4 เม.ย. 2023 เวลา 08:16 • ประวัติศาสตร์

Haenyeo “แฮ-นยอ” สตรีแห่งท้องทะเล

“แฮ นยอ” คือชื่อเรียกผู้หญิงวัยกลางคนกลุ่มหนึ่งบนเกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้
มีอาชีพดำน้ำจับสัตว์ทะเล ด้วยอุปกรณ์สามัญธรรมดาเช่น ชุดยางสีดำ ตีนกบ หน้ากากดน้ำ ทุ่นสีส้ม และถุงเชือกตาข่าย ฉมวก ฯลฯ ไม่มีการใช้อุปกรณ์ไฮเทคใดๆ ทั้งสิ้น หรือแม้แต่ “ถังออกซิเจน” ที่ช่วยหายใจเวลาอยู่ใต้ท้องทะเล แต่จะใช้แค่ “พลังอึด” ของปอดตัวเองเท่านั้น
ประเพณีการดำน้ำของเกาะเชจูเริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.434 ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นอาชีพของผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 18 นักดำน้ำที่เป็นผู้หญิงเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในช่วงศตวรรษที่ 17 ผู้ชายจำนวนมากเสียชีวิตลงในทะเลอันเนื่องมาจากภาวะสงคราม รวมถึงการออกหาปลาในทะเลลึก ทำให้อาชีพการดำน้ำจึงตกเป็นของผู้หญิงแทน
ต่อมาแฮนยอมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลีใต้ เมื่อปี ค.ศ.1910 โดยก่อนหน้านี้การดำน้ำหาอาหารของแฮนยอ ส่วนหนึ่งจะต้องนำไปมอบให้กับรัฐบาลในสมัยราชวงศ์โชซอนเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการ แต่พอญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเกาหลี จึงได้มีการยกเลิกประเพณีดังกล่าว ทำให้แฮนยอสามารถขายอาหารทะเลที่หามาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ
ประกอบกับมีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นและเกาหลีได้จ้างแฮนยอเพื่อไปทำงานที่ญี่ปุ่น รวมถึงบนแผ่นดินใหญ่เกาหลีในฐานะผู้ใช้แรงงาน ทำให้สถานะทางการเงินของเหล่าแฮนยอนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในช่วงปี ค.ศ.1960 รายได้จากการดำน้ำ
ของแฮนยอคิดเป็น 60% ของรายได้จากการประมงในเกาะเชจู เลยทีเดียว
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น รัฐบาลเกาหลีได้พยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทุกๆจังหวัดให้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยเกาะเชจูนั้นรัฐบาลตั้งใจจะทำให้กลายเป็นผู้ส่งออกของส้มแมนดารินรายใหญ่ แรงงานส่วนใหญ่ในชนบทได้เข้าร่วมกับอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่ดินบนเกาะเชจูกว่า 2% ถูกพัฒนาให้กลายเป็นไร่ส้มแมนดาริน
ในปี ค.ศ.1970 รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการต่างๆเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะเชจู ทำให้ในปี ค.ศ.1978 การท่องเที่ยวได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะเชจูแซงหน้าเกษตรกรรมไป
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้แฮนยอบนเกาะเชจูมีจำนวนลดลงอย่างมาก ในปี ค.ศ. 1965 – 1970 จำนวนแฮนยอลดลงจาก 23,081 คน เหลือเพียง 14,143 คน นอกจากนี้โอกาสในด้านการศึกษารวมถึงตำแหน่งงานในด้านอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ส่งผลต่อเด็กสาวรุ่นหลังที่ละทิ้งอาชีพแฮนยอ โดยในปี ค.ศ.1970 มีแฮนยออายุไม่เกิน 30 ปี อยู่ที่ 31% อายุระหว่าง 30-49 ปี อยู่ที่ 55 % และอายุ 50 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 14% แต่หลังจากนั้นผลการสำรวจในปี ค.ศ.2014 กว่า 98% เป็นแฮนยอที่มีอายุเกินกว่า 50 ปี
สำหรับแฮนยอนั้น เด็กสาวบนเกาะเชจูจะเริ่มฝึกฝนตัวเองตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยการเริ่มจากฝึกดำน้ำตื่น แล้วก็ไล่ระดับความลึกลงไปเรื่อยๆ จะใช้เวลาฝึกฝนอยู่ประมาณ 7 ปี จนกระทั่งอายุครบ 18 ปี จึงจะถือว่าแฮนยอเต็มรูปแบบ โดยแฮนยอในปัจจุบันนี้บางคนมีอายุมากกว่า 80 ปี
โดยทั่วไป แฮนยอจะดำน้ำลงไปใต้ทะเลลึกราว 10 เมตร ภายเวลาราว 2 นาที โดยมีตะกั่วพันรอบเอวเพื่อถ่วงให้จมเร็วขึ้น พร้อมหน้ากากดำน้ำติดไฟฉาย แหตาข่ายซึ่งโยงอยู่กับลูกบอลที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ และมีดสำหรับตัดหรือขุดหอยสังข์ หอยเป๋าฮื้อ และสัตว์ทะเลอื่น ๆ
แฮนยอจะทำงาน 7 ชม.ต่อวัน และ 90 วันต่อปี โดยพวกเธอจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามประสบการณ์ เริ่มจากฮากุน (Hagun) จุงกุน (Junggun) และซังกุน (Sanggun) โดยซังกุนคือระดับสูงสุดเทียบเท่าครูผู้คอยชี้แนะ และตามธรรมเนียมปฏิบัติก่อนลงดำน้ำก็คือจะมีการสวดขอพรเทพีแห่งท้องทะเลขอให้ปลอดภัย และขอให้โชคดีจับหอยได้เยอะ ๆ
ในการออกไปจับสัตว์ทะเล แฮนยอ จะออกไปกันเป็นกลุ่ม ไม่มีการออกไปคนเดียว เพราะทุกคนต่างถูกสอนให้รู้ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการเสี่ยงอันตรายเกินไป อีกทั้งแฮนยอ จะเคารพกฎกติกาโดยรู้ดีว่าจะไม่จับสัตว์ทะเลในช่วงฤดูผสมพันธุ์และจะไม่ใช้อุปกรณ์ไฮเทคนอกเหนือจากอุปกรณ์ธรรมดาที่ใช้ เพราะเชื่อว่าอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสูงจะทำลาย เป็นอันตรายต่อสรรพสัตว์ และธรรมชาติใต้ท้องทะเล ทั้งยังมีความเชื่อด้วยว่าชีวิตของพวกเขามีความผูกพันกับธรรมชาติและต้องพึ่งพากันและกัน
ปัจจุบันภูมิปัญญานี้ได้รับการสืบทอดทั้งระดับครอบครัว โรงเรียน และประมงท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีสมาคมแฮนยอ โรงเรียนแฮนยอ และพิพิธภัณฑ์แฮนยอ เพื่อแสดงถึงการยกย่องว่าพวกเธอคือตัวแทนทางจิตวิญญาณของเกาะเชจู รวมทั้งเชิดชูบทบาทสตรี และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนด้วย
และทุกปีราวเดือนกันยายนจะมีเทศกาลเดอะเจจู แฮนยอเฟสติวัล เพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสพบปะกับ แฮนยอรุ่นอาวุโส ที่จะเดินร่วมในขบวนพาเหรดไปตามถนนแถบชายฝั่งทะเลบนเกาะเจจู
ขอบคุณครับ :)
โฆษณา