นปัญหากับเราได้
อย่างเช่น ในช่วงเวลาที่เราลำบาก เราก็จะฝืนอดทน… จนกระทั่งเราทรมานอยู่กับความทุกข์และความเจ็บปวด แต่กลายเป็นว่าเราสะกดจิตตัวเองไปซะอย่างนั้น
ทั้ง ๆ ที่เราควรจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตั้งแต่ตอนแรกแล้ว เป็นต้น
ปรับใช้มากเกินไป บางทีก็อาจเป็นทุกข์ได้เนอะ 🤕
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ Gaman: The Japanese Art of Patience เขียนโดย Peggy KOPMAN-OWENS
-
https://psychology-spot.com/gaman-japanese-meaning/
-
https://www.morethantokyo.com/gaman-gritty-japanese-word/
[ Oubaitori (桜梅桃李) - เราทุกคนเปรียบเหมือน "ดอกไม้" 🌸 ]
ทำไมต้องเปรียบเหมือนดอกไม้ ?
แล้วเราจะหาความสุขแบบดอกไม้ได้ยังไงละ ?
คือ ในโลกที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว อย่างเช่น โซเชียลมีเดีย
มันส่งผลกระทบต่อจิตใจชาวญี่ปุ่นพอสมควร
เพราะจากเดิมที่พวกเค้าไฝ่หาความสงบ ความสุขในจิตใจ
แต่กลายเป็นว่า..พอเสพสื่อหรือการอัปเดตความสำเร็จจากเพื่อนฝูงที่รวดเร็วเกิน มันทำให้หลาย ๆ คนเกิดอาการซึมเศร้าจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น จนทำให้ตัวเองดูไร้ค่าไป… 😞😞
ค่านิยมของคนญี่ปุ่นในสมัยใหม่ มีความยึดติดกับคำว่า “Perfect” มากจนเกินไป
พอเร่งให้สำเร็จเร็วตามมาตรฐานของคนอื่น… เค้าก็เกิดความเครียด
เกิดความเครียดที่สะสมจนมากเกินไป.. ก็ไปฆ่าตัวตาย กระโดดตึก กระโดดรางรถไฟ… 🔕
.
โอบาอิโทริ (Oubaitori) จึงเป็นแนวคิดที่เปรียบเสมือนว่า เราเป็น “ดอกไม้ หรือ ต้นไม้” 🌸🌷
ในประเทศญี่ปุ่น เค้าจะมี "ต้นไม้ 4 ต้น" ที่ผลิบานในฤดูใบไม้ผลิพร้อม ๆ กัน แต่เบ่งบานในช่วงเวลาที่ “แตกต่าง” กัน (ก็จะมีต้น Cherry Plum Peach และ Apricot)
.
📌 ถ้าเปรียบเสมือน "ตัวเรา" เป็น "ดอกไม้" ก็หมายถึงว่า
- เราทุกคนมีเวลา "เบ่งบาน" เป็นของตัวเอง
- เวลา "เบ่งบาน" ของเรา อาจจะไม่ตรงกับคนอื่น
- พวกเราทุกคนล้วนมีชีวิตเป็นของตนเอง ไม่ใช้มีชีวิตบนความคาดหวังหรือบนกระแสสังคมของผู้อื่น
💡 เพราะฉะนั้นแล้ว
- ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะเราไม่มีทางรู้ทุกเรื่องราวของคนทุกคนได้หมด
- ลองเริ่ม "ใจดี" "เห็นใจ" "ให้เวลา" กับตัวเราเองบ้าง
- โฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น
