4 เม.ย. 2023 เวลา 03:11 • การศึกษา

โครงการศึกษาสำหรับชาติ พ.ศ. 2441

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  เสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกในพ.ศ. 2440 ได้ทอดพระเนตรเห็นบรรดานักเรียนไทย ที่รัฐบาลส่งไปศึกษาวิชาในทวีปยุโรปต้องใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนนานกว่าจะสำเร็จ  ไม่ทันใช้ในราชการ
จึงโปรดให้ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  แต่ครั้งยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เอกอัครราชทูตพิเศษประจำประเทศอังกฤษ  ศึกษาวิธีการจัดการศึกษาของต่างประเทศ เพื่อนำมาดัดแปลงใช้ในประเทศไทยเป็นการเร่งรัดการศึกษาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ได้เรียบเรียงข้อเสนอแนะส่งมาทูลเกล้าฯถวาย  และกรมศึกษาธิการได้ประมวลข้อเสนอแนะเข้ากับความดำริที่จะขยายการศึกษาของกรม
เป็นโครงการศึกษาพ.ศ. 2441 (ในตอนนั้นยังไม่เรียกแผนการศึกษาชาติ) แบ่งออกเป็น 2 ภาค  ภาคหนึ่งว่าด้วยการศึกษาในกรุงเทพฯ  ภาคสองว่าด้วยการศึกษาในหัวเมือง  แบ่งออกเป็นหมวดๆดังต่อไปนี้
ภาคหนึ่ง ว่าด้วยการศึกษาในกรุงเทพฯ
หมวด 1  ว่าด้วยแผนการศึกษาและลำดับชั้นโรงเรียน
หมวด 2  ว่าด้วยการสอบไล่
หมวด 3  ว่าด้วยประมาณจำนวนเด็กในอายุเข้าโรงเรียนมณฑลกรุงเทพฯ และจำนวนโรงเรียนที่ต้องการจะให้เพียงพอกับการศึกษาของเด็กนั้น
หมวด 4  ว่าด้วยการที่จะให้โรงเรียนมากขึ้น
หมวด 5  ว่าด้วยการที่จะให้มีครูอาจารย์พอแก่โรงเรียน
หมวด 6  ว่าด้วยการตรวจ
หมวด 7  ว่าด้วยสมุดตำราเรียน
หมวด 8  ว่าด้วยโรงเรียนพิเศษ
หมวด 9  ว่าด้วยการใช้จ่ายในการศึกษา
หมวด 10  ว่าด้วยการศึกษาสำหรับเด็กหญิง
ภาคสอง  ว่าด้วยการศึกษาในหัวเมือง
ในภาค 1  หมวด 1  แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ชนิด  คือการเล่าเรียนสามัญ  และการเล่าเรียนพิเศษ  การศึกษาสามัญแบ่งเป็น 4 ลำดับชั้น  คือชั้นมูลศึกษา  ชั้นประถมศึกษา  ชั้นมัธยมศึกษา  และชั้นอุดมศึกษา  ส่วนการศึกษาพิเศษ  คือการเรียนวิชาเฉพาะอย่าง  เช่น  วิชาครู  แพทย์  ศิลปะ  ช่าง ฯลฯ
เมื่อได้พิจารณาโครงการศึกษาพ.ศ. 2441 แล้วจะเห็นว่าเขียนรายละเอียดทั้งหมดไว้แจ่มแจ้งตลอดจนการคาดคะเนจำนวนเด็กนักเรียนมีประมาณเท่าไหร่ ควรจะตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับโรงเรียนสักกี่โรง จะต้องมีการผลิตครูเพื่อไปสอนเด็กสักเท่าไหร่  จะต้องเปิดโรงเรียนฝึกหัดครูเพิ่มขึ้นอย่างไร จึงจะผลิตครูได้เพียงพอ  ตลอดจนเงินงบประมาณที่จะใช้จ่าย  และทางที่จะได้เงินมาใช้  ดังระบุไว้ในหมวด  9 ว่าด้วยการใช้จ่าย ในการศึกษาดังนี้
การใช้จ่ายที่ใกล้ชิดใน 5 ปี
73.  การใช้จ่ายที่ใกล้ชิด  ในการศึกษามณฑลกรุงเทพฯ ใน 5 ปีข้างหน้า  ประมาณดังต่อไปนี้
ร.ศ 118 (พ.ศ. 2442)       5,650 ชั่ง
“    119                      4,150  “
“ 120                          4,800   “
“ 121                           5,450“
“122                           6,100“
หมายเหตุ  (1) ประมาณการจ่ายนี้  ไม่ได้รวมเงินที่ได้อนุญาตสำหรับนักเรียนในต่างประเทศด้วย
(2) ประมาณสำหรับศก 118 รวมเงินการจรสำหรับสร้างโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ 1,300 ชั่ง โรงเรียนสวนกุหลาบ 1,000 ชั่ง อยู่ในนี้ด้วย
การที่จะได้เงินมาจ่าย
74. การใช้จ่ายนี้ ในการที่จะได้เงินนั้นมาใช้โดย
1. อนุญาตจากพระคลังหรือ
2. อนุญาตจากพระคลัง กับทั้งอากรการศึกษาที่ควรจะตั้งขึ้นเก็บเพื่อการเล่าเรียนในกรุงเทพฯ มาจ่ายในการศึกษาด้วย
สำหรับเงินที่จะใช้จ่ายในการศึกษาในหัวเมืองก็มีเขียนไว้ดังนี้
ใช้จ่ายในการศึกษา
9.  การใช้จ่ายสำหรับการศึกษา  ควรจะตั้งอากรการเล่าเรียน เก็บเป็นเร็ต(rate)ในมณฑลนั้น วิธีจัดเก็บนั้นแล้วแต่กระทรวงคลังกับข้าหลวงเทศาภิบาลในมณฑลนั้น  จะตั้งวิธีเก็บสมควรกับเทศ  ใช้จ่ายในการศึกษาสำหรับเมือง  และมณฑลนั้นเอง  ถ้าเป็นการสมควรที่ต้องบำรุงแล้ว  เงินแผ่นดินในกรุงเทพฯจะอนุญาตให้เป็นส่วนในการใช้จ่ายบำรุงการเล่าเรียนในหัวเมืองนั้น พอควรแก่ที่จะเป็นไปได้
จะเห็นได้ว่า  ความคิดในการที่จะหาเงินมาจัดการศึกษา  โดยเก็บอากรเพื่อการศึกษา ดังที่รัฐบาลสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดให้มีแสตมป์ ก.ศ.ส.  ขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้น  ได้มีมาตั้งแต่พ.ศ. 2441 แล้ว
โครงการศึกษาที่ร่างขึ้นนี้  ยึดเอาโครงการศึกษาของอังกฤษเป็นหลัก  โดยดัดแปลงให้เหมาะสมกับประเทศไทยในสมัยนั้น
อย่างไรก็ดี การที่จะนำเอาระเบียบงานต่างๆที่ใช้อยู่ในประเทศตะวันตกซึ่งมีพื้นฐานวัฒนธรรมและอารยธรรมที่แตกต่างกันมาก มาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น เป็นของที่ทำได้ยาก และเข้ากันไม่ได้สนิท
ด้วยเหตุนี้เองในคราวที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)  เสด็จกลับประเทศไทยโดยผ่านมาทางญี่ปุ่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงโปรดให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ออกไปรับเสด็จ  ณ  ประเทศญี่ปุ่น
และโปรดให้ข้าหลวงตรวจการศึกษา 3 นาย  มี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี  แต่ครั้งยังเป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์  พระยาอนุกิจวิธูร  ครั้งยังเป็นขุนอนุกิจวิธูร  และพระยาชำนิบรรณาคม  ครั้งยังเป็นนายอ่อน  สาริกบุตร  ออกไปดูงานการศึกษาของญี่ปุ่น  เพื่อนำมาเป็นแนวพิจารณาการจัดการศึกษาในประเทศไทยอีกแนวหนึ่งด้วย
เพราะในเวลานั้นประเทศญี่ปุ่นได้วางแผนการศึกษาของชาติไว้เป็นหลักฐานแล้ว  โดยได้จัดส่งข้าราชการออกไปศึกษาแผนการศึกษาจากต่างประเทศในทวีปยุโรปหลายประเทศด้วยกัน  แล้วนำมารวบรวมพิจารณาจัดวางแผนการศึกษาในประเทศของตน  ฉะนั้นแผนการศึกษาของญี่ปุ่นจึงเป็นแผนที่กลั่นกรองและรวมการศึกษาใหม่ๆเข้ามาไว้  เป็นแนวทางที่ดีอยู่แล้ว
เมื่อข้าหลวงตรวจการศึกษากลับมายังประเทศไทยแล้ว  ก็ได้ทำรายงานเสนอให้กระทรวงธรรมการ พิจารณาและนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัย  จึงได้จัดแผนการศึกษา  พ.ศ. 2445 ขึ้นใหม่  ใช้แทนโครงการศึกษา  พ.ศ. 2441
--------------------
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
โฆษณา