แล้วต้องอย่าลืมว่า ในเมื่อเราเลือกที่จะไม่เปรียบเทียบกับคนอื่นแล้ว
ในวันที่เราสำเร็จ เราก็ต้องห้ามไปถากถางคนอื่น และจงระวังคำพูดของตัวเองเอาไว้ด้วยเช่นกัน
เพราะทุกคนมีเวลาเบ่งบานเป็นของตัวเอง 😉😊
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
https://reerth.com/blogs/whats-new/oubaitori
https://medium.com/@renuvjanand/oubaitori-lessons-from-flowers-e2af338b61a6
[ Wabi-Sabi (侘寂) จงโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบ 🤗💔 ]
“Wabi (侘)" หมายถึงความไม่สมบูรณ์แบบ
“Sabi (寂)" หมายถึงความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่งในโลก
Wabi-Sabi (วะบิ-ซะบิ) อาจเรียกได้ว่ามีรากฐานมาจากความเข้าใจในธรรมชาติของพุทธศาสนาแบบนิกายเซ็น 🪷
มันคือความงามและคุณค่าของความไม่จีรัง มีเกิดมีดับไป มีความไม่สมบูรณ์แบบ ทุกอย่างมีรอยร้าวที่สวยงาม
ไม่มีสิ่งใดในโลกที่สมบูรณ์แบบ 100%
ความไม่สมบูรณ์แบบในตัวมนุษย์ คือ สิ่งที่สวยงามที่สุด
ปล่อยวางความสมบูรณ์แบบในอุดมคติลงไป
จงพอใจในสิ่งที่เราเป็น มีความสุขกับความเรียบง่ายที่ไม่สมบูรณ์ 🥰👍👍
คนญี่ปุ่นไม่ได้ชอบความผิดพลาดล้มเหลว ไม่มีใครชอบหรอกนะ…
แต่พวกเค้าแค่รู้จักยอมรับที่จะล้มเหลว โอบกอดคำตำหนิ ทบทวนความผิดพลาด เรียนรู้จากมัน แล้วทำก้าวต่อไปให้มั่นคง
เพราะความรู้สึกล้มเหลวเนี่ย มันอาจจะติดอยู่ในใจเราไปตลอด
เราแค่ต้องเข้าใจ เปลี่ยนมุมมอง และลองขยับมาใช้ชีวิตให้มีความสุขในทุก ๆ วัน
.
ในหนังสือเค้าก็ชวนให้เรามาลองสังเกตสิ่งของที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา
หรือ สำหรับผู้เขียนก็จะเป็น ถ้วยชาถูกซ่อมแต่ยังมีรอยแตกร้าว, กาน้ำร้อนที่มีรอยไหม้เกรียม, ความงามจากรอยฝีแปลงที่ว่างเปล่า
(ส่วนตัวพวกเราก็หันไปมองโต๊ะที่ขอบขาโต๊ะมันชอบแหลม ยื่นออกมาให้เราเอานิ้วก้อยเดินไปเตะ เสมอ ๆ 🤣 คิดซะว่า เออ มันคงเป็นความเจ็บที่สวยงาม.. 🥲)
คือ สรรพสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไร Perfect ไปหมด
บางสิ่งก็ดูออกจะธรรมดามากไปเสียด้วยซ้ำ
แต่ก็มีความงามเป็นของตัวมันเอง (หากเรามองเห็น)
ซึ่งหลักการนี้ก็มักจะถูกพูดถึงไปพร้อม ๆ กับ หลักแนวคิด “อิคิไก” และ “คินสุงิ”
ที่พวกเราเคยพูดถึงกันไปแล้วเนอะ
.
นอกจากการนำไปใช้ในการพัฒนาตัวเองแล้ว หลักแนวคิดวะบิ-ซะบิ ยังถูกนิยมใช้สำหรับการตกแต่งบ้านหรือร้านอาหาร หรือจะเป็นศิลปะการจัดดอกไม้ ‘อิเคบานะ’ (Ikebana) อีกด้วยนะ
โดยทั้งหมดมีคอนเซ็ปต์ที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ “เรียบง่ายแต่สวยงาม”
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ Wabi Sabi วะบิ ซะบิ : แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต เขียนโดย Beth Kempton (ฉบับแปลไทย)
[ KAIZEN เปลี่ยนแปลงทีละน้อย แต่ต่อเนื่องและยาวนาน ]
改善 : Kaizen
“ไค” (改) ที่แปลว่า “เปลี่ยน”
“เซน” (善) ที่แปลว่า “ดี”
ไคเซน จึงหมายความว่า ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดี 🆙
เชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่ทำงานอยู่ในบริษัทต่างชาติหรือบริษัทที่ดำเนินการโดยชาวญี่ปุ่น น่าจะต้องคุ้นเคยกับหลักแนวคิด Kaizen ที่ถูกนำมาใช้พัฒนาองค์กรกันเป็นอย่างดี
หัวใจของแนวคิดนี้ง่าย ๆ เลย
ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย แต่ทำอย่างต่อเนื่อง
ขอแค่เราพัฒนาได้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน จะเท่าไรก็ได้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
พูดเหมือนง่าย.. แต่ลงมือทำเนี่ย มันก็ไม่ง่ายเท่าไรนะ (แต่ก็ไม่ยากเกินไปนะ)
มาเล่าเรื่องราวที่มาของหลักแนวคิด Kaizen กันก่อนสักนิดนึง
แนวคิดนี้ ไม่ได้กำเนิดจากชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ (เหมือนกับ Wabi Sabi, Gaman, Ikigai)
เพียงแต่ชาวญี่ปุ่นค่อย ๆ เรียนรู้หลักการนี้มาจากชาวอเมริกัน
🤓 คือในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนี่ย ญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงคราม จึงทำมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
แต่การฟื้นฟู ก็ไม่ง่ายเท่าไรนัก… เพราะชาวญี่ปุ่นทั้งบาดเจ็บจากสงคราม สภาพจิตใจก็ย่ำแย่ แถมยังมาเจอพิษเศรษฐกิจ
การฟื้นฟูจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ๆ
ชาวญี่ปุ่นจึงได้ทำหลักการ “PDCA Cycle” ของนักสถิติชาวอเมริกันอย่างคุณ Walter Shewhart (ที่บ้างก็ว่ากันว่า รัฐบาลอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่น ผ่านแง่คิดอันนี้ 🇺🇸)
Plan - กำหนดเป้าหมาย
Do - ลงมือทำ !
Check - ตรวจสอบความคืบหน้า
Act - วิเคราะห์ผลลัพธ์ พร้อมปรับปรุง
จนในเวลาต่อมา ชาวญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาหลักคิดแบบ Kaizen เพื่อฟื้นฟูประเทศขึ้นมานี่ละคร้าบ (แล้วบริษัทหรือโรงงานยักษ์ใหญ่หลาย ๆ แห่งในญี่ปุ่นก็ได้นำมาปรับใช้กันต่อมา อย่างเช่น Toyota)
📌 หลักสำคัญของ Kaizen ในแบบฉบับของชาวญี่ปุ่นคือ
- “ลด” ทำในสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต
- “เปลี่ยน” มาทำในเรื่องที่สำคัญกับเป้าหมาย
- “ตั้งเป้าหมาย” เล็ก ๆ ในทุก ๆ วัน
- “ปรับปรุง” เพื่อให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทีละเล็กทีละน้อย
ซึ่งเพื่อน ๆ อาจจะคุ้นเคยกับคติที่ว่า “เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเพียงแค่ 1% ในทุก ๆ วัน ก็มากเพียงพอ !”
(แต่เราว่าแค่ 0.1% ก็ดีแล้วนะ ! 🙌👍😄)
ปล. จริง ๆ หลักแนวคิดนี้มันไม่ได้มีแค่นี้นะ เพราะในแบบฉบับขององค์กรเนี่ย โอโห…มันแตกย่อยออกมาอีกเยอะเลย เช่น “Gemba walk” “5 Whys” “หลักการ ECRS” “หลักแนวคิด 5ส”
ไว้พวกเราจะมาลงลึกให้อีกครั้งนะคร้าบ
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ The Little Book of Kaizen เขียนโดย Suzannah Lee
-
https://tuxsablog.skilllane.com/level-up/kaizen/
-
https://www.blockdit.com/posts/62cb9ecbb19877743630c6e7
ไลฟ์สไตล์
พัฒนาตัวเอง
ปรัชญา
1 บันทึก
1
2
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